ค่าไฟฐาน
1. ความเป็นมา
1.1 ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บ จากผู้ใช้ไฟฟ้า ในแต่ละเดือนประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน และค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน จะคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบสายจำหน่าย ภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการไฟฟ้าในระดับหนึ่ง
1.2 คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 ได้เห็นชอบให้มีการนำสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) มาใช้ เพื่อให้การไฟฟ้าสามารถปรับค่าไฟฟ้า ตามการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นจริง และไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของการไฟฟ้า
1.3 การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft มาตั้งแต่การเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2535 โดยนำค่า Ft ที่คำนวณได้ไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ตามโครงสร้างปกติ เดิมค่า Ft จะเปลี่ยนแปลงเป็นรายเดือน ต่อมา มีการร้องขอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่ต้องการให้ค่า Ft มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป ปัจจุบัน จึงมีการพิจารณาใช้ค่า Ft เฉลี่ย 4 เดือน
1.4 เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า สอดคล้องกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง และลักษณะการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และข้อเสนอสูตรการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติใหม่ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ รับไปดำเนินการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรFt ภายใต้หลักการดังกล่าว
1.5 ค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดของสูตร ให้มีความชัดเจนโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยนำค่า Ftในขณะนั้น ณ ระดับ 64.52 สตางค์/หน่วย รวมไว้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน และปรับฐานค่า Ft ใหม่ ให้มีค่าเท่ากับ 0 ณ จุดเริ่มต้น นำค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ออกจากสูตร Ft และให้การไฟฟ้าร่วมรับภาระความเสี่ยง ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย
2. คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
การปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติอยู่ในความดูแลของคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันมีองค์ประกอบ ดังนี้
(1) | ปลัดกระทรวงพลังงาน | ประธานอนุกรรมการ |
(2) | ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน | รองประธานอนุกรรมการ |
(3) | ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ | อนุกรรมการ |
(4) | ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ | อนุกรรมการ |
(5) | ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ | อนุกรรมการ |
(6) | ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย | อนุกรรมการ |
(7) | ผู้แทนการไฟฟ้านครหลวง | อนุกรรมการ |
(8) | ผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค | อนุกรรมการ |
(9) | ผู้แทนผู้บริโภครายย่อย (นายธนาคม มหาชัยพงศ์กุล) | อนุกรรมการ |
(10) | ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย | อนุกรรมการ |
(11) | ผู้แทนหอการค้าไทย | อนุกรรมการ |
(12) | นายกฤษณพงษ์ กีรติกร (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) | อนุกรรมการ |
(13) | นายนิตย์ จันทรมังคละศรี | อนุกรรมการ |
(14) | ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน | อนุกรรมการและเลขานุการ |
(15) | ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย | อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
อำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
1. กำหนดวิธีการคำนวณและคำนวณการปรับอัตราค่าไฟฟ้าภายใต้กรอบของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า ที่ได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
2. กำหนดวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนในการกำกับการปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
3. ให้ความเห็นชอบการคำนวณการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ และแจ้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
4. รายงานต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน การปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
5. เสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
6. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานมอบหมาย
7. แต่งตั้งคณะทำงานช่วยปฏิบัติงานในหน้าที่ตามความจำเป็น
3. สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
3.1 สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ก่อนเดือนตุลาคม 2543 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 เห็นชอบให้มีสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และลดผลกระทบของความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า โดยให้การไฟฟ้าปรับค่าไฟฟ้า เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของการไฟฟ้า ทั้งนี้ สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีความเหมาะสมหลายครั้ง โดยองค์ประกอบของสูตร Ft ก่อนเดือนตุลาคม 2543 ประกอบด้วย
3.1.1 การเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. (ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และถ่านหินนำเข้า) และอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
3.1.2 การเปลี่ยนแปลงรายได้ที่เกิดขึ้นจากยอดจำหน่ายไฟฟ้า และราคาขายปลีกที่จะได้รับจริงแตกต่างไปจากการประมาณการ ซึ่งใช้เป็นฐานในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ในปี 2534
3.1.3 การเปลี่ยนแปลงของเงินลงทุนในการดำเนินการของกิจการระบบส่ง กิจการระบบจำหน่าย และกิจการบริการลูกค้า อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อ และยอดขายแตกต่างจากค่าที่ใช้ในการประมาณการฐานะการเงิน
3.1.4 การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อภาระหนี้ของการไฟฟ้า
3.1.5 ค่าใช้จ่ายด้านการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM)
3.2 สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นมา
องค์ประกอบของสูตร Ft ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
3.2.1 ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง (น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์ และถ่านหินนำเข้า) ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และค่าซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าฐาน ที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า
3.2.2 ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระคืนเงินกู้ และดอกเบี้ยต่างประเทศ ของการไฟฟ้า เนื่องจากการไฟฟ้ายังไม่มีอิสระ ในการบริหารจัดการหนี้ ได้อย่างแท้จริง ในช่วง 6 เดือนแรก ให้การไฟฟ้าสามารถปรับผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจริง ที่แตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนฐาน ณ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ ผ่านสูตร Ft ได้ทั้งหมด
สำหรับการคำนวณค่าFt ตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 เป็นต้นไป การไฟฟ้าจะต้องรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยในระดับหนึ่ง กล่าวคือ การไฟฟ้าจะต้องรับภาระ5% แรก หากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลง จากอัตราแลกเปลี่ยนฐาน และมีการกำหนดเพดานให้ปรับค่าไฟฟ้าผ่านสูตรFt ได้ไม่เกิน 45 บาท/เหรียญสหรัฐ และหากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น จากอัตราแลกเปลี่ยนฐาน ให้การไฟฟ้าคืนผลประโยชน์ให้ประชาชน ผ่านสูตร Ft ทั้งหมด
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2544 (ครั้งที่ 98) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 ได้มีมติให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนฐานภายใต้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ณ ระดับ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยหากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 38 - 40 บาท/เหรียญสหรัฐ และหากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลงกว่า 45 บาท/เหรียญสหรัฐ การไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาระ หากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 40-45 บาท/เหรียญสหรัฐ ประชาชนจะเป็นผู้รับภาระ และหากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นกว่า 38 บาท/เหรียญสหรัฐ การไฟฟ้าจะต้องคืนผลประโยชน์ดังกล่าวให้ประชาชน
3.2.3 รายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปของการไฟฟ้า (MR) เนื่องจากราคาขายเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประมาณการฐานะการเงิน ยังคงให้มีการปรับ MR ในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อเป็นการประกันว่าค่าไฟฟ้าขายปลีก จะลดลงร้อยละ 2.11 เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวให้นำ MR ออกจากสูตรFt
3.2.4 การเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ของการไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า (Non-Fuel Cost) ซึ่งจะมีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ และหน่วยจำหน่ายที่เปลี่ยนแปลงไป จากฐานที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน ทั้งนี้ ได้มีการดูแลเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพ ของกิจการไฟฟ้าด้วยแล้วในการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน โดยการไฟฟ้าจะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในกิจการผลิต กิจการระบบส่งและกิจการระบบจำหน่าย ในอัตราร้อยละ 5.8, 2.6 และ 5.1 ต่อปี ตามลำดับ