Net Zero Energy Microgrid
4 ปัจจัยสู่ความสำเร็จการส่งเสริมระบบไมโครกริดแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Microgrid) ในพื้นที่หน่วยงานราชการ
เป้าหมายของความสำเร็จในการส่งเสริมให้มีการใช้งานระบบไมโครกริดแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Microgrid; NZE Microgrid) ในพื้นที่หน่วยงานราชการ คือ หน่วยงานราชการสามารถขับเคลื่อนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและสร้างการพึ่งพาตนเองในรูปแบบ NZE Microgrid เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ทั้งนี้ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ สามารถแบ่งตามระยะเวลาของการใช้พลังงานตลอดวงจรชีวิตของอาคาร 3 ช่วงเวลา ได้แก่
1) ระยะการออกแบบ ก่อสร้างอาคาร และการติดตั้งระบบ (Design & Construction)
อาคารของหน่วยงานราชการควรให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบและเลือกอาคารที่เหมาะสม เนื่องจากอาคารของหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ มีอายุใช้งานมามากกว่า 10 ปี และแนวโน้มการก่อสร้างอาคารใหม่มีจำกัด
• การเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimizing) ความเหมาะสมของการออกแบบระบบไมโครกริดที่ต้องคำนึงถึงขนาดและต้นทุน โดยการออกแบบระบบไมโครกริดให้มีขนาดที่เหมาะสมและต้นทุนที่สามารถทำให้การใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy; NZE) จะสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสของความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยี
• กฎระเบียบ (Regulatory) การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ และแนวทางกำกับดูแลที่ชัดเจน และเป็นธรรมกับ ทุกภาคส่วน จะสร้างความสามารถในการเลือกรูปแบบการจัดการพลังงานของหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น
• งบประมาณ (Budget) ความพร้อมในการจัดสรรงบประมาณในการลงทุนระบบไมโครกริด อาจจะพิจารณาจากหน่วยงานที่มีงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณเงินรายได้หน่วยงาน
• บุคลากร (People) ความรู้และความชำนาญในเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของบุคลากรในหน่วยงานต่อการดำเนินงานไปสู่ NZE
2) ระยะการดำเนินงานและการบำรุงรักษา (Operation & Maintenance; O&M) เป็นระยะที่มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของการใช้พลังงานตลอดอายุของอาคาร ดังนั้นจึงเป็นระยะที่สำคัญของการปรับปรุงการใช้ไฟฟ้าจากระบบ ไมโครกริด
• งบประมาณ (Budget) การวางแผนงบประมาณในการดำเนินการและบำรุงรักษาระบบ และแผนการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่ NZE รวมถึงการออกแบบและวางแผนบริหารจัดการในวันทำการและวันหยุดราชการ
• บุคลากร (People) บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ความรู้และความชำนาญในการบริหารจัดการระบบ การใช้งาน การดูแลรักษา การจัดสรรบุคลากรเพื่อดำเนินการติดตามรายงานและสามารถปรับปรุงการปฏิบัติการบำรุงรักษาให้ได้ตามหลักการและแผนของการบรรลุ NZE
3) ระยะการขยายผล (Discard or Remodeling; DC) เพื่อให้เกิดการสร้างความตระหนักขององค์กรต่างๆ และแสดงความเป็นผู้นำของหน่วยงานราชการในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
• การบริหารจัดการข้อมูล (Data-Centric Control) ระบบและมาตรฐานในการบริหารจัดการ Platform สำหรับการรวบรวมข้อมูล บริหารจัดการ และกำกับดูแลสำหรับแนวทางระยะยาว และเพื่อการรองรับการดำเนินการไปสู่ NZE ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานราชการสามารถสร้างผลประโยชน์ส่วนเพิ่มได้
• การขยายขนาด (Scalability) แนวทางการขยายขนาดของระบบฯ เช่น
o การปรับปรุงอาคาร หรือการเลือกวัสดุของอาคาร ก่อนที่จะติดตั้งระบบไมโครกริด
o ความสามารถในการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น จาก Near Zero เป็น Net Zero
o การจัดการกับอุปกรณ์ต่างๆของระบบฯ ในระยะยาว
o การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในพื้นที่อื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงจอดรถ
o โอกาสการซื้อขายพลังงานจากแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นต้น
- 1787e4f00de1a85cf1d0b61ad892c383 (267 Downloads)