
Super User
กบง.ครั้งที่ 1/2568 (ครั้งที่ 71) วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2568 (ครั้งที่ 71)
วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568
2. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
3. แนวทางการลดค่าไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
1. ในปี 2567 (เดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) มีการประชุมจำนวน 4 ครั้ง โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 คณะอนุกรรมการฯ รับทราบผลการดำเนินงานของมาตรการบริหารจัดการพลังงาน ปี พ.ศ. 2566 และแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ปี พ.ศ. 2567 และที่ประชุมมีข้อสังเกตต่อปัญหาการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในช่วง 3 เดือน (มกราคม 2566 - มีนาคม 2566) มีการเรียกใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยต่ำกว่าแผน จากความจำเป็นที่ต้องมีการบริหาร LNG Inventory ที่ล้นถังเก็บ รวมถึงที่ประชุมเสนอให้พิจารณาให้บริหาร Bypass Gas เพื่ออนุญาตให้ส่งผ่านเกินกว่าประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการบริหารจัดการ Bypass Gas ของ กกพ. ในกรณีมีสถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคา ประเด็นการประสานขอยกเว้นภาษีศูนย์สำหรับน้ำมันที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและหลักเกณฑ์การส่งผ่านค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการยกเลิกน้ำมันที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้ในการผลิตไฟฟ้า (2) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 (เฉพาะกิจ) คณะอนุกรรมการฯ รับทราบผลกระทบด้านพลังงานเหตุเพลิงไหม้ถังจัดเก็บสารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้เตรียมพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามแผนหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานและประชาชน (3) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการช่วงแหล่ง JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2567 และได้มีการพิจารณาการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มโดยปรับปรุงอัตรารับซื้อไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย และการขยายมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี สิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ธันวาคม 2568 รวมทั้งพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2567 – 2570) (แผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมฯ) และ (4) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาข้อหารือประเด็นอาจเกิดเหตุขัดข้องและผลกระทบหากไม่สามารถขยายอายุโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม น้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ที่จะสิ้นอายุในปี พ.ศ. 2567 โดยได้รายงานข้อมูลความเสียหายต่อประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามหนังสือกระทรวงพลังงาน ด่วนที่สุด ที่ พน 0204/905 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2567 และรับทราบแผนและผลการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานสะสม ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 จำนวน 6 มาตรการ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการสรุปผลการดำเนินงานเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 เสนอต่อ กบง. เพื่อทราบต่อไป
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม 2567 ถึง เดือนธันวาคม 2567 สามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้ (1) การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป้าหมาย 0.2940 ล้านตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 0.2497 ล้านตันเทียบเท่า LNG 2) การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 0.0670 ล้านตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 0.1117 ล้านตันเทียบเท่า LNG 3) การรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป้าหมาย 0.0193 ล้านตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 0.0390 ล้านตันเทียบเท่า LNG 4) การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจาก สปป.ลาว โครงการเทินหินบุน หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 0.0108 ล้านตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 0.0063 ล้านตันเทียบเท่า LNG 5) มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป้าหมาย 0.1131 ล้านตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 0.4308 ล้านตันเทียบเท่า LNG และ 6) การจัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เป้าหมาย 0.1244 ล้านตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 0.1649 ล้านตันเทียบเท่า LNG
3. ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 สามารถสรุปผลประโยชน์ทางการเงิน (Financial Benefit) จากการดำเนินงานตามมาตรการได้ประมาณ 8,557 ล้านบาท โดยมีผลประโยชน์ทางการเงินในแต่ละมาตรการ ดังนี้ (1) เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 อยู่ที่ 3,860 ล้านบาท (2) การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 1,694 ล้านบาท (3) การรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 152 ล้านบาท (4) การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจาก สปป. ลาว อยู่ที่ 28 ล้านบาท (5) มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม อยู่ที่ 994 ล้านบาท และ (6) การจัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด อยู่ที่ 1,830 ล้านบาท
4. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 คณะอนุกรรมการฯ มีมติรับทราบแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ปี พ.ศ. 2568 และมอบหมายฝ่ายเลขานุการประสานข้อมูลรวบรวมแผนการดำเนินงานมาตรการ ปี 2568 เพิ่มเติม (หากมี) และรายงานต่อ กบง. ทราบต่อไป สามารถสรุปแผนการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ปี พ.ศ. 2568 ได้ดังนี้ (1) การเพิ่ม การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 0.4860 ล้านตันเทียบเท่า LNG (2) การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 0.0640 ล้านตันเทียบเท่า LNG (3) การรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานกกพ. เป้าหมาย 0.0388 ล้านตันเทียบเท่า LNG (4) การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจาก สปป.ลาว โครงการเทินหินบุน หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 0.0108 ล้านตันเทียบเท่า LNG และ (5) มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ พพ. เป้าหมาย 0.1131 ล้านตันเทียบเท่า LNG
5. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ได้เริ่มดำเนินการตามมาตรการทั้ง 5 มาตรการดังกล่าวแล้ว ดังนี้ (1) มาตรการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 โดย กพช. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (2) มาตรการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า โดย กพช. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. นำโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2565 - 2568 เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน (3) มาตรการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติม จาก สปป.ลาว (โครงการเทินหินบุน) โดย กพช. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในอัตราการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบัน ทั้งนี้ กพฝ. ลงนามในข้อตกลงเพิ่มเติมกับบริษัทเทินหินบุนเพื่อรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติม (ครั้งที่ 3) แล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 และเริ่มรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 (4) มาตรการรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดย กพช. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 มีมติเห็นชอบการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิมและนอกเหนือกลุ่มสัญญาเดิม ในอัตรารับซื้อ 2.20 บาทต่อหน่วย (เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) 1.00 บาทต่อหน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ) และ 0.50 บาทต่อหน่วย (พลังงานลม) ทั้งนี้ กกพ. ได้มีประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านพลังงานจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2568 แล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 และ (5) มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม โดยมีการดำเนินการเป็นไปตามภารกิจปกติของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ปี พ.ศ. 2567 และแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ปี พ.ศ. 2568
เรื่องที่ 2 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ดังนี้ (1) เห็นชอบคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 และ (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
2. สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกอ่อนตัวลง เนื่องจากสภาวะอากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ ความต้องการใช้โพรเพนของตลาดยุโรปในการทําความร้อนลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในเอเชียตะวันออกค่อนข้างคงที่ ในขณะที่อุปทานก๊าซ LPG จากตะวันออกกลางยังคงมีอย่างเพียงพอ และมี การส่งออกก๊าซ LPG จากประเทศสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศเม็กซิโก ประเทศแคนาดา เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ราคา ก๊าซ LPG พบว่า ราคา LPG ตลาดโลกในเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนมีนาคม 2568 ลดลงประมาณ 62.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 จาก 630.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในเดือนธันวาคม 2567 ลดลงเป็น 567.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ณ วันที่ 18 มีนาคม 2568 โดยจากราคาก๊าซ LPG Cargo (เฉลี่ย 2 สัปดาห์) ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายนำเข้า (X) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้าซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับตัวลดลง 0.2718 บาทต่อกิโลกรัม จาก 20.9499 บาทต่อกิโลกรัม (618.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เป็น 20.6781 บาทต่อกิโลกรัม (608.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเงินชดเชยลดลง จาก 2.4190 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 2.1472 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 423 บาท
3. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 กบน. เห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปในภายหลัง โดย ณ วันที่ 18 มีนาคม 2568 มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 62,396 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 16,276 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,120 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนการผลิตและจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ #1) มีรายรับ 1,355 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 703 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีก๊าซ LPG มีรายรับ 652 ล้านบาทต่อเดือน
4. จากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาก๊าซ LPG นำเข้ารวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ณ วันที่ 18 มีนาคม 2568 อยู่ที่ 609 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 391 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม แต่เนื่องจากฐานะกองทุนบัญชีก๊าซ LPG ยังคงติดลบสูง 46,120 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชี LPG มีรายรับเพิ่มขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG ดังนี้ แนวทางที่ 1 คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 หรือแนวทางที่ 2 ปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปที่ 21.8524 บาท ต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 438 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้วิเคราะห์สภาพคล่องและฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG โดยมีสมมติฐานราคาตลาดโลกที่ 609 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน พบว่า ณ วันที่ 18 มีนาคม 2568 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ ติดลบ 46,120 ล้านบาท ทั้งนี้ หากปรับราคาก๊าซ LPG ตามแนวทางที่ 1 หรือแนวทางที่ 2 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG จะอยู่ที่ประมาณ ติดลบ 44,164 ล้านบาท หรือติดลบ 43,324 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
เรื่องที่ 3 แนวทางการลดค่าไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 เรื่องแนวทางการลดค่าไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ โดยมีข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้าจากนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการสนับสนุน ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) โดย กกพ. มีความเห็นว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนอัตรา Adder และ Feed-in Tariff (FiT) ถูกกำหนดให้เป็นอัตราค่าบริการอันมีลักษณะให้การอุดหนุนเชิงนโยบาย (Policy Expenses: PE) ซึ่งภาครัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อาจกำหนดแนวนโยบายให้มีการปรับปรุงอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ตามสถานการณ์และต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ กกพ. ได้ประกาศปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ประจำเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2568 แล้ว โดยมีค่าไฟฟ้าเรียกเก็บรวมเฉลี่ยที่ 4.151 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีสัดส่วนของค่า PE ดังกล่าว คิดเป็นเงินค่าไฟฟ้าประมาณ 0.17 บาทต่อหน่วย (จำแนกเป็นค่า Adder 0.086 บาทต่อหน่วย ค่า FiTa 0.078 บาทต่อหน่วย และค่ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 0.005 บาทต่อหน่วย) ตามโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน
2. สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) สมาคมพลังงานลม (ประเทศไทย) สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย และสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย ได้มีหนังสือ กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. แสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอการลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ จาก 4.15 บาทต่อหน่วย ลดเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ซึ่งสัดส่วนในการลดค่าไฟฟ้ามาจากการจ่ายค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Adder และ FiT การยกเลิกหรือแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายอาจจะต้องยุติการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาที่ได้รับจากรัฐ และส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ความน่าเชื่อถือต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในประเทศ และทางด้านกฎหมาย ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเห็นด้วย กับนโยบายการลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน แต่ราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ไม่ใช่ตัวแปรหลักที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง
3. เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต่อแนวทางการทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทำให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงทันที 0.17 บาทต่อหน่วย สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และไม่ขัดต่อกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการลดค่าไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) องค์ประกอบ โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ) เป็นประธานกรรมการ และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนการไฟฟ้านครหลวง ผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และ (2) หน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1) พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทำให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงทันที 0.17 บาทต่อหน่วย 2) เสนอแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือแนวทางอื่น ๆ ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นไปตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3) เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และให้ข้อมูลข้อเท็จจริง 4) รายงานผลการปฏิบัติงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และ 5) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานมอบหมาย
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ ../2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำหนดอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Non-Firm เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอร่างคำสั่งต่อประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาลงนามต่อไป