
Super User
กพช. ครั้งที่ 112 - วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2550
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2550 (ครั้งที่ 112)
วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2550 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
2.ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเงี๊ยบ
3.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
4.การปรับปรุงมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล
5.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มีนาคม 2550)
6.แนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 ได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและการผลิต ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและได้มีมติ ดังนี้ 1) เห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชิงพาณิชย์ด้วยระบบ Cogeneration สำหรับปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ 2) ให้ใช้มาตรการจูงใจด้านราคาผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และ VSPP โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP หรือ VSPP ตามประเภทเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการในรายละเอียด แล้วนำเสนอ กพช. ต่อไป และ 3) เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration โดยมอบให้ สนพ. ศึกษาในรายละเอียดความเหมาะสมในการเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration
2. ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 กพช. ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ตามปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอภายในปี 2551 และต่อมา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 กพช. ได้เห็นชอบให้สนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงด้วย
3. กฟภ. และ กฟน. ได้ออกประกาศการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ VSPP แล้ว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 และประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 23 มีนาคม 2550 ตามลำดับ โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่ตามประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้ (1) ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ 0.30 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (2) พลังน้ำขนาดเล็ก (50-200 กิโลวัตต์) 0.40 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (3) พลังน้ำขนาดเล็ก (<50 กิโลวัตต์) 0.80 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (4) ขยะและพลังลม 2.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และ (5) พลังงานแสงอาทิตย์ 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
4. นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. เปิดการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ทุกประเภทเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า โดยให้ขยายปริมาณการรับซื้อ ไฟฟ้าจากเดิม 3,200 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ และมอบให้ สนพ. ดำเนินการปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อขอความเห็นชอบก่อนประกาศใช้ต่อไป
5. ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 ได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ดังนี้
5.1 เห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภทสัญญา Firm สำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration ร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภทสัญญา Firm สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทสัญญา Non-Firm
5.2 มอบให้ สนพ. และ กฟผ. จัดทำคู่มือการตรวจวัดประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และคู่มือการตรวจวัดคุณสมบัติการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งมอบให้ กฟผ. จัดทำต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่สอดคล้องกับระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ตามข้อ 5.1 และส่งให้ สนพ. พิจารณา ก่อนนำไปใช้ปฏิบัติต่อไปแล้วจึงออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าราย เล็ก
5.3 การรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เห็นชอบแนวทางการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบ SPP โดย 1) กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อ และกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตราคงที่ สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กจากพลังงานแสงอาทิตย์ 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ขยะ และพลังงานลม 2.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปี 2) SPP พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ส่วนเพิ่มราคารับซื้อ ไฟฟ้าให้ใช้ระบบกลไกการแข่งขัน โดยกำหนดอัตราสูงสุดของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 0.30 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และกำหนดปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อรวม 300 เมกะวัตต์ และ 3) เห็นชอบแนวทางการ ออกประกาศเชิญชวนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อยื่นข้อ เสนอส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า
6. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางการออกประกาศเชิญชวน SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อยื่นข้อเสนอส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า โดยระบบกลไกการแข่งขัน ดังนี้
6.1 กำหนดระยะเวลาสนับสนุน 7 ปี ปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ โดยกำหนดอัตราสูงสุดของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับพลังงานหมุนเวียน อื่นๆ 0.30 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการทุกขั้นตอนประมาณ 4 เดือน
6.2 คุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ได้กำหนดไว้ในประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ดังนี้ 1) ผู้ยื่นข้อเสนอที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ก่อนวันที่ออกประกาศ สามารถยื่นข้อเสนอขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าได้ตามปริมาณพลังไฟฟ้าที่ เสนอ ขายเข้าระบบของการไฟฟ้า 2) ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ก่อนวันที่ออกประกาศ แต่สัญญานั้นสิ้นสุดภายในวันที่ปิดรับซองข้อเสนอ สามารถยื่นข้อเสนอขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าได้ ตามปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายเข้าระบบของการไฟฟ้า และ 3) ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ก่อนวันที่ออกประกาศ และสัญญานั้นสิ้นสุดหลังวันที่ปิดรับซองข้อเสนอ สามารถยื่นข้อเสนอขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ได้เฉพาะปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายเข้าระบบของการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของปริมาณที่ขายตามสัญญาฉบับเดิม โดยปริมาณพลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวต้องไม่เป็นผลมาจากการใช้เชื้อเพลิง เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นหรือใช้ไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ไม่ว่า โดยตรงหรือโดยอ้อม ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเสนอกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าให้ กฟผ. อย่างช้า ภายในเดือนธันวาคม 2555
6.3 ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเสนอขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า เป็นอัตราต่อหน่วยพลังงาน ไฟฟ้าที่เสนอขายให้ กฟผ. โดยส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่ขอต้องไม่สูงกว่าอัตราสูงสุดที่กำหนด และเสนอวงเงินรวมตามจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ได้เสนอขายให้ กฟผ. ในระยะเวลา 7 ปี โดยเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าและวงเงินรวมดังกล่าว กำหนดให้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่คาดว่า สนพ. จะดำเนินการคัดเลือกข้อเสนอแล้วเสร็จ โดยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวผู้ยื่นข้อเสนอต้องรับผิดชอบจำนวนเงินส่วนเพิ่ม ราคารับซื้อไฟฟ้า และวงเงินรวมที่ได้เสนอไว้ และจะถอนข้อเสนอไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีหลักค้ำประกันในการยื่นข้อเสนอ หรือ หลักประกันซอง โดยยื่นต่อ สนพ. ในอัตรา 100 บาทต่อกิโลวัตต์ และมีจำนวนเงินค้ำประกันตามปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายให้กับ กฟผ. ในเวลา 7 ปี แต่ ไม่เกิน 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน) ทั้งนี้ หลักประกันซอง ต้องมีระยะเวลาในการค้ำประกันจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 เป็นอย่างน้อย
6.4 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า รายเล็กจะดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของผู้ยื่นโครงการ ประเมินและคัดเลือกโครงการ และเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา แบ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิค อาทิ แผนการดำเนินงาน แผนการบริหารและจัดการ เป็นต้น และข้อเสนอทางการเงินโดยจะพิจารณา ความเหมาะสมจากปัจจัยต่างๆ
7. เนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ไม่มีสิทธิ์รับส่วนเพิ่มราคารับ ซื้อไฟฟ้าตามประกาศการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เรื่อง การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตาม ระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP มีความไม่ชัดเจน ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรปรับปรุงแก้ไขประกาศของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายข้อ 3.2.1 ผู้ไม่มีสิทธิ์รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าหมายถึง "ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบเงินสบทบการลงทุนผลิตไฟฟ้า (Investment Subsidy) จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน"
มติของที่ประชุม
1.รับทราบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทสัญญา Firm สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภทสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ มอบหมายให้ กฟผ. ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กต่อไป
2.เห็นชอบในหลักการการออกประกาศเชิญชวนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงาน หมุนเวียน เพื่อยื่นข้อเสนอส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ตามรายละเอียดในข้อ 6 และมอบหมายให้ กบง. ดำเนินการใน รายละเอียดออกประกาศเชิญชวนและดำเนินการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้ พลังงานหมุนเวียนต่อไป
3.เห็นชอบในหลักการร่างประกาศการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ ผลิตไฟฟ้า รายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ตามรายละเอียดในข้อ 5 และมอบหมายให้ กฟผ. ออกประกาศต่อไป
4.เห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ข้อ 3.2.1 ผู้ไม่มีสิทธิ์รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าหมายถึง "ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบเงินสบทบการลงทุนผลิตไฟฟ้า (Investment Subsidy) จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายรับไปดำเนินการ
เรื่องที่ 2 ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเงี๊ยบ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เพื่อ ส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว สำหรับจำหน่ายให้แก่ประเทศไทยจำนวนประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 ต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 เรื่องการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 โดยปัจจุบันมี 2 โครงการภายใต้ MOU ดังกล่าวที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบของ กฟผ. แล้ว ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน และห้วยเฮาะ และอีก 2 โครงการที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2 และโครงการน้ำงึม 2 โดยมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2552 และมีนาคม 2554 ตามลำดับ
2. กฟผ. ได้ดำเนินการเจรจากับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเงี๊ยบภายใต้นโยบายและหลักการ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการฯ จนได้ข้อยุติเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าและ เงื่อนไขสำคัญ และได้จัดเตรียมร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ของโครงการน้ำเงี๊ยบ โดยใช้ MOU ของ โครงการน้ำงึม 2 เป็นต้นแบบ ต่อมาคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2550 ได้เห็นชอบร่าง MOU ของโครงการน้ำเงี๊ยบแล้ว
3. ลักษณะโครงการน้ำเงี๊ยบ มีกำลังผลิตติดตั้ง 261 เมกะวัตต์ จ่ายพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,393 ล้านหน่วย ระบบส่ง ฝั่งไทยขนาด 500 กิโลโวลท์ จุดเชื่อมโยงระบบส่ง สฟ.อุดรธานี 3 ฝั่ง สปป. ลาวขนาด 230 กิโลโวลท์ จากโครงการมาบ้านนาบอง และระบบส่งขนาด 500 กิโลโวลท์ จากบ้านนาบองมาจุดส่งมอบชายแดนไทย-ลาว กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบประมาณปี 2557 กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ประกอบด้วย บริษัท Kansai Electric Power, ผู้ร่วมลงทุนรายอื่น และ รัฐบาล สปป. ลาว
4. สาระสำคัญของร่าง MOU โครงการน้ำเงี๊ยบ ประกอบด้วย
4.1 ข้อตกลงนี้ทำขึ้นระหว่าง กฟผ. กับบริษัท Kansai Electric Power นอกจากนี้ Kansai และผู้ร่วมลงทุนรายอื่น (รวมเรียกว่า NNP Sponsor) จะจัดตั้งบริษัทใน สปป. ลาว เพื่อพัฒนาโครงการ
4.2 โครงการมีกำลังผลิต 261 เมกะวัตต์ มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยรายปีของ Primary Energy (PE) เท่ากับ 1,199 ล้านหน่วย และ Secondary Energy (SE) เท่ากับ 175 ล้านหน่วย และจะมี Excess Energy (EE) อีกจำนวนหนึ่ง โดย กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PE และ SE
4.3 อัตราค่าไฟฟ้า ณ ชายแดน มีค่าคงที่ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยที่ 1) PE Tariff ส่วนที่ 1และ ส่วนที่ 2 มีค่าเท่ากับ 2.7852 Cents/หน่วย และ 1.0027 บาท/หน่วย ตามลำดับ 2) SE Tariff มีค่าเท่ากับ 1.2032 บาท/หน่วย 3) EE Tariff มีค่าเท่ากับ 1.1029 บาท/หน่วย และ 4) Pre COD มีค่า เท่ากับ 1.5040 บาท/หน่วย ซึ่งค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุสัญญา (Levelized Price) 27 ปี เท่ากับ 2.13 บาท/หน่วย (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาท/USD)
4.4 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีอายุ 27 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) โดยอาจมีอายุสัญญาได้ยาวกว่านี้ หาก สปป. ลาว อนุมัติ และทั้งสองฝ่ายตกลง
4.5 หากโครงการได้รับผลประโยชน์จาก CDM จะต้องเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับ กฟผ. ทั้งนี้จะขึ้นกับการตกลงของรัฐบาล สปป. ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 2 เป็นพื้นฐานในการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
4.6 MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน (1) เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (2) MOU มีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนามหรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงต่ออายุ MOU ออกไป (3) ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเลิกก่อนได้ โดยที่แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในส่วนของตน และไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายต่อเนื่องจาก MOU หรือจากการยกเลิก MOU
4.7 กำหนดวันแล้วเสร็จของงานต่างๆ จะเป็นดังนี้ 1) Scheduled Financial Close Date (SFCD) เท่ากับ 6 เดือนนับจากลงนาม PPA สำหรับ Scheduled Energizing Date (SED) (กำหนดวันที่ระบบส่งของทั้งสองฝ่ายพร้อมรับและส่งพลังงานไฟฟ้า) เท่ากับ 63 เดือนนับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และวัน SFCD และ Scheduled Commercial Operation Date (SCOD) คือวันที่ช้ากว่าระหว่าง วันที่ 31 มกราคม 2557 และ 66 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และวัน SFCD และ 2) หากฝ่ายใดทำให้วัน COD ล่าช้ากว่าวัน SCOD จะต้องจ่ายค่าปรับในอัตรา ที่เท่ากัน
4.8 จำนวนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบด้วย 1) วันลงนามสัญญาฯ จำนวน 5.4Million USD 2) วัน Financial Close Date จำนวน 13.5 Million USD 3) วัน COD จำนวน 12.1 Million USD และ 4) วันครบรอบ COD 14 ปี จำนวน 4.1 Million USD
4.9 Tariff MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะถูกบังคับและตีความตามกฎหมายไทย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเงี๊ยบ รายละเอียดตามเอกสารแนบ 3.2.1
2.เห็นชอบให้ กฟผ. นำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนโครงการน้ำเงี๊ยบต่อไป
เรื่องที่ 3 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan: PDP) เป็นแผนระยะยาวที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนในการขยายกำลังการ ผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า ในอนาคต โดยแผน PDP ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือแผน PDP 2004 เป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในช่วงปี 2547-2558
2. เมื่อเดือนมีนาคม w2550 คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าได้ปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงและสภาพเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจัดทำเป็น 3 กรณี คือ กรณีฐาน กรณีต่ำและกรณีสูง โดย กฟผ. จะได้นำค่าพยากรณ์ดังกล่าวไปใช้ในการจัดทำแผน PDP ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า และแผน PDP จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ 1) การประชุมเตรียมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2006) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 2) การสัมมนา เรื่องทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และ 3) การสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่องการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) เมื่อเดือนเมษายน 2550
3. ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (ค่า Peak) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ปี 2550 ค่า Peak เกิดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2550 อยู่ที่ระดับ 22,161 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 5 แต่ยังคง ต่ำกว่าค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ฉบับมีนาคม 2550 กรณีฐานที่ประมาณการไว้ที่ 22,513 เมกะวัตต์อยู่ 352 เมกะวัตต์ ซึ่งค่า Peak จะมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิ โดยถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ค่า Peak สูงขึ้นประมาณ 300 เมกะวัตต์
4. การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับมีนาคม 2550 ได้กำหนดสมมติฐานที่สำคัญ คือ 1) ค่า GDP กรณีฐานให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงแผนฯ 10, 11 และ 12 เฉลี่ยร้อยละ 5.0, 5.6 และ 5.6 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนกรณีต่ำและกรณีสูงได้กำหนดให้ต่ำและสูงกว่ากรณีฐานร้อยละ 0.5 ตามลำดับ 2) ค่าพลังงานไฟฟ้าที่สูญเสีย (ค่า Loss) ในระบบส่งของ กฟผ. และ กฟน. กำหนดเท่ากับร้อยละ 2.50 และ 3.64 ตลอดช่วงการพยากรณ์ ตามลำดับ ส่วน กฟภ. กำหนดให้เท่ากับร้อยละ 5.10 และ 5.00 ในช่วงปี 2550 - 2555 และช่วงปี 2556 - 2564 ตามลำดับ 3) มาตรการประหยัดพลังงาน/ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ได้คำนึงถึงมาตรการต่างๆ ได้แก่ การกำหนดประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าตามโครงการ DSM การจัดตั้งบริษัทจัดการด้านพลังงาน (ESCO) โครงการประหยัดพลังงาน ในอาคารและโรงงาน รวมทั้งโครงการเปลี่ยนหลอดไส้ และ 4) การรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP โดยตรงของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะทำให้ซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. ลดลง 970 เมกะวัตต์ ในปี 2564
5. ผลการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จัดทำเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1) กรณีฐาน ความต้องการ ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2550-2564 เฉลี่ย 1,859.60 เมกะวัตต์ต่อปี และอัตราเจริญเติบโตร้อยละ 5.78 ต่อปี 2) กรณีต่ำ ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,597.80 เมกะวัตต์ต่อปี มีอัตราเจริญเติบโตร้อยละ 5.20 ต่อปี และ 3) กรณีสูง ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,117.27 เมกะวัตต์ต่อปี อัตราเจริญเติบโตร้อยละ 6.32 ต่อปี ทั้งนี้ความต้องการไฟฟ้ากรณีต่ำและกรณีสูงแตกต่างจากกรณีฐาน ประมาณ 3,900 เมกะวัตต์ ในปี 2564
6. กฟผ. ได้นำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับมีนาคม 2550 ไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2550-2564 (PDP 2007) ซึ่งเป็นแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ และระบบส่งไฟฟ้าในระยะยาว 10-15 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงปี 2550-2553 ซึ่งเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าอยู่ในระหว่างก่อสร้างจะเป็นโครงการของ IPP เช่น บริษัท BLCP เพาเวอร์ จำกัด และโครงการของ กฟผ. เป็นต้น และ ช่วงปี 2554-2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดย กฟผ. ได้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 3 กรณีตามค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า คือ กรณีฐาน (B) กรณีต่ำ (L) และกรณีสูง (H) และในแต่ละกรณีจัดทำเป็น 3 แผนทางเลือก คือ 1) กรณีค่าใช้จ่ายต่ำสุด (Least-cost plan) 2) กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความเป็นไปได้ และ 3) กรณีการจัดหา LNG จำนวน 10 ล้านตันต่อปี และรับซื้อไฟฟ้า ต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยที่การจัดทำแผนในช่วงปี 2554-2564 จะคำนึงถึงราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการจัดทำแผน PDP 2007 ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติ (252-261 บาท/ล้านบีทียู) น้ำมันเตา (335 บาท/ล้านบีทียู) น้ำมันดีเซล (632 บาท/ล้านบีทียู) ลิกไนต์ (53-78 บาท/ล้านบีทียู) ถ่านหินนำเข้า (91-96 บาท/ล้านบีทียู) และนิวเคลียร์ (25.3 บาท/ล้านบีทียู) นอกจากนี้ได้ประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำสุด ได้แก่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (2.08 บาท/หน่วย) โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ก๊าซธรรมชาติ (2.12 และ 2.29 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ) ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อน-น้ำมัน และโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สมีต้นทุนค่อนข้างสูง ประมาณ 4.12 และ 7.93 บาท/หน่วย ตามลำดับ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูงที่สุด คือ 20.20 บาท/หน่วย รองลงมาคือ กังหันลมและขยะ มีต้นทุนประมาณ 5.98 และ 4.63 บาท/หน่วย ตามลำดับ และการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลมีต้นทุนต่ำสุด คือ 2.63 บาท/หน่วย ซึ่งต้นทุนค่าไฟฟ้าเหล่านี้จะถูกนำไปพิจารณาในแผนทางเลือกที่มีค่าใช้จ่าย ต่ำสุด
7. การจัดทำแผนทางเลือก ประกอบด้วย
(1) แผน B1: ใช้ความต้องการไฟฟ้าฐาน เป็นกรณีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะสามารถเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้ในปี 2563 และ 2564 จำนวน 4,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำรองลงมาคือโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซ ธรรมชาติ ซึ่งจะเข้ามาในระบบไฟฟ้ารวมจำนวน 18,200 และ 2,800 เมกะวัตต์ ตามลำดับ และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวมจำนวน 5,090 และ 1,700 เมกะวัตต์ ตามลำดับ
(2) แผน B2: ใช้ความต้องการไฟฟ้าฐาน โดยพิจารณาการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะก่อสร้างประมาณ 2,800 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะใช้ก๊าซ ธรรมชาติ เป็นจำนวน 18,200 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและ SPP ยังคงจำนวนเท่าเดิม คือ 4,000 5,090 และ 1,700 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ทั้งนี้หากพิจารณาสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2564 พบว่าการผลิตไฟฟ้าจาก LNG และจากต่างประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 31 และ 11 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในแผน B2 จะมีการลงทุนในแหล่งผลิตและระบบส่งรวมในช่วงแผนฯ 10 (ปี 2550-2554) และแผนฯ 11 (ปี 2555-2559) จำนวน 289,737 และ 697,063 ล้านบาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 986,796 ล้านบาท
(3) แผน B3: กรณีความต้องการไฟฟ้าฐาน พิจารณาการจัดหา LNG จำนวน 10 ล้านตันต่อปี และรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จะทำให้ระบบไฟฟ้ามีกำลังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จำนวน 9,800 เมกะวัตต์ จากการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวม 13,490 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2564 จาก LNG และจากการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 17 และ 26 ตามลำดับ
(4) สำหรับกรณีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (L) และกรณีความต้องการไฟฟ้าสูง (H) มีการจัดทำเป็น 3 แผนทางเลือกเช่นเดียวกับแผนทางเลือกในกรณีความต้องการไฟฟ้าฐาน
8. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้จัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติโดยออกเป็น 2 ช่วง คือ 1) ช่วงปี 2550-2553 จะมีแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากอ่าวไทยโดยผ่านระบบท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 3 และส่วนที่เหลืออีกจะเป็นการนำเข้าจากสหภาพพม่า โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 และ 20 ตามลำดับ 2) ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ปตท. มีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพ เช่น สหภาพพม่าและอินโดนีเซีย รวมทั้งจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเพิ่มเติมจากแหล่งที่คาดว่าจะมีปริมาณ สำรองเพิ่มขึ้น เช่น แหล่งไพลิน
9. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความคิดเห็นว่าการจัดทำแผน PDP 2007 ควรใช้ค่าพยากรณ์ ความต้องการไฟฟ้า ฉบับเดือนมีนาคม 2550 กรณีฐาน เป็นค่าพยากรณ์ในการจัดทำแผน PDP โดยพิจารณาแผนทางเลือกของการผลิตไฟฟ้าจะเห็นว่าแผน B1 จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยในการดำเนินการ ส่วนแผน B2 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งเป็นแผนที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการระยะสั้นในช่วงปี 2554-2558 และแผน B3 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีความเป็นไปได้ ในปัจจุบัน และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแผนที่มีความเป็นไปได้ในการจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใน ระยะยาว ดังนั้น จึงเห็นควรให้นำแผน B2 เป็นแผนหลักในการจัดทำแผน PDP 2007 และแผน B3 เป็นแผนทางเลือก
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) โดยใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเดือนมีนาคม 2550 กรณีฐาน และให้ใช้แผน B2 (กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีความเป็นไปได้) เป็นแผนหลักในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) และใช้แผน B3 (กรณีการนำเข้า LNG ในปริมาณ 10 ล้านตันต่อปี และรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น) เป็นแผนทางเลือก และมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดแผนการจัดหาเชื้อเพลิง แผนการลงทุนในระบบส่ง ไฟฟ้า และประมาณการฐานะการเงิน เสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2.เห็นชอบในหลักการแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงปี 2550-2553 เป็นการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากอ่าวไทย โดยจะขนส่งผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 3 และในช่วงปี 2554 เป็นต้นไป เป็นแผนนำเข้า LNG และก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพ และจัดหาเพิ่มเติมจากแหล่งอ่าวไทยที่คาดว่าจะมีปริมาณสำรองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มอบหมายให้ ปตท. จัดทำรายละเอียดแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
3.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานงานกับ สศช., กฟผ., ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากำหนดพื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และจุดรับก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับแผน PDP 2007 ให้สามารถดำเนินการได้ และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่จะมีการ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป
เรื่องที่ 4 การปรับปรุงมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล
สรุปสาระสำคัญ
1. เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ ภาครัฐได้มีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนไบโอดีเซล โดยกำหนดมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีและเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับไบโอดีเซล (B100) และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 และกำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.70 บาท/ลิตร และให้ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 มากกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.20 บาท/ลิตร
2. ปัจจุบันราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ระดับ 18.0556 บาท/ลิตร ส่วนราคาไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ระดับ 24.55 บาท/ลิตร โดยมีโรงงานผลิตไบโอดีเซล (B100) จำนวน 5 ราย กำลังการผลิต ติดตั้ง 840,000 ลิตร/วัน แต่ผลิตได้จริง 24,000 ลิตร/วัน นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่อยู่ระหว่างพัฒนาคุณภาพตามประกาศ ธพ. จำนวน 5 ราย กำลังผลิตประมาณ 1,070,000 ลิตร/วัน ปัจจุบันปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) เพื่อผลิตเป็นดีเซลหมุนเร็วบี 5 อยู่ที่ระดับ 42,000 ลิตร/วัน ส่วนการจำหน่าย น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 เดือนมีนาคม 2550 อยู่ที่ระดับ 840,000 ลิตร/วัน คิดเป็นร้อยละ 1.52 ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั้งหมด 55 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 ภาครัฐได้ปรับเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมัน ดีเซลหมุนเร็วบี 5 แล้ว แต่ปริมาณการใช้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ได้ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
3. ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 มีปริมาณไม่เพิ่ม มากขึ้น คือ ปริมาณการผลิตและคุณภาพของไบโอดีเซล (B100) ที่ยังไม่แน่นอน และการขาดความมั่นใจและไม่ยอมรับของกลุ่มยานยนต์ และผู้ใช้รถยนต์ในเรื่องคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 โดยผู้ประกอบการรถยนต์ยังไม่ออกมารับรองรถยนต์ของตนเองสามารถใช้น้ำมันดีเซล หมุนเร็วบี 5 ได้ รวมทั้งสถานีบริการ น้ำมันเชื้อเพลิง มีข้อจำกัดเรื่องหัวจ่ายและถังเก็บน้ำมันใต้ดิน
4. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 กบง. ได้พิจารณาเรื่อง การปรับปรุงมาตรการด้านคุณภาพและ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ และได้มีมติดังนี้
4.1 เห็นชอบให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยให้สามารถผสมไบโอดีเซล (B100) ได้ในระดับไม่เกินร้อยละ 2 โดยปริมาตร ให้เริ่มมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการบังคับให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติต้องผสมไบโอดีเซล (B100) ในระดับร้อยละ 2 โดยปริมาตร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไป โดยมอบหมายให้ ธพ. รับไปดำเนินการออกประกาศต่อไป
4.2 ในการกำกับดูแลคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 2 และบี 5 มอบหมายให้ ธพ. รับไปดำเนินการดังนี้ 1) เร่งดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ให้เป็น ที่ยอมรับเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์รับรองการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 และ 2) ดำเนินการ ตรวจสอบการผลิตของโรงงานผลิตไบโอดีเซล (B100) และพิจารณากำหนดให้ผู้ผลิตไบโอดีเซล (B100) ต้องจดทะเบียนหรือขอความเห็นชอบจาก ธพ. ก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายไบโอดีเซลได้
4.3 เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันมีข้อจำกัดในเรื่อง อุปกรณ์การผสมไบโอดีเซล และเพื่อเร่งให้มีการนำไบโอดีเซลมาผสมเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 2 ก่อนวันบังคับใช้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุน น้ำมันฯ จ่ายชดเชยราคาไบโอดีเซล (B100) โดยให้กำหนดอัตราเงินชดเชยเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคา ไบโอดีเซล (B100) กับราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บวกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 5 บาท/ลิตร และยังคงกำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.70 บาท/ลิตร โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสรรพสามิตรับผิดชอบการตรวจสอบปริมาณการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลและสถาบัน บริหารกองทุนพลังงานรับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยหรือรับเงินคืนกองทุนฯ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มีนาคม 2550)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนมีนาคม 2550 อยู่ที่ระดับ 58.80 และ 62.43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 3.05 และ 4.48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากตลาดมีความกังวลในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและประเทศ ตะวันตก และการประท้วงต่อเนื่องในฝรั่งเศสส่งผลให้การขนส่งน้ำมันล่าช้า นอกจากนี้ EIA ได้รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 328.4 ล้านบาร์เรล
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2550 อยู่ที่ระดับ 76.62, 75.52 และ 73.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 9.82, 9.79 และ 2.86 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามราคาน้ำมันดิบ และเนื่องจากประเทศต่างๆ เริ่มสั่งซื้อน้ำมัน เพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับรายงานปริมาณสำรองน้ำมันของสิงคโปร์ลดลงอยู่ที่ระดับ 7.88 ล้านบาร์เรล และโรงกลั่นในญี่ปุ่นมีแผนปิดซ่อมบำรุงในเดือนเมษายน จำนวน 5 แห่ง ทำให้ต้องลดการส่งออกลง ประมาณร้อยละ 75
3. เดือนมีนาคม 2550 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจำนวน 5 ครั้ง รวมเป็น 2.00 บาท/ลิตร ปรับราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 จำนวน 6 ครั้ง รวมเป็น 1.30 บาท/ลิตร และปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็น 1.20 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 แก๊สโซฮอล์ 95, 91 ดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 อยู่ที่ระดับ 27.99, 27.19, 25.49, 25.19, 24.14 และ 23.44 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเดือนเมษายน 2550 คาดว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 60 - 70 และ 65 - 75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากกรณีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านกรณีโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ค้า น้ำมันเกิดความกลัวจะมีการใช้กำลังทหารเพื่อเข้าแก้ไขปัญหาและจะส่งผลให้การ ส่งออกน้ำมันดิบของ อิหร่านซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 4 ของโลกมีปัญหา และคาดว่าน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 75 - 85 และ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนของประเทศต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาสูงกว่าตลาดเอเซีย ประกอบกับโรงกลั่นต่างๆ ในเอเซียปิดเพื่อซ่อมบำรุงประจำปีในช่วงต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา
5. สำหรับสถานการณ์ LPG เดือนมีนาคม 2550 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน อยู่ที่ระดับ 536 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามราคาน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับความต้องการซื้อในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในธุรกิจปิโตรเคมี และ Arbitrage จากตะวันออกกลางไป ตะวันตกเปิด ขณะที่อุปทาน LPG จากตะวันออกกลางที่จะส่งขายในภูมิภาคลดลง ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 11.3856 บาท/กิโลกรัม อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ที่จำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับ 1.3157 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 332.15 ล้านบาท/เดือน อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ส่งออก อยู่ที่ระดับ 3.7206 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 81.55 ล้านบาท/เดือน สำหรับการคาดการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 คาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 525 - 540 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ประมาณราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ที่ระดับ 11.3696 - 11.3914 บาท/กิโลกรัม อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ที่จำหน่ายในประเทศอยู่ที่ระดับ 1.2997 - 1.3215 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 327.86 - 333.70 ล้านบาท/เดือน อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ส่งออก อยู่ที่ระดับ 3.5354 - 3.7879 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 77.49 - 83.02 ล้านบาท/เดือน ณ อัตรา แลกเปลี่ยน 35.1244 บาท/เหรียญสหรัฐฯ
6. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 24 เมษายน 2550 มีเงินสดสุทธิ 5,858 ล้านบาท หนี้สินค้างชำระ 33,963 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 17,600 ล้านบาท หนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 4,844 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยตรึงราคาน้ำมันค้างชำระ 1,064 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 10,433 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างจ่ายประจำเดือน 22 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิติดลบ 28,105 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 6 แนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. จากร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง โรงไฟฟ้า นอกจากนี้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าอาจจะมีปัญหา การคัดค้านของประชาชนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจึงเห็นควรให้มีการศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนใน พื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติการประกอบฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ประกอบกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้นำการศึกษาโครงการ ประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับการจัดการมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการ จัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษขึ้น เพื่อพิจารณากำหนดค่าการปล่อยมลพิษ อย่างไรก็ตาม สนพ. ได้จัดทำร่างแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฯ เสนอ กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 และได้นำร่าง แนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฯ ไปรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550
2. แนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหา เงินทุนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนพื้นที่รอบโรง ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเก็บเงินจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และมีอัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าทุกแห่งต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาฯ โดยในช่วงระหว่างการก่อสร้างให้จ่ายตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า (บาท/เมกะวัตต์/ปี) และเมื่อมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาแล้ว ให้จ่ายตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ (สตางค์/หน่วย) ในอัตราที่แตกต่างกัน ตามการปล่อยมลภาวะจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าซึ่งคำนวณ ตามสมการเรียกเก็บค่าปล่อยมลพิษเบื้องต้นของคณะทำงานศึกษาการจัดเก็บค่าการ ปล่อยมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกรณีปล่อยมลพิษมีค่าอยู่ระหว่างค่าที่มาตรฐานกำหนดถึงร้อยละ 50 ของค่าที่มาตรฐานกำหนด โดยดัดแปลงสูตรให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยเฉลี่ยจ่ายเงินในอัตรา 1 สตางค์/หน่วย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าใหม่จากผู้ผลิต ไฟฟ้าเอกชน (IPP) ให้กำหนดอัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาฯ ไว้ในประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ส่วนโรงไฟฟ้าปัจจุบันและโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้จ่ายเงินเข้ากอง ทุนพัฒนาฯ ตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ (สตางค์/หน่วย) โดยที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ส่งผ่านค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft ดังนี้
Charge = (0.0003Q + 0.226P + 0.1*aNHP + 0.1*bHP)/0.07
โดยที่ Q = ปริมาณอากาศเสีย (air quantity)
P = ปริมาณฝุ่นละออง
NHP = ปริมาณมลพิษประเภทสารไม่อันตราย (non-hazardous pollutants)
HP = ปริมาณมลพิษประเภทสารอันตราย (hazardous pollutants)
a = ค่าสัมประสิทธิ์ปริมาณมลพิษประเภทสารไม่อันตราย
b = ค่าสัมประสิทธิ์ปริมาณมลพิษประเภทสารอันตราย
จากสมการดังกล่าวทำให้โรงไฟฟ้าปัจจุบันจะจ่ายค่าปล่อยมลพิษดังนี้
อัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้า | เชื้อเพลิง | ค่าปล่อยมลพิษ (สตางค์/หน่วย) | เงินส่งกองทุนพัฒนาฯ (ล้านบาท/ปี)1/ |
กฟผ. | น้ำมันเตา | 0.86 - 1.43 | 45 - 74 |
ก๊าซธรรมชาติ | 0.71 - 1.29 | 37 - 72 | |
ลิกไนต์ | 1.43 | 74 | |
เอกชน | ถ่านหิน | 1.92 | 100 |
หมายเหตุ : 1/ คำนวณจากโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่ Plant factor 85%
3. รูปแบบและการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาฯ ได้กำหนดให้มีการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่รอบโรง ไฟฟ้าโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ดำเนินการสรรหากรรมการ จากการสรรหาหรือการเลือกตั้งหรือการเสนอชื่อหรือวิธีการอื่นใดของชุมชนรอบ โรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชน และสตรีในพื้นที่ พร้อมทั้งให้มีผู้แทนสำนักงานพลังงานภูมิภาค ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่เป็นเลขานุการและผู้แทนจากโรงไฟฟ้าเป็นผู้ช่วยเลขานุการ สำหรับจำนวนกรรมการ วิธีการจัดหากรรมการและวาระการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยที่ได้กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ได้ รับผลประโยชน์ โดยที่หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการปฏิบัติด้านบริหารการเงิน และการพัสดุ พิจารณาอนุมัติแผนการพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและงบประมาณ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่แท้จริงและนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่าง ยั่งยืน
4. การกำหนดผู้ได้รับผลประโยชน์จากกองทุนพัฒนาฯ ให้กำหนดจากการแบ่งขอบเขตพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ชั้นใน (พื้นที่ที่อยู่ในรัศมีขั้นต่ำ 5 กิโลเมตรจากขอบเขตของโรงไฟฟ้า หรือขอบเขตของนิคมอุตสาหกรรมที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่) และพื้นที่ชั้นนอก (พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ชั้นใน โดยให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการกำกับดูแลฯ) ผู้ได้รับผลประโยชน์จากกองทุนพัฒนาฯ ได้แก่ ประชาชน หน่วยงานของภาครัฐ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งกรอบการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาฯ ให้เป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับพื้นที่ชั้นในเป็นลำดับแรก
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และมอบหมายให้ สนพ. ดำเนินการในรายละเอียด และนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม
องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่
ของคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม (กทป.) ตามพระราชบัญญัติ
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535
องค์ประกอบ
1. ปลัดกระทรวงพลังงาน ประธาน
2. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการ
3. ผู้แทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรรมการ
4. ผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน กรรมการ
5. ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรรมการ
6. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง กรรมการ
7. ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
วัตถุประสงค์ของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม
1. เพื่อเป็นเงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือแก่โครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน และ/หรือการเสริมสร้างความปลอดภัยจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน
2. เพื่อการค้นคว้า วิจัย การทดลองตรวจสอบ การศึกษาเกี่ยวกับการพลังงานและปิโตรเลียม การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน การเสริมสร้างความปลอดภัยจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน และ/หรือเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน
3. เพื่อเป็นเงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือแก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ในการจัดทำโครงการสาธิต หรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวกับการพลังงานและปิโตรเลียม การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน
4. เพื่อการศึกษา และ/หรือการฝึกอบรม ตามโครงการในสาขาวิชาที่มีความจำเป็น และเร่งด่วนหรือขาดแคลน เพื่อเป็นการสร้างสมรรถนะทางวิชาการของหน่วยราชการ และ/หรือสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพลังงานและปิโตรเลียม
5. เพื่อการโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพลังงานและปิโตรเลียม การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน และ/หรือการเสริมสร้างความปลอดภัยจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน
6. เพื่อการพิจารณาศึกษาในภาครัฐบาล หรือการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม สัมมนา หรือปรึกษาหารือทั้งในประเทศหรือต่างประเทศของข้าราชการและ/หรือลูกจ้างของหน่วยราชการที่เกี่ยวกับการพลังงานและปิโตรเลียม และ/หรือการจัดการประชุมเกี่ยวกับการพลังงานและปิโตรเลียม
7. เพื่อจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพลังงาน และปิโตรเลียม
8. เพื่อจัดสร้างห้องปฏิบัติงาน และ/หรือสำนักงานแห่งใหม่เพิ่มเติมในส่วนที่ไม่สามารถใช้เงิน งบประมาณได้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพลังงานและปิโตรเลียม
9. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ระเบียบหลักเกณฑ์
ระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม | ![]() |
หลักเกณฑ์คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม | ![]() |
เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ช่วงต้นปีงบประมาณ ขึ้นอยู่กับการกำหนดวันประชุมของคณะกรรมการ กทป.
ผู้ที่มีคุณสมบัติตามประกาศ สามารถยื่นใบสมัครผ่านหน่วยงานต้นสังกัด มาถึง ประธานคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ฝ่ายเลขานุการฯ ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับเอกสารที่ไม่ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดในทุกกรณี
ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม เรื่อง การขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ของปีที่ขอรับทุน
ผลการจัดสรรทุนจะระบุไว้ในมติการประชุมคณะกรรมการ กทป. โดยฝ่ายเลขานุการจะแจ้งเวียนไปที่หน่วยงานต้นสังกัดของผู้รับทุน ภายในระยะเวลาตามประกาศ ในกรณีที่มีกำหนดการประชุมล่าช้ากว่าวันที่ระบุไว้ในประกาศ ฝ่ายเลขานุการฯ จะเร่งดำเนินการออกมติให้โดยเร็วที่สุด
ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติตามประกาศหรือระเบียบของหน่วยงานเจ้าของทุนนั้นๆ
หลังจากคณะกรรมการ กทป. มีมติอนุมัติจัดสรรทุนและหน่วยงานต้นสังกัดแจ้งยืนยันการรับทุนมายังฝ่ายเลขานุการฯ แล้ว ผู้ได้รับอนุมัติจัดสรรทุนสามารถทำสัญญารับทุนและสัญญาค้ำประกันกับหน่วยงานต้นสังกัด ดำเนินการเข้าศึกษาหรือฝึกอบรม และส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเพื่อขอเบิกเงินได้ทันที ทั้งนี้ เมื่อผู้ได้รับอนุมัติจัดสรรทุนทำสัญญารับทุนและสัญญาค้ำประกันเรียบร้อยแล้ว ขอให้สแกนเป็นไฟล์ pdf ส่งให้ฝ่ายเลขานุการฯ ทางอีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
สำหรับการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา สามารถศึกษาได้จาก ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555) ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง. ไปราชการ พ.ศ. 2550. (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565) และหนังสือ กระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค. 0406.4/ว5 ลงวันที่ 14 มกราคม 2556 เรื่อง มารตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 หากมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อดำเนินโครงการ สามารถศึกษาได้จากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และหนังสือ กระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 119 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2561 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินการจัดหาพัสดุที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมของหน่วยงานของรัฐ
สำหรับหมวดเงินทุนการศึกษาและฝึกอบรม สามารถศึกษาได้จาก หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนรัฐบาล และงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาล - ก.พ. (ทุนฝึกอบรมหรือทุนการนำเสนอผลงานวิชาการ) ของสำนักงาน ก.พ. https://www.ocsc.go.th/scholarships/cost/
ให้ผู้รับทุนจัดทำหนังสือขอเบิกเงินผ่านหน่วยงานต้นสังกัดมายัง ฝ่ายเลขานุการฯ โดยแนบเอกสารดังต่อไปนี้
1. สำเนามติคณะกรรมการ กทป. อนุมัติจัดสรรทุน
2. สำเนาหนังสือยืนยันการรับทุน
3. สำเนาสัญญารับทุนและสัญญาค้ำประกัน
4. สำเนาหนังสืออนุญาตลาศึกษา (กรณีในเวลาราชการ)
5. แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน
6. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
7. สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีที่ตรงกับแบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB
8. ใบเสร็จรับเงินฉบับจริง (กรณีที่ยังไม่สามารถจัดส่งเอกสารฉบับจริงพร้อมกันในการเบิกครั้งแรกได้ สามารถจัดทำหนังสือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมผ่านหน่วยงานต้นสังกัดมายัง ฝ่ายเลขานุการฯ ภายหลังได้)
หากสงสัยเอกสารหลักฐานอื่นที่ผู้รับทุนมีว่าจะต้องใช้ประกอบการเบิกเงินด้วยหรือไม่ สามารถสอบถามได้ที่ 02 612 1555 ต่อ 492 (คุณสุจินดา) หรือ 492 (คุณอัญมณี)
ให้ผู้รับทุนจัดทำหนังสือขอหนังสือรับรองการรับทุนตามไฟล์ตัวอย่างผ่านหน่วยงานต้นสังกัด มายังฝ่ายเลขานุการฯ พร้อมส่งไฟล์ word ในส่วน “สิ่งที่ส่งมาด้วย” ซึ่งระบุรายละเอียดผู้รับทุนตามไฟล์ตัวอย่าง มาทางอีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ทั้งนี้ หนังสือรับรองการรับทุนไม่ใช่เอกสารบังคับสำหรับการเดินทางไปศึกษาหรือฝึกอบรม ขอให้ตรวจสอบกับสถาบันหรือสถานทูตของประเทศที่จะเดินทางไป หากจำเป็นต้องใช้ประกอบในการยื่นขอวีซ่า กรุณาเผื่อระยะเวลาดำเนินการออกหนังสือรับรองประมาณ 2 สัปดาห์ และให้มารับด้วยตนเองได้ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ศึกษาได้จากระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 หลักเกณฑ์คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2546 และประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม เรื่อง การขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ของปีที่ขอรับทุน
หากมีข้อสงสัยที่มิได้ระบุในเอกสารข้างต้น สามารถทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมได้
คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กนช.)
เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ 1/2557
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ 11/2550
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ 2/2548
กพช. ครั้งที่ 111 - วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2550
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2550 (ครั้งที่ 111)
วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2550 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2.ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....
3.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (กุมภาพันธ์ 2550)
5.การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เลขานุการฯ ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า ประธานกรรมการฯ (ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล) ได้ลาออกจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทำหน้าที่ประธานที่ประชุมของคณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในครั้งนี้ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ
เรื่องที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 เพื่อจะส่งเสริมในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคารเป็นสำคัญ และได้ใช้บังคับเป็นเวลานาน จึงควรมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม ครอบคลุมกิจกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในทุกภาคส่วน และสามารถนำไปประกาศใช้ได้อย่างรวดเร็วและสามารถปฏิบัติได้ทันเวลา และเมื่อเดือนมกราคม 2550 คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2550 (ครั้งที่ 110) ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการแก้ไขพระราช บัญญัติฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ แล้วให้นำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
2. กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีแนวทางการแก้ไขปรับปรุงใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1) คำนิยาม "น้ำมันเชื้อเพลิง" ได้ใช้นิยามเดิม และ "ยานพาหนะ" ได้ตัดคำนิยามคำว่า "ยานพาหนะ" ออกจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไข 2) ในส่วนอำนาจรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง กำหนดกิจกรรม กำกับดูแลและส่งเสริม การกำหนดค่า ธรรมเนียม ได้ตัดอำนาจในส่วนของกำหนดกิจกรรมและค่าธรรมเนียมออกเหลือไว้เฉพาะอำนาจใน การออกประกาศกฎกระทรวง 3) ในส่วนมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ตัดหลักการที่มีความซ้ำซ้อนใน พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขออก 4) ในส่วนที่มาและหลักเกณฑ์ของจำนวนร้อยละการเรียกเงินเพิ่มกรณีส่งเข้ากองทุน ล่าช้า ซึ่งเป็นการกำหนดโดยเปรียบเทียบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4/2547 ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 5) ในส่วนอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจผู้จำหน่ายยานพาหนะ ได้ใช้บทบัญญัติเดิม 6) บทเฉพาะกาลของกฎหมายเพิ่มเติมหลายส่วนที่ไม่มีความจำเป็นนั้นก็ได้ตัดบท เฉพาะกาลออกทั้งหมดและปรับปรุงมาตรา 2 ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 120 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ 7) การที่กฎหมายมีการแก้ไขเป็นจำนวนมากและยกเลิกหลายมาตรา ได้ทำการปรับลดบทบัญญัติแก้ไขและยกเลิกลงเหลือกฎหมายใหม่ 21 มาตรา เป็นการแก้ไข 13 มาตรา ปรับเลขมาตรา 5 มาตรา และยกเลิกกฎหมาย 3 มาตรา
3. สรุปสาระสำคัญของการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย
3.1 ขยายเวลาบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ออกไป 120 วัน เพื่อเตรียมการออกกฎหมายลำดับรอง
3.2 เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "เครื่องจักร และอุปกรณ์" ในมาตรา 3
3.3 มาตรา 4 (3) เป็นการตัดเลขที่มาตราที่ยกเลิกออก
3.4 มาตรา 6 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานมีอำนาจเพิ่มเติมในการออกประกาศกระทรวง
3.5 มาตรา 9 - เปลี่ยนวิธีการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานของโรงงานเป็นการจัดการพลังงาน
- ยกเลิกหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และหน้าที่ของผู้รับผิดชอบด้านพลังงานของโรงงานในกฎหมายหลักมากำหนดเป็นกฎกระทรวง
- รายละเอียดของกฎกระทรวงที่เป็นเรื่องเทคนิค วิชาการ หรือที่ต้อง เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำมาออกเป็นประกาศกระทรวง
3.6 มาตรา 19 กำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่ที่มีปริมาณพื้นที่จำนวนมากต้องออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
3.7 มาตรา 21 เปลี่ยนวิธีการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานของอาคารเป็นการจัดการพลังงาน
3.8 มาตรา 23 - กำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้งาน
- กำหนดให้ผู้ผลิต จำหน่าย แสดงค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
- กำหนดแนวทางในการนำข้อมูลมาตรฐานที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เพื่อให้คณะกรรมการ สมอ. พิจารณาและดำเนินการออกประกาศ หรือพระราชกฤษฎีกาตามกฎหมายของ สมอ.
3.9 มาตรา 24 วรรคสอง กำหนดให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้เก็บรักษาเงินแทนกระทรวงการคลัง
3.10 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เพิ่มให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3.11 มาตรา 34 กำหนดแนวทางในการมอบอำนาจหน้าที่ให้คณะอนุกรรมการฯ ปฏิบัติงาน
3.12 มาตรา 38 ปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในกรณีล่าช้าและ ส่งเงินไม่ครบ โดยกำหนดมาตรการปรับเงินเพิ่มก่อนการส่งดำเนินคดี
3.13 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, มาตรา 46 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ปรับแก้มาตราให้สอดคล้องกัน (เปลี่ยนจากมาตรา 19 เป็นมาตรา 21)
3.14 มาตรา 47 เพิ่มข้อ (3) เพื่อมอบหมายหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรับรองการ จัดการพลังงาน
3.15 มาตรา 48 วรรคสองและวรรคสาม
- มอบหมายให้บุคคล/นิติบุคคลเป็นผู้ตรวจสอบพลังงานตามมาตรา 47 (3)
- กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขการปฏิบัติงานของบุคคล/นิติบุคคลในการตรวจสอบพลังงาน
3.16 มาตรา 55 ปรับเปลี่ยนบทกำหนดโทษในการกำกับติดตามโรงงานควบคุมและอาคาร ควบคุม
3.17 มาตรา 11 มาตรา 12, มาตรา 14 ถึงมาตรา 16 และมาตรา 22 เนื่องจากได้มีการกำหนดให้ใช้วิธีการจัดการพลังงาน ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมตามมาตราดังกล่าวแล้ว
3.18 มาตรา 56 ถึง 57 ได้มีการรวมลักษณะการกระทำความผิดไว้ในมาตรา 55 แล้ว
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
เรื่องที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้มีมติเห็นชอบ เรื่องแนวทางการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยเห็นควรให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... โดยให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานมีประสิทธิผลสูงสุดในระยะยาวต่อไป
2. ประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์) ได้มีคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ 4/2549 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 เรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน ตลอดจนกำหนดกระบวนการและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชน
3. กพช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2550 (ครั้งที่ 110) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ได้รับทราบความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาและการเวนคืนอสังหาริม ทรัพย์โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการ พลังงานนำข้อสังเกตดังกล่าวไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีความสมบูรณ์ต่อไป
4. คณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน ได้ดำเนินการยกร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเสร็จ และได้ดำเนินการเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ในเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 และจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวม 4 ครั้ง ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวนทั้งสิ้น 1,001 คน ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจแสดงความคิดเห็นส่งความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ หรือทางจดหมายจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550
5. สรุปหลักการและองค์ประกอบของร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... สรุปได้ดังนี้
5.1 ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... มีหลักการ ดังนี้ (1) เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานครอบคลุมกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ (2)แยกบทบาทหน้าที่การกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการประกอบกิจการพลังงาน ออกจากกัน (3)ปรับปรุงขั้นตอนการขออนุญาตซึ่งต้องขออนุญาตตามกฎหมายอื่น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อความรวดเร็วและขจัดปัญหาความยุ่งยากแก่ผู้ประกอบกิจการพลังงาน (4) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตให้ครอบคลุมเรื่องการแข่งขันและ ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ ตลอดจนกำหนดมาตรฐานในการประกอบกิจการพลังงานและมาตรฐานคุณภาพบริการ (5) ให้การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน (6) ให้มี "กองทุนพัฒนาไฟฟ้า" เพื่อใช้อุดหนุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกล และเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค (7) ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตเพื่อประโยชน์ในการคุ้ม ครองผู้ใช้พลังงาน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน
5.2 ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ประกอบด้วย 9 หมวด และบทเฉพาะกาล ดังนี้ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 องค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน หมวด 3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน หมวด 4 การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน หมวด 5 การใช้อสังหาริมทรัพย์ หมวด 6 การพิจารณาข้อพิพาทและการอุทธรณ์ หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 8 การบังคับทางปกครอง หมวด 9 บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล
6. หลังจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นฯ คณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานได้นำข้อสังเกตของ กพช. และข้อคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นฯ และที่ผ่านเว็บไซต์ รวมทั้งจดหมาย มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการ พลังงาน พ.ศ. .... ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญที่มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ หลักการและเหตุผล อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา การถอดถอนคณะกรรมการ การรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า และการใช้อสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ ได้จัดทำบันทึกวิเคราะห์สรุปกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาตามรูปแบบการนำเสนอ ร่างกฎหมายใหม่ ประกอบด้วย (1) เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอขอให้มีกฎหมายใหม่ (2) ความเกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายของส่วนราชการต่างๆ ที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายอื่น (3)ข้อมูลและความเห็นของส่วนราชการหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง (4) การพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของขั้นตอนในการปฏิบัติตามร่างกฎหมายที่ เสนอ (5) ประเด็นความเห็นที่แตกต่างกันของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และ (6) เอกสารประกอบการพิจารณาร่างกฎหมาย ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... และสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมาย
7. อย่างไรก็ตาม ได้มีความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยประธานสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (นายศิริชัย ไม้งาม) ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์) เพื่อขอให้ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... และกระทรวงพลังงานได้พิจารณาเหตุผลและข้อเสนอของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งขอยกเลิกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ได้คำนึงถึงข้อกังวลของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทยและผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างรอบคอบแล้ว
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... โดยให้นำข้อสังเกตดังต่อไปนี้ เสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบการพิจารณาตรวจร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ต่อไป
1.การประกอบกิจการพลังงานในปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจนเหมาะสม โดยที่กิจการพลังงานบางประเภทเป็นกิจการผูกขาด มีผู้ประกอบการทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลด้วย อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการเอกชนหลายราย จึงจำเป็นต้องมีการแยกการกำกับดูแล การกำหนดนโยบาย และการประกอบกิจการพลังงานออกจากกัน เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานมีความชัดเจน โปร่งใส ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้ได้ โดยเร็ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการ โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2.เพื่อให้มีความชัดเจนในการจัดสรรการใช้เงิน "กองทุนพัฒนาไฟฟ้า" เห็นควรเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 8 (10) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอนโยบายในการจัดสรรเงินกองทุนต่อคณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ด้วย
3.การรอนสิทธิ์เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานในทรัพย์สินของชาวไทย โดยในการประกอบกิจการของภาคเอกชนจะต้องดำเนินการจัดการทรัพย์สิน โดยทำความตกลงซื้อหรือเช่า เพื่อประกอบกิจการเอง หากไม่มีความจำเป็นรัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการลงทุน หากมีความจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น
เรื่องที่ 3 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (กุมภาพันธ์ 2550)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ในเดือนมกราคม 2550 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 55.33และ 57.51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มจากเดือนมกราคม 3.50 และ 3.42 เหรียญสหรัฐต่อ บาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวโรงกลั่น Mckee บริษัท Valero ใน Texas ต้องหยุดดำเนินการหลังเกิด
เหตุเพลิงไหม้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และข่าวอิหร่านออกมาปฏิเสธข้อตกลงในการระงับการทดลองเสริมสมรรถนะแร่ ยูเรเนียม และจะยังคงดำเนินการทดลองต่อไป ตลอดจนจากข่าว The Huston Ship Channel ยังคงปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 เนื่องจากหมอกลงจัด ซึ่งส่งผลให้เรือขนส่งน้ำมันจำนวน 35 ลำ ไม่สามารถสูบถ่ายน้ำมันได้
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ในเดือนกุมภาพันธ์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 65.67 และ 64.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 4.07 และ 4.32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับจากข่าวมีการนำน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 400,000 ตัน จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไปขายในแถบตะวันตก และข่าว Taiwan's Formosa จะลดการส่งออกน้ำมันเบนซินเดือนมีนาคม 2550 ลงมาอยู่ที่ระดับ 60,000 ตัน เนื่องจากโรงกลั่นจะปิดซ่อมบำรุง ส่วนราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 70.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 4.26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามราคาน้ำมันดิบ และจากข่าวศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ส่งมอบเดือนมีนาคม 2550 ปริมาณ 400,000 ตัน และตลาดคาดว่า Arbitrage ไปยังตะวันตกอาจเปิดหลังเกิดเหตุท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปบริษัท TEPPCO รั่ว
3. ราคาขายปลีก ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง และปรับราคา น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 1 ครั้ง และลดลง 1 ครั้ง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 อยู่ที่ระดับ 25.99, 25.19 และ 22.94 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเดือนมีนาคม 2550
จากการคาดการณ์ราคาน้ำมันในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้ม ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ใน ระดับ 55 - 60 และ 58 - 63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 68 - 75 และ 65 - 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านกรณีโครงการนิวเคลียร์ และปัญหาการก่อการร้ายในสามเหลี่ยมไนเจอร์ของไนจีเรียที่อาจส่งผลกระทบต่อ การส่งออกของไนจีเรีย รวมทั้งประเทศต่างๆ จะเริ่มสั่งซื้อน้ำมัน เพื่อสำรองเพื่อเตรียมไว้ใช้สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยว (Driving season) นอกจากนี้จากราคา Naphtha ที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้โรงกลั่นต่างๆ ในเอเซียหันไปผลิต Naphtha มากขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นต่างๆ จะเริ่มปิดเพื่อซ่อมบำรุงประจำปีในช่วงต้นเดือนมีนาคม
5. สถานการณ์ก๊าซ LPG ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ปรับตัวลดลง 21 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 526 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคมีจำนวนมากด้วยความต้องการซื้อจากแถบตะวันตกลดลง ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 11.6865 บาท/กิโลกรัม และอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ที่จำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับ 1.6166 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 412.68 ล้านบาท/เดือน อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของก๊าซ LPG ส่งออกอยู่ที่ระดับ 3.6029 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 90.54 ล้านบาท/เดือน สำหรับแนวโน้มราคาก๊าซ LPG คาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 495 - 525 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากฤดูหนาว ใกล้สิ้นสุดลง ประมาณราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ที่ระดับ 11.6317 - 11.6847 บาท/กิโลกรัม อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ที่จำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับ 1.5618 - 1.6148 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 398.01 - 412.20 ล้านบาท/เดือน อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของก๊าซ LPG ส่งออก อยู่ที่ระดับ 3.0736 - 3.5858 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 77.24 - 90.11 ล้านบาท/เดือน ณ อัตราแลกเปลี่ยน 35.9169 บาท/เหรียญสหรัฐดอลลาร์
6. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 มีเงินสดสุทธิ 6,526 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 40,728 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 17,600 ล้านบาท หนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 11,333 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยตรึงราคาน้ำมันค้างชำระ 1,065 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 10,679 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 34,202 ล้านบาท โดยประมาณการรายได้สุทธิของกองทุนน้ำมันฯ เดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ระดับ 3,923 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากองทุนฯ จะมีเงินสะสมเพียงพอที่จะชำระหนี้ ได้หมดประมาณเดือนมกราคม 2551 แต่ทั้งนี้หนี้ของพันธบัตรงวดที่ 2 จำนวน 8,800 ล้านบาท จะต้องไถ่ถอนในเดือนตุลาคม 2551
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 การจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์) ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมพิจารณาดังนี้
1. เนื่องจากปัญหาการขยายตัวของกิจกรรมโครงการต่างๆ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและพลังงานในการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ อันได้แก่ NO2 , SO2, และ VOC ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมารัฐได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการจัดทำแผนลดการปล่อย มลพิษสำหรับโรงงานต่างๆ ประมาณ 200 โรงงาน และได้ดูแลชุมชนต่างๆ ภายในนิคมฯ มาบตาพุด ตลอดจนได้จัดตั้งกองทุนๆละ 10 ล้านบาท เพื่อดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบภายในจังหวัดระยอง นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนจาก Deutsche Gesellschaft Fur Technische Zusammenarbeit (GTZ) GmbH เพื่อศึกษาหาแนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ใน การบริหารจัดการมลพิษ ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อหาแนวทางการจัดการมลพิษ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป
2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่าเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว ทั้งในพื้นที่การนิคมอุตฯ มาบตาพุด และพื้นที่อื่นๆ จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาจัดเก็บเงินค่าการปล่อยมลพิษ โดยใช้กรณีพื้นที่จังหวัดระยองเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเงินที่จะจัดเก็บจะพิจารณานำเข้ากองทุนเพื่อบริหารจัดการสุขภาพอนามัย ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยประเด็นที่เสนอขอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณามีดังนี้
2.1 จัดตั้งคณะทำงานศึกษาการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ โดยองค์ประกอบคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจาก กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานและฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ และนำไปสู่การปฏิบัติได้โดยเร็ว โดยประเด็นที่จะทำการศึกษาประกอบด้วย 1) ดำเนินการศึกษาแนวทางการออกกฎหมายรับรอง (ออกกฎหมายใหม่ หรือปรับปรุงพระราชบัญญัติ โรงงาน) 2) หาแนวทางและวิธีการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ 3) หาอัตราการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ 4) ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.2 ให้ใช้แนวทางการจัดเก็บ Emission Charge ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ศึกษาไว้แล้วเป็นแนวทาง
มติของที่ประชุม
เห็นชอบตามข้อเสนอของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในข้อ 2.1 และ 2.2
เรื่องที่ 5 การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์
ประธานฯ ได้เสนอที่ประชุมว่า เนื่องจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกหนึ่งในการผลิตไฟฟ้า และต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี ประกอบกับเพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงใน การผลิตไฟฟ้า จึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงการจัดหาสถานที่ตั้งที่เหมาะสม การเตรียมการในด้านกฎหมาย การจัดเตรียมบุคลากร การสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสนอชื่อ ดร. กอปร กฤตยากีรณ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับไป พิจารณาดำเนินการร่วมกันต่อไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับไป ดำเนินการต่อไป
กพช. ครั้งที่ 110 - วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2550 (ครั้งที่ 110)
วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2.ความคืบหน้าในการดำเนินงานการลงทุนด้านต่างประเทศของ ปตท.สผ.
3.ความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....
4.รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่น ปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2549
5.รายงานผลการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง
6.ผลการดำเนินงานในการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการให้สัมปทานปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน
7.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มกราคม 2550)
8.การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 โดยมีเจตนารมย์ที่จะส่งเสริมในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคารเป็นสำคัญ ซึ่งได้ใช้บังคับ เป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงมีความ จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม ครอบคลุมกิจกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในทุกภาคส่วน และปรับเปลี่ยนเค้าโครงในการดำเนินการไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้ที่ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนสามารถนำไปประกาศใช้ได้อย่างรวดเร็วและสามารถปฏิบัติได้ทันเวลา ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่
2. เหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 1) เพื่อให้สามารถกำกับการใช้พลังงานและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ครอบคลุม ทุกภาคส่วน ที่มีการใช้พลังงาน รวมทั้งการใช้มาตรการการจัดการพลังงาน และเพิ่มกลไกการส่งเสริมและกำกับดูแลด้านประสิทธิภาพของการผลิต การจำหน่าย ยานพาหนะ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ และตรวจสอบการใช้พลังงานในกิจกรรมภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ให้มี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2) เพื่อให้ครอบคลุมการอนุรักษ์พลังงานในภาคส่วนคมนาคมขนส่ง ที่อยู่อาศัย และภาคเกษตรกรรม จึงควรมีการกำหนดค่าประสิทธิภาพของการผลิต การจำหน่ายยานพาหนะ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ และการเพิ่มกระบวนการมอบหมายให้บุคคลภายนอกเป็น ผู้ตรวจสอบพลังงานแทนเจ้าหน้าที่
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้แล้ว เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2550 โดยมีการระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ ที่ปรึกษา สมาคมการค้า กลุ่มอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ จำนวนรวม 50 ราย
3. สรุปสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย
3.1 แก้ไขบทนิยามของคำว่า "น้ำมันเชื้อเพลิง" และเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า "ยานพาหนะ" และคำว่า "การขนส่ง"
3.2 มาตรา 4 (3) เป็นการตัดเลขที่มาตราที่ยกเลิกออก และมาตรา 4 (8) เป็นการขยายอำนาจของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการส่งเสริมเรื่องยาน พาหนะ
3.3 มาตรา 6 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดให้ รมว. พน. มีอำนาจกำหนดกิจกรรมที่ต้องกำกับและอยู่ในข่ายการส่งเสริมฯ และกำหนดให้อำนาจ รมว. พน. ออกเป็นประกาศกระทรวง
3.4 มาตรา 9 เปลี่ยนวิธีการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานของโรงงานเป็นการจัดการ พลังงาน โดยยกเลิกหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และหน้าที่ของผู้รับผิดชอบด้านพลังงานของโรงงานในกฎหมายหลักมากำหนดเป็นกฎ กระทรวง และในรายละเอียดของกฎกระทรวงที่เป็นเรื่องเทคนิค วิชาการ หรือที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำมาออกเป็นประกาศกระทรวง
3.5 มาตรา 19 กำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่ที่มีปริมาณพื้นที่จำนวนมากต้องออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
3.6 มาตรา 21 เปลี่ยนวิธีการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานของอาคารเป็นการจัดการพลังงาน
3.7 มาตรา 23 เพิ่มการสนับสนุนด้านพาหนะ และการขนส่ง โดยกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กำหนดให้ผู้ผลิต จำหน่ายแสดงค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุรักษ์พลังงาน และกำหนดแนวทางในการนำมาตรฐานที่กำหนดไว้ไปประกาศเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม
3.8 มาตรา 24 วรรคสอง กำหนดให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้เก็บรักษาเงินแทนกระทรวงการคลัง
3.9 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เพิ่มให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการในคณะกรรมการ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3.10 มาตรา 28 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจบริหารจัดการเงินกองทุนฯ
3.11 มาตรา 34 และมาตรา 34/1 กำหนดแนวทางในการมอบอำนาจหน้าที่ให้คณะอนุกรรมการฯ ปฏิบัติงาน
3.12 มาตรา 38 ปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในกรณีล่าช้าและ ส่งเงินไม่ครบ โดยกำหนดมาตรการปรับเงินเพิ่มก่อนการส่งดำเนินคดี
3.13 มาตรา 40 เพิ่มขอบเขตการสนับสนุนสำหรับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายยานพาหนะ
3.14 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง , มาตรา 46 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ปรับแก้มาตรการให้สอดคล้องกัน (เปลี่ยนจากมาตรา 19 เป็นมาตรา 21)
3.15 มาตรา 47 มอบหมายหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรับรองการจัดการพลังงาน
3.16 หมวด 7/1 (โดยเพิ่มมาตรา 49/1-3) เป็นการเพิ่มโครงสร้างองค์กรที่ทำงานด้านตรวจสอบพลังงาน
3.17 มาตรา 51/1 เพิ่มสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ตรวจสอบพลังงาน
3.18 มาตรา 55 ปรับเปลี่ยนบทกำหนดโทษในการกำกับติดตามโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
3.19 มาตรา 59/1 กำหนดให้มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ตรวจสอบพลังงาน
3.20 ยกเลิกมาตรา 11 ถึงมาตรา 16 และมาตรา 22 เนื่องจากได้มีการกำหนดให้ใช้วิธีการ จัดการพลังงาน ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมตามมาตราดังกล่าวแล้ว
3.21 ยกเลิกมาตรา 56 ถึง 57 ได้มีการรวมลักษณะการกระทำความผิดไว้ในมาตรา 55 แล้ว
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการส่ง เสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ แล้วให้นำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 2 ความคืบหน้าในการดำเนินงานการลงทุนด้านต่างประเทศของ ปตท.สผ.
สรุปสาระสำคัญ
1. ในปี 2549 ปตท.สผ. ได้แปลงสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 6 แปลงบนบก และ 3 แปลงในทะเล จากในประเทศไทย อินโดนีเซีย โอมาน และอียิปต์ โดยมีรายได้สุทธิ 28,047 ล้านบาท และผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Average Capital Employ : ROACE) ร้อยละ 31 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนหนี้สินลดลงและมีปริมาณการขายประมาณ 169,348 บาร์เรลต่อวัน ณ ที่ระดับ 36.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (เป็นราคาเฉลี่ยทั้งก๊าซและน้ำมัน) โดยร้อยละ 80 ได้จากก๊าซฯ และมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วอยู่ประมาณ 923 ล้านบาร์เรล และมีการลงทุนรวม 35,158 ล้านบาท
2. ปตท.สผ. ได้เริ่มต้นดำเนินงานมาจากการเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ไทยเชลล์ฯ และได้เริ่มดำเนินการด้วยตนเองที่แหล่งก๊าซบงกชในอ่าวไทย และต่อมาเริ่มเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยได้ลงทุนในต่างประเทศไปแล้วทั้งหมด 9 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นย่านเอเชีย และแอฟริกาโดยเฉพาะประเทศแอลจีเรีย และอียิปต์ รวมทั้งที่อิหร่านใน Middle East ซึ่งเป็นแปลงสัมปทานบนบก กับที่โอมานบล็อคหมายเลข 58 กับบล็อคหมายเลข 44 โดยที่บล็อคหมายเลข 44 ได้เริ่มผลิตก๊าซฯ และคอนเดนเสทแล้วได้ประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 3,400 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ
3. ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการอยู่ทั้งหมด 35 โครงการ แบ่งตามภูมิภาคเป็นโครงการในประเทศไทย 17 โครงการ และต่างประเทศ 18 โครงการ อย่างไรก็ตาม หากแบ่งตามระยะขั้นตอนการสำรวจและผลิตมี 21 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการสำรวจ และ 2 โครงการอยู่ระหว่างการพัฒนา ส่วนที่เหลืออีก 12 โครงการอยู่ระหว่างการผลิตและเตรียมผลิต ทั้งนี้ โอกาสที่จะเพิ่มปริมาณสำรองหรือเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อนำรายได้จากต่าง ประเทศเข้าประเทศอยู่ในระดับสูงมาก นอกจากนี้จะได้จากเวียดนามในทะเลซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำมัน 2 แปลง สามารถผลิตได้แปลงละประมาณ 2 หมื่นบาร์เรล รวมทั้งที่ประเทศแอลจีเรียเป็นแหล่งน้ำมันบนบก 2 แปลง จะเริ่มผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณกลางปี 2551
4. สำหรับโครงการที่ถูกพัฒนาและผลิตที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการบงกช เป็นแหล่งก๊าซฯ ในทะเล โดย ปตท.สผ. ถือหุ้นอยู่ ร้อยละ 44.44 สามารถผลิตได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งน้ำมันดิบที่แหล่งสิริกิติ์ที่จังหวัดพิษณุโลกซึ่งจะผลิตได้ในไตร มาสที่ 4 ประมาณ 2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังได้ร่วมทุนกับบริษัท เชฟรอนฯ ในทะเล เป็นการผลิตน้ำมัน ในต่างประเทศและได้เริ่มผลิตแล้ว โดยน้ำมันทั้งหมดที่ผลิตได้จะถูกส่งกลับมาขายให้กับ ปตท. ในไทย สำหรับแหล่งอาทิตย์จะสามารถผลิตได้ในประมาณไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ส่วนแหล่งร่วมทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียจะผลิตได้ประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2552
5. ส่วนโครงการสำรวจที่สำคัญของ ปตท.สผ. ได้แก่ ประเทศพม่ามีทั้งหมด 5 บล็อคที่ ปตท.สผ. ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 100 ได้แก่ บล็อค M3, M4, M7, M9 และ M11 ปัจจุบันมุ่งพัฒนาในแหล่ง M9 มากที่สุด เนื่องจากมีศักยภาพสูง เจาะไปแล้ว 2 หลุมและประสบความสำเร็จ ขณะนี้ได้เตรียมเจาะหลุมที่สาม และหากสามารถเจาะหลุมที่สามได้สำเร็จจะเริ่มเจรจากับพม่าเพื่อขอให้ส่งก๊าซฯ มาขายให้ไทย และอาจต้องขอความร่วมมือจากภาครัฐ
6. ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีปริมาณการขายปิโตรเลียมประมาณ 170,000 บาร์เรลต่อวัน จากในประเทศ และคาดว่าจะมีปริมาณการขายเข้ามาจากแหล่งโอมานในปีหน้า ทั้งนี้ ปตท. สผ. ยังคงต้องมองแหล่งอื่นๆ เช่น เวียดนาม ขณะที่ปริมาณสำรองที่มีอยู่เพื่อใช้ในการผลิตจะเป็นแหล่งสำรองจากต่างประเทศ ประมาณ ร้อยละ 29 และในประเทศประมาณร้อยละ 71 โดยคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า หากแหล่งสำรวจต่างๆ กลายเป็นแหล่งที่พัฒนาเพิ่มผลผลิต จะทำให้ปริมาณการสำรองพลังงานของประเทศเพิ่มสูงมากขึ้น
7. สำหรับแผนการพัฒนาการลงทุนในต่างประเทศของ ปตท. สผ. ใน 5 ปีข้างหน้า ได้เลือกลงทุนจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ประเทศที่เป็นแหล่งน้ำมันใหญ่ของโลก ความเสี่ยงทางด้านธรณีวิทยา สถานการณ์ทางการเมือง สภาพภูมิประเทศ คู่แข่ง และเงื่อนไขการให้สัมปทาน เป็นต้น โดยคาดว่าประเทศที่น่าจะเข้าไปลงทุน ได้แก่ รัสเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ พม่า และเวียดนาม โดยที่ ปตท.สผ. ได้ลงทุนจำนวนมากในประเทศพม่า ซึ่งมีแปลงของ ปตท.สผ. 5 แปลงสัมปทาน และร่วมลงทุน กับบริษัท โทแทล กับบริษัท เชฟรอน 2 แปลงสัมปทาน ผลิตได้ประมาณวันละ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน โดยนำเข้ามาไทยทางบ้านอีต่อง ขณะเดียวกันได้มีการลงทุนร่วมกับรัฐบาลมาเลเซีย นอกจากนั้นมีแหล่งก๊าซฯ ในทะเลของบังคลาเทศใกล้กับพม่า และในกัมพูชาที่แหล่งบีนอกชายฝั่งของกัมพูชา
8. ปตท.สผ. ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่จะร่วมทุนเพื่อจะผลิตและขายก๊าซฯ แล้ว ในแหล่งก๊าซฯ ในทะเลของบังคลาเทศ รวมทั้งในตะวันออกกลาง ปตท.สผ. ได้มีการลงทุนใน 2 ประเทศ คือ โอมาน อิหร่าน และบาร์เรนซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศในทวีปต่างๆ ที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมของโลก ปตท. สผ. ได้เข้าหารือเพื่อการลงทุน แต่ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเลือกประเทศที่มีบริษัทเป็น Partner กับ ปตท.สผ. อยู่แล้ว เช่น โทแทล เชฟรอน และ ปิโตรนัส หรือที่จีนไปลงทุนอยู่ รวมทั้งระยะห่างระหว่างประเทศเพื่อการนำก๊าซธรรมชาติเข้ามาใช้ได้ในรัศมีการ วางท่อประมาณ 2,000 กิโลเมตร ซึ่งจะมีจุดคุ้มทุน และสามารถแข่งขันกับ LNG ได้
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 ความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 เรื่องแนวทางการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยเห็นควรให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... โดยให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานมีประสิทธิผลสูงสุดในระยะยาว ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ตลอดจนนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนกำหนดกระบวนการและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนจากการออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน
2. สนพ. ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... โดยได้นำบทบัญญัติจากร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการไฟฟ้า พ.ศ. .... ที่ได้ยกร่างไว้เมื่อปี 2548 และได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการยกร่างพระราช บัญญัติการประกอบกิจการไฟฟ้า และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายระดับกรมและระดับกระทรวงแล้วนำมาปรับปรุง รวมทั้งได้พิจารณานำบทบัญญัติบางมาตราของร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการ ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาปรับปรุงเพิ่มเติม และได้นำเสนอคณะอนุกรรมการยกร่างฯ พิจารณาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2549 จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2550 โดยคณะอนุกรรมการยกร่างฯ ได้มีการประชุมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
2.1 หลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... คือ 1) เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานครอบคลุมกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยไม่ก้าวล่วง กิจการปิโตรเลียมซึ่งมีกฎหมายอื่นกำกับดูแลอยู่แล้ว 2) แยกบทบาทหน้าที่การกำกับดูแลและการกำหนดนโยบายออกจากกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนดนโยบาย และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงาน 3) กกพ. แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี เนื่องจากต้องปฏิบัติงานภายใต้นโยบายรัฐ แต่เพื่อให้มีการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ จึงกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนได้ 4) ปรับปรุงขั้นตอนการขออนุญาตซึ่งต้องขออนุญาตตามกฎหมายอื่น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานมีผลใช้บังคับ 5) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตให้ครอบคลุมเรื่องการแข่งขันและ ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ ตลอดจนกำหนดมาตรฐานในการประกอบกิจการพลังงานและมาตรฐานคุณภาพบริการ 6) ให้มี "กองทุนพัฒนาไฟฟ้า" เพื่อใช้อุดหนุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกล และเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และ 7) ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตเพื่อประโยชน์ในการคุ้ม ครองผู้ใช้พลังงาน
2.2 ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ประกอบด้วย 9 หมวด และบทเฉพาะกาล ดังนี้ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 องค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน หมวด 3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน หมวด 4 การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน หมวด 5 การใช้อสังหาริมทรัพย์ หมวด 6 การพิจารณาข้อพิพาทและการอุทธรณ์ หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 8 การบังคับทางปกครอง หมวด 9 บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล
2.3 สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ได้มีการ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสรุปจากการประชุมของคณะอนุกรรมการยกร่างฯ แล้วในเบื้องต้น และเมื่อคณะอนุกรรมการยกร่างฯ ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... แล้วเสร็จ จะจัดให้มีการสัมมนารับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวก่อนนำเสนอ กพช. และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อสังเกตุจากที่ประชุมไปใช้ประกอบการปรับปรุง แก้ไขร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนต่อไป
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2549
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 ข้อ 13 กำหนดให้ สนพ. จัดทำงบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุน ณ วันสิ้นปีงบประมาณส่งคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่น ปิโตรเลียม เพื่อเสนอ รมว. พน. เพื่อทราบ และนำเสนอ กพช. เพื่อทราบภายในสามสิบวันทำการนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
2. คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2549 ซึ่งสาระสำคัญผลการดำเนินงานของกองทุนฯ สรุปได้ดังนี้
2.1 รมว. พน. ได้พิจารณาเห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2547-2549 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 ภายใต้กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 30 ล้านบาท ปีละ 10 ล้านบาท โดยแบ่งออกตามหมวดรายจ่ายต่างๆ เป็น 6 รายการ ได้แก่ 1) การค้นคว้าวิจัยและการศึกษา 2) การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ 3) เงินทุนการศึกษาและฝึกอบรม 4) การเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม ฯลฯ 5) การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน และ 6) ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน
2.2 ตามข้อ 10 ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจหน้าที่ปรับปรุงการจัดสรรเงินตามแผนการใช้จ่ายเงินได้ตามความจำเป็น และเหมาะสมภายในวงเงินรวมดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติปรับปรุงแผนการใช้จ่ายเงินตามหมวดรายจ่ายต่าง ๆ ของปีงบประมาณ 2549 ให้เหมาะสมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ดังนี้
(หน่วย : บาท)
หมวดรายจ่าย | แผนการใช้จ่ายเงิน ปีงบประมาณ 2549 | |
ก่อนปรับปรุง | ปรับปรุงใหม่ | |
1. การค้นคว้า วิจัย และการศึกษา | 0 | 0 |
2. การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ | 0 | 0 |
3. เงินทุนการศึกษา และฝึกอบรม | 6,000,000 | 5,157,000 |
4. การเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา | 2,000,000 | 4,543,000 |
5. การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน | 1,700,000 | 0 |
6. ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน | 300,000 | 300,000 |
รวม | 10,000,000 | 10,000,000 |
2.3 ในปี 2549 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนฯ ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานในหมวดเงินทุนศึกษาและฝึกอบรม จำนวน 550,000 บาท และหมวดการเดินทางศึกษาดูงาน จำนวน 4,543,000 บาท 2) สนพ. ในหมวดเงินทุนศึกษาฯ จำนวน 550,000 บาท และหมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน จำนวน 300,000 3) กรมธุรกิจพลังงาน 4) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ และ 5) กรมบัญชีกลาง ในหมวดเงินทุนการศึกษาฯ จำนวน 1,150,000 บาท, 2,550,000 บาท และ 268,100 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,911,100 บาท
2.4 สรุปคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2549ในหมวดต่างๆ รวมเป็นเงิน 9,911,100.00 บาท โดยได้เบิกจ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 5,840,102.13 บาท คงเหลือผูกพันไป ปี 2550 เป็นจำนวนเงิน 1,373,900.00 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดทุนการศึกษาและฝึกอบรม และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 ฐานะการเงินของกองทุนมีสินทรัพย์ 413,381,908.49 บาท โดยมีงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549 มีรายได้สูงกว่า ค่าใช้จ่ายสุทธิ 10,172,615.33 บาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 รายงานผลการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง และคณะอนุกรรมการติดตามผลการส่งเสริมการใช้ NGV ในภาคขนส่ง ได้เร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง โดยผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ณ วันที่ 31 มกราคม 2550 มีจำนวนรถ NGV ทั้งหมด 26,985 คัน แบ่งเป็นรถเบนซินและรถดีเซลที่ดัดแปลงเป็น NGV จำนวน 23,496 และ 2,618 คัน ตามลำดับ และรถ NGV จำนวน 413 คัน และสถานีบริการ NGV จำนวน 104 สถานี ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 73 สถานี และต่างจังหวัด 31 สถานี โดยมีบริษัทรับติดตั้งอุปกรณ์ NGV จำนวน 121 บริษัท
2. สำหรับโครงการสนับสนุนการใช้ NGV ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการ ประกอบด้วย 8 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการนำร่องรถดีเซลใหญ่ใช้ NGV โดยได้ติดตั้งแล้วเสร็จ 176 คัน และจะขยายผลการติดตั้งเป็น 1,244 คัน ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯ จำนวน 40 ล้านบาท 2) โครงการส่งเสริมการใช้ NGV ในรถยนต์ราชการ เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ NGV ในรถยนต์ราชการทั้งหมด จำนวน 1,209 คัน (ณ 30 กันยายน 2549) ใน 21 หน่วยงาน ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งทั้งหมดจำนวน 66,091,653 บาท 3) โครงการดัดแปลงรถแท็กซี่ LPG และแท็กซี่เบนซินเป็นรถ NGV ได้ติดตั้งไปแล้วเสร็จจำนวน 2,807 คัน (รถแท็กซี่ LPG 1,261 คัน และรถเบนซิน 1,606 คัน) 4) โครงการ NGV เพื่อคุณ สำหรับรถเก๋ง รถตู้ รถกระบะ ปตท. ช่วยเหลือค่าติดตั้งอุปกรณ์ NGV 10,000 บาท/คัน ติดตั้งแล้วเสร็จ 10,529 คัน 5) โครงการรถโดยสาร ขสมก. ใช้ NGV ขสมก. อยู่ระหว่างจัดหารถโดยสารใหม่ใช้ NGV 2,000 คัน และรถโดยสารเก่าได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากเงินกองทุนฯ จำนวน 2,000 ล้านบาท 6) โครงการเงินทุน หมุนเวียน 7,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงเครื่องยนต์เป็น NGV ปัจจุบันได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว ทั้งหมด 242 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติ 632 ล้านบาท 7) โครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่ง โดย สนพ.ได้ดำเนินโครงการระหว่างเดือนมิถุนายน 2549 - มกราคม 2550 และ 8) โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ก๊าซNGV ในรถยนต์ โดยกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อส่งเสริมการเป็นผู้ตรวจสอบความปลอดภัยในการดัดแปลงเครื่องยนต์ NGV ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2549
3. มาตรการสำคัญด้านภาษีและการส่งเสริมการลงทุนเพื่อส่งเสริมนโยบายการใช้ NGV ที่ได้ดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย การยกเว้นอากรนำเข้าถังบรรจุก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซ ธรรมชาติในรถยนต์ (Conversion Kits) เครื่องยนต์ NGV ตามประกาศกระทรวงการคลัง และลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ติดตั้งอุปกรณ์ NGV จากโรงงานผลิตรถยนต์โดยตรง จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 รวมทั้งยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งระบบ NGV - Retrofit เท่ากับค่าใช้จ่ายจริงในการติดตั้งชุดอุปกรณ์ NGV ตลอดจน การได้รับสิทธิพิเศษจาก BOI ในการส่งเสริมกิจการลงทุนที่เกี่ยวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันนโยบายการใช้ NGV ในภาคขนส่ง และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 กระทรวงพลังงานได้ร่วมหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมกันเร่งผลักดันมาตรการต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2550 ประกอบด้วยมาตรการปรับเปลี่ยนรถโดยสารของ ขสมก./บขส. เป็นรถ NGV โครงการสามล้อเอื้ออาทร การผลักดันให้รถบรรทุกสินค้าใช้ NGV การออกกฎหมายบังคับให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ใช้ก๊าซ NGV และการแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง
5. จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้เกิดปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการขยายตลาด NGV ดังนี้ 1) การก่อสร้างสถานี NGV ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 2) การขยายจำนวนผู้ใช้รถ NGV โดยผู้ใช้ไม่มั่นใจในมาตรฐานการติดตั้งและความปลอดภัย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและดัดแปลงเครื่องยนต์ยังและ อยู่ในระดับสูง และ 3) ความไม่ชัดเจนในการยกเลิกการชดเชยราคา LPG ความล่าช้าในการออกมาตรการกำหนดให้รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก จดทะเบียนใหม่เป็นรถ NGV การบังคับให้รถหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ปรับเปลี่ยนเป็นรถ NGV และความล่าช้าในปรับเปลี่ยนรถโดยสารของ ขสมก. และ บขส. เป็นรถ NGV รวมทั้งปัญหาการกำหนดคุณภาพก๊าซ NGV
6. จากปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ปตท. จึงปรับเป้าหมายใหม่โดยมุ่งเน้นกลุ่มรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก/รถหัวลาก และปรับลดเป้าหมายการขยายรถยนต์ NGV ในปี 2554 จากเป้าหมายเดิม 500,000 คัน เป็น 256,600 คัน แบ่งเป็นจากกลุ่มรถเบนซิน 160,000 คัน กลุ่มรถดีเซล 96,600 คัน และในส่วนของสถานีบริการ NGV ในปี 2554 จะมีจำนวนสถานี NGV สะสม 535 สถานี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เป้าหมายการขยายจำนวนรถ ปี 2549 - 2554
(คัน)
จำนวนรถสะสม | 2549 | 2550 | 2551 | 2552 | 2553 | 2554 |
เบนซิน | ||||||
รถเก๋ง | 13,600 | 26,000 | 41,000 | 59,000 | 81,000 | 108,000 |
รถแท็กซี่ | 9,000 | 25,000 | 32,000 | 40,000 | 45,000 | 50,000 |
รถตุ๊กตุ๊ก | 290 | 1,000 | 1,700 | 2,000 | 2,000 | 2,000 |
รวมรถเบนซิน | 22,890 | 52,000 | 74,700 | 101,000 | 128,000 | 160,000 |
ดีเซล | ||||||
รถ ขสมก. | 40 | 1,500 | 3,000 | 4,000 | 4,000 | 4,000 |
รถร่วม ขสมก. | 200 | 1,200 | 2,000 | 3,000 | 4,000 | 4,000 |
รถตู้ ขสมก./ร่วม | 210 | 650 | 1,300 | 2,300 | 3,600 | 3,600 |
รถ บขส./ร่วม | 20 | 500 | 1,500 | 2,500 | 3,500 | 5,000 |
รถบรรทุก/หัวลาก | 780 | 3,000 | 14,000 | 35,000 | 60,000 | 75,000 |
รถกระบะ | 1,700 | 3,000 | 2,500 | 3,500 | 4,500 | 5,000 |
รวมรถดีเซล | 2,950 | 8,850 | 24,300 | 50,300 | 79,600 | 96,600 |
รวมทั้งหมด | 25,840 | 60,850 | 99,000 | 151,300 | 207,600 | 256,600 |
แผนขยายสถานีบริการ NGV ปี 2549 - 2554
(สถานี)
ภาค | 2549 | 2550 | 2551 | 2552 | 2553 | 2554 |
กทม. - ปริมณฑล | 24 | 181 | 212 | 253 | 277 | 285 |
ภาคกลาง | 10 | 56 | 85 | 100 | 115 | 140 |
ภาคเหนือ | 1 | 10 | 15 | 22 | 28 | 40 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | 5 | 15 | 25 | 35 | 40 | 50 |
ภาคใต้ | 5 | 8 | 13 | 15 | 20 | 20 |
จำนวนสถานีสะสม | 116 | 270 | 350 | 425 | 480 | 535 |
7. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงต้องมีมาตรการที่ควรดำเนินการ ดังนี้
(1) นำเสนอคณะรัฐมนตรีขอแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 เพื่อขอผ่อนผันให้สามารถเปิดสถานี NGV ในกรุงเทพฯ บนถนนที่มีเขตทางน้อยกว่า 16 เมตร
(2) ขสมก. เร่งการจัดซื้อรถโดยสาร NGV ใหม่ พร้อมทั้งเร่งดัดแปลงรถโดยสารที่มีอยู่ปัจจุบันเป็นรถ NGV
(3) กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการสนับสนุนโดยยกเว้นภาษีนำเข้ารถบรรทุก/รถโดยสาร CBU/CKD
(4) เร่งหาข้อสรุปเรื่องการกำหนดมาตรฐานคุณภาพก๊าซฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ NGV จากโรงงานให้เข้ามาทำตลาดรถยนต์ NGV
(5) ขยายสถานีบริการ NGV ไปตามเส้นทางขนส่งสายหลักรองรับรถบรรทุก/รถโดยสาร เพื่อกระตุ้นการเพิ่มขึ้นของรถ NGV
8. อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการทั้งในส่วนของมาตรการกำกับดูแลและมาตรการส่ง เสริม โดยในส่วนของการกำกับดูแล ภายในปี 2550 กรมธุรกิจพลังงานจะออกประกาศจำนวน 12 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน การเก็บรักษา การจำหน่าย การขนส่ง การใช้ซึ่งจะครอบคลุมไปถึง LNG ที่จะมีการนำเข้าในอนาคต ในส่วนของการส่งเสริมกรมธุรกิจพลังงานได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยอาชีวศึกษา จัดโครงการฝึกอบรมรับบุคลากรด้านการติดตั้ง บุคลากรด้านการตรวจสอบ และวิทยากรสอน ซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอเนื่องจาก NGV เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย รวมทั้ง ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมความรู้แก่ผู้ใช้รถและประชาชนทั่วไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้เห็นชอบตามมติ กพช. ครั้งที่ 4/2549 (ครั้งที่ 107) ในเรื่องนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ซึ่งกำหนดให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสม และการปรับโครงสร้างบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม
2. กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขกฎกระทรวง ประกาศต่างๆ รวมทั้งการให้สัมปทานปิโตรเลียมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ในช่วงปี 2549 จนถึงปัจจุบันสามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้
2.1 กรมธุรกิจพลังงาน ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง จำนวน 1 ฉบับ คือ กฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 และประกาศกระทรวงพลังงาน จำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษาและมาตรฐานความปลอดภัยทาง ด้านก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการกำหนดแบบและรายการบัญชีเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันที่จะนำเข้ามาใน อาณาจักรของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 10 นอกจากนี้ ได้ออกประกาศกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 6 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการกำหนดคุณลักษณะและคุณภาพน้ำมันชนิดต่างๆ รวมทั้ง อัตราสำรองน้ำมัน
2.2 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ดำเนินการปรับปรุงคำสั่งนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ฉบับ ที่มีอยู่เดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งได้ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จำนวน 1 ฉบับ เกี่ยวกับการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และนำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร และประกาศต่างๆ จำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก สำหรับการผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชิงพาณิชย์ระบบ Cogenaration
2.3 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีการออกสัมปทานปิโตรเลียมตามประกาศเชิญชวน ครั้งที่ 19 จำนวน 4 ครั้ง รวม 20 แปลง แยกเป็นในอ่าวไทย 9 แปลง ในทะเลอันดามัน 3 แปลง และ บนบก 8 แปลง
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 7 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มกราคม 2550)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ในเดือนมกราคม 2550 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 51.63 และ 54.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 7.06 และ 8.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจาก DTN Meteorlogix และ AccuWeather พยากรณ์อุณหภูมิในสหรัฐอเมริกาจะยังคงอบอุ่นกว่าระดับปกติ และโอเปคยังไม่ลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม และสหประชาชาติคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2550 จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ในเดือนมกราคมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 61.51 และ 60.21 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 6.66 และ 6.82 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและการลดปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียในเดือน กุมภาพันธ์ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.82 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปของสิงคโปร์เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 8.60 ล้านบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 65.91 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2549 3.85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากจีนยังคงชะลอการเข้าซื้อในตลาดโดยลดปริมาณการนำเข้าลง ในเดือนมกราคม 2550 เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลง
3. ราคาขายปลีก ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลดลง 3 ครั้ง และปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลง 2 ครั้ง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 มกราคม 2550 อยู่ที่ระดับ 25.19, 24.39 และ 22.54 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมัน
จากการคาดการณ์ราคาน้ำมันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 50 - 55 และ 53 - 58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 60 - 65 และ 63 - 68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากประธานกลุ่มโอเปคยืนยันว่า กลุ่มโอเปคจะยังคงข้อตกลงเดิมที่เมืองโดฮาจะลดกำลังการผลิตลง 500,000 บาร์เรล/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 และราคา น้ำมันดิบที่ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นราคาที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มโอเปคแล้ว
5. สถานการณ์ก๊าซ LPG ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนมกราคม 2550 ปรับตัวสูงขึ้น 61 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 547 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากความต้องการซื้อในภูมิภาคมีจำนวนมาก และอุปทานในแถบตะวันออกกลางมีความตึงตัว ประกอบกับอัตราค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 11.8089 บาท/กิโลกรัม และอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ที่จำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับ 1.7390 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 485.43 ล้านบาท/เดือน อัตราเงินส่งเข้า กองทุนฯ ของก๊าซ LPG ส่งออก อยู่ที่ระดับ 3.9575 บาท/กิโลกรัม คิดเป็น 116.07 ล้านบาท/เดือน สำหรับแนวโน้มราคาก๊าซ LPG คาดว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกจะอ่อนตัวลงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 490 - 495 เหรียญสหรัฐ/ตัน
6. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2550 มีเงินสดสุทธิ 4,017 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 41,575 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 17,600 ล้านบาท หนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 11,333 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยตรึงราคาน้ำมันค้างชำระ 1,211 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 11,431 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 37,558 ล้านบาท โดยประมาณการรายได้สุทธิของกองทุนน้ำมันฯ เดือนกุมภาพันธ์ 2550 อยู่ที่ระดับ 3,923 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากองทุนฯ จะมีเงินสะสมเพียงพอที่จะชำระหนี้ ได้หมดประมาณเดือนธันวาคม 2550
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 8 การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ตามปริมาณพลังไฟฟ้าที่ผลิตและขายเข้าระบบสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุน เวียน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบ อื่นๆ แล้ว โดยให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอภายในปี 2551
2. ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แยกตามประเภทเชื้อเพลิง มีรายละเอียดดังนี้
เชื้อเพลิง/เทคโนโลยี | ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) |
ชีวมวล1/ | 0.30 |
พลังน้ำขนาดเล็ก (50-200 กิโลวัตต์) | 0.40 |
พลังน้ำขนาดเล็ก (< 50 กิโลวัตต์) | 0.80 |
ขยะ 2/ | 2.50 |
พลังงานลม | 2.50 |
พลังงานแสงอาทิตย์3/ | 8.00 |
หมายเหตุ:
1/ ชีวมวล หมายถึง กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร หรือกากจากการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เศษไม้ หรือไม้จากการปลูกป่าเป็นเชื้อเพลิง
2/ ขยะ หมายถึง ขยะชุมชนทุกเทคโนโลยี
3/ พลังงานแสงอาทิตย์ หมายความรวมถึงการนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ในการผลิตน้ำร้อนเพื่อผลิตไฟฟ้า (Solar Thermal)
ทั้งนี้รายละเอียดสาระสำคัญการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เป็นไปตามประกาศของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
3. ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ
3.1 ยุทธศาสตร์ส่งเสริมพลังงานทดแทนกำหนดเป้าหมายในปี 2554 ให้มีการใช้ประโยชน์จากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมและมูลของเสียจากฟาร์มปศุ สัตว์มาผ่านกระบวนการบำบัดและผลิตเป็นก๊าซชีวภาพใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถทดแทนพลังงานเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 14 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นพลังงานในรูปความร้อนประมาณ 186 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ
3.2 จากการศึกษาศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพของประเทศไทย ในกรณีน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีสารอินทรีย์ในปริมาณสูง กล่าวคือ มีค่าปริมาณออกซิเจนทั้งหมดที่ต้องการใช้ เพื่อออกซิเดชันสารอินทรีย์ในน้ำ ให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (Chemical Oxygen Demand : COD) และปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในเวลา 5 วัน ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส (ฺBiochemical Oxygen Demand: BOD) สูง จากการประเมินเบื้องต้นพบว่ามีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงาน อุตสาหกรรม 7 ประเภท ได้แก่ โรงงานแป้งมันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุราและเบียร์ เอทานอล ยาง อาหาร และกระดาษ ประมาณ 943 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และศักยภาพจาก มูลสัตว์หรือน้ำเสียในฟาร์มปศุสัตว์ประมาณ 560 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยฟาร์มที่มีศักยภาพมากที่สุดได้แก่ ฟาร์มสุกร สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
3.3 การใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนจึงมีศักยภาพควรได้รับการส่งเสริมให้เป็น พลังงานทดแทน ประกอบกับปัจจุบันผู้ประกอบการและเจ้าของฟาร์ม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการลงทุน นำวิธีการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อ เพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในโรงงาน ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในโรงงาน ลดต้นทุนการผลิตช่วยบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นและช่วยลดกลิ่นและแมลงวัน ซึ่งปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่มีความสนใจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการลงทุนในระบบผลิตและเก็บก๊าซชีวภาพ และระบบผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม ประมาณ 55-65 ล้านบาท สำหรับการผลิตไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของระบบบำบัดน้ำเสียและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีกประมาณ 5-6 ล้านบาทต่อปี ทำให้ระยะเวลาการคืนทุนการผลิตไฟฟ้าเมื่อคิดจากอัตราค่าไฟฟ้าฐานนานถึง 15 ปี หากจะให้การลงทุนมีระยะเวลาคืนทุนที่จูงใจภาคเอกชนที่ประมาณ 5-6 ปี จะต้องได้รับการสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีกประมาณ 0.30-0.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
3.4 ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอว่าเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำเสียหรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือฟาร์มปศุสัตว์ จึงควรให้การสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง โดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.30 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวัน เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
มติของที่ประชุม
1.เห็นควรให้การสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อ ไฟฟ้าจาก VSPP ที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง เท่ากับ 0.30 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD)
2.มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายออกประกาศเพิ่มเติม เพื่อให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าตามระเบียบ VSPP ที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงต่อไป
กพช. ครั้งที่ 109 - วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2549
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 6/2549 (ครั้งที่ 109)
วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1. การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535
2. การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
3. การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543
4. การยกร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียมพ.ศ. 2514
5. การยกร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 จำนวน 5 ฉบับ
6. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระบบ Cogeneration
8. มาตรการประหยัดพลังงานของส่วนราชการ
9. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2549
10. สถานการณ์พลังงานในปี 2549 และแนวโน้มปี 2550
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชบัญญัติคณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกำกับดูแลประสานงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานด้านพลังงานของหน่วยงานต่างๆ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ (สพช.) หรือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ในปัจจุบัน เป็นหน่วยงานระดับกรมขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของ กพช.
2. จากผลการปฏิรูประบบราชการในปี 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 ทำให้มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้น และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในปี 2545 เพียงบางส่วนเท่าที่จำเป็น คือ (1) แก้ไขชื่อหน่วยงาน 2 หน่วยงาน คือ จาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ เป็น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และ จาก กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เป็น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (2) แก้ไขชื่อหัวหน้าส่วนราชการ 2 หน่วยงาน คือ จาก เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และ จาก อธิบดีกรมพัฒนาและ ส่งเสริมพลังงาน เป็น อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ (3) เปลี่ยนแปลงกรรมการใน กพช. จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและ การพลังงาน เป็น รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน
3. ในการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ได้ส่งผลให้องค์ประกอบของ กพช. ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากปลัดกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีชื่อปรากฎเป็นกรรมการของ กพช. และยังคงมีข้อความที่ ระบุว่า ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงพลังงาน ตลอดจนการกำหนดนโยบายพัฒนาด้านพลังงานจะเกี่ยวโยงกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและการดูแลรักษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่ รมว.กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้เป็นกรรมการของ กพช.
4. เพื่อให้ พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และมีองค์ประกอบของ กพช. ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานจึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ดังนี้
4.1 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในมาตรา 5 ได้แก่ (1) เปลี่ยนแปลงกรรมการ จาก ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ(2) เพิ่มเติม รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกรรมการ กพช. และ(3) เปลี่ยนแปลงกรรมการจาก อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็น ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อการประสานนโยบาย และนำนโยบายไปปฏิบัติ
แก้ไขปรับปรุงข้อความในมาตรา 13 คือ (1) มาตรา 13 วรรคแรก ตัดคำว่า “ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” ออก เนื่องจากปัจจุบัน สนพ. ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเพิ่มข้อความท้ายวรรคแรก “โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ” และ (2) ตัดข้อความในมาตรา 13 วรรคสอง และวรรคสามออก
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เรื่องที่ 2 การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
สรุปสาระสำคัญ
1. กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) มีกฎหมายหลักในการกำกับ ดูแล จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1) พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 (2) พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 (3) ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว และ (4) ประกาศกระทรวงพลังงาน ออกตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เรื่อง เกี่ยวกับหลักเกณฑ์สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV)
2. พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ซึ่งมีสาระสำคัญในการกำกับ ดูแล หลักเกณฑ์ มาตรฐานความปลอดภัย เฉพาะผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว ได้มาจากปิโตรเลียม แต่ไม่รวมถึง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล จึงไม่มีหลักเกณฑ์ มาตรฐานด้านความปลอดภัยในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกนำมาเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะเอทานอล ได้นำมาเก็บรวมไว้กับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ ตามกฎหมาย จึงเป็นปัญหาในการกำกับ ดูแล ด้านความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบัน ธพ. นำหลักเกณฑ์ของการเก็บรักษาน้ำมันเบนซินมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการดูแล แต่ไม่สามารถพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตได้ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันฯ 2542 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับท่อขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งอาจมีบางส่วนก้าวล้ำเข้าไปในท่อน้ำมันเชื้อเพลิง ท่อก๊าซ ที่อยู่ในความดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานแก่ผู้รับสัมปทานตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ จึงกำหนดข้อยกเว้นไว้ ส่วนด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการเก็บรักษา การขนส่ง ยังคงให้ปฏิบัติตามกฎหมายนี้
3. กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันฯ โดยได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่ประกอบด้วยส่วนราชการต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันปิโตรเลียมและบริษัทผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และผ่านการพิจารณาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงพลังงาน
4. สรุปสาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
4.1 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514
4.2 มาตรา 4 ปรับปรุงนิยามคำว่า น้ำมันเชื้อเพลิง หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันหล่อลื่น และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นสิ่งหล่อลื่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ หรือ สิ่งอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นหรือผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้น และ หมายความรวมถึงสิ่งอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นสิ่งหล่อลื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนดให้เป็น น้ำมันเชื้อเพลิง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เป็นนิยามเช่นเดียวกันกับพระราชบัญญัติการค้ำน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543)
4.3 มาตรา 5 เพิ่มเติมประเภทของการประกอบกิจการ บริเวณที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตและตัดข้อยกเว้นสถานที่ในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของโรงกลั่นหรือผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ในคำนิยาม คลังน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้การกำกับ ดูแล ระบบความปลอดภัย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การนำไปใช้ในกระบวนการผลิต การเก็บรักษา การขนส่ง การใช้ การจำหน่าย การแบ่งบรรจุ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งเป็นก๊าซที่มีความดันสูงและไวไฟมาก (เดิมมีการกำกับ ดูแลแล้วตาม ปว 28)
4.4 มาตรา 6 พระราชบัญญัตินี้ไม่บังคับใช้กับการประกอบกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ยกเว้น ความปลอดภัยของการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง และการขนส่งโดยเฉพาะขนส่งทางบก ยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติ นี้
4.5 มาตรา 7 กำหนดให้มีการกำหนดรายละเอียดที่เป็นด้านเทคนิคหรือเป็นเรื่องที่ต้อง เปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามสภาพสังคม ให้รัฐมนตรีสามารถออกเป็นประกาศได้
4.6 มาตรา 8 ตัดรายชื่อกรรมการบางท่านออก คือ อธิบดีกรมทะเบียนการค้าและการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยออก และเพิ่มกรรมการ คือ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและการมีส่วนเกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเพิ่มคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อความชัดเจน
4.7 มาตรา 9 เป็นการแก้ไขมาตรา 17 โดยตัดข้อยกเว้นการมีน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ต้องขออนุญาตออก เพื่อให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ในการกำหนดประเภทของกิจการ ต้องแจ้งหรือขออนุญาตตามความจำเป็นและจะทำให้รัฐมีข้อมูลครบถ้วนของปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง สถานที่เก็บ สถานที่ใช้ สำหรับการดูแล ตรวจตราด้านความปลอดภัย
4.8 มาตรา 10 คำขอและการอนุญาตตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบให้ถือเป็นคำขอตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
4.9 มาตรา 11 กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขที่ออกตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขออกมาแทน
4.10 มาตรา 12 กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง หรือเงื่อนไขที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ที่มีอยู่ก่อนไม่ใช้บังคับการประกอบกิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ
4.11 มาตรา 10, 11, 12 เป็นบทเฉพาะกาลเพื่อไม่ให้กระทบกับการประกอบกิจการที่ดำเนินการตามกฎหมายเดิมจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับตามกฎหมายนี้มาใช้แทน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เรื่องที่ 3 การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 เป็นบทบัญญัติที่ใช้ในการกำกับดูแลการค้า การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการกำหนดและควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้น้ำมันที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเครื่องยนต์
2. ปัจจุบันบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าว มีบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการดำเนินธุรกิจ และเป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้
(1) การให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการค้าเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่เป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ซึ่งหากกำหนดเงื่อนไขแต่ละรายแตกต่างกัน อาจก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการดำเนินการค้า (มาตรา 8)
(2) กฎหมายได้ให้อำนาจอธิบดีไว้อย่างกว้างในการกำหนดชนิดและอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ได้ให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณปริมาณสำรอง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในกรณีผู้ค้าน้ำมันไม่เห็นด้วยกับวิธีการคำนวณของเจ้าหน้าที่ (มาตรา 20)
(3) การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องจัดเก็บตัวอย่างจากปั๊มน้ำมันเพื่อตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบปั๊มที่มีความเสี่ยงสูงกับความเสี่ยงต่ำเท่ากัน (มาตรา 31 วรรคท้าย)
(4) ไม่มีบทกำหนดให้เพิกถอนใบอนุญาตที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ได้รับใบอนุญาต ที่ ไม่ได้เริ่มทำการค้าหรือผู้ที่หยุดทำการค้าติดต่อกันหลายปีโดยไม่ขอยกเลิกการเป็นผู้ค้า ทำให้จำนวนผู้ค้า น้ำมันที่ได้รับใบอนุญาตกับผู้ค้าจริงไม่สอดคล้องกัน (มาตรา 34)
(5) บทกำหนดโทษเปรียบเทียบปรับกับมูลค่าของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำการค้า และผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ และในการดำเนินคดี (มาตรา 35 และ มาตรา 38)
(6) ในการกำหนดบทสันนิษฐานว่าผู้ครอบครองน้ำมันเชื้อเพลิงที่คุณภาพไม่เป็นไปตามที่กำหนดตั้งแต่ 200 ลิตรขึ้นไปถือว่าเป็นผู้กระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถ ลงโทษผู้กระทำผิดได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าเป็นการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง (มาตรา 50)
3. กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้น ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงพลังงาน และได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว
4. สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
(1) แก้ไขมาตรา 8 วรรค 2 เป็น “ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของประเทศ การป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการกำหนดและควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐมนตรีจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว และในกรณีที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น รัฐมนตรีจะออกประกาศกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 7ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการค้าใดๆตามที่เห็นสมควรก็ได้ “
(2) เพิ่มวรรค 2 ของมาตรา 20 เป็น “ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและวิธีการคำนวณปริมาณสำรองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด”
(3) ยกเลิกวรรคท้ายของมาตรา 31 ที่กำหนดว่าการเก็บตัวอย่างน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 10 และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 11 มาเพื่อตรวจสอบตาม (2) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดำเนินการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(4) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 34 วรรค 1 อนุ 2 และ 3 ดังนี้
“ (2) ไม่เริ่มทำการค้าภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
(3) หยุดทำการค้าติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี “
(5) แก้ไขบทกำหนดโทษตาม มาตรา 35 และมาตรา 38 โดยตัดบทกำหนดโทษ “ปรับไม่เกินกว่ามูลค่าของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำการค้าและผลประโยชน์อื่นที่บุคคลนั้นได้รับ แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะ สูงกว่ากัน”
(6) แก้ไขมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็น “ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มีปริมาณตั้งแต่สองร้อยลิตรขึ้นไป ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือ คุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะปรากฏว่า
(1) มีน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตหรือใช้ในกิจการของตน”
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เรื่องที่ 4 การยกร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียมพ.ศ. 2514
สรุปสาระสำคัญ
1. ในปี 2548 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้ยกร่างขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลัก คือ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยได้รับความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 และได้รับอนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ต่อมาได้ส่งกฎหมายที่ปรับปรุงคือร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2. ในปี 2549 ชธ. ได้จัดทำแผนพัฒนากฎหมาย ปี 2549 ขึ้น โดยรวบรวมกฎหมายลำดับรอง หรือบทบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งมีจำนวน 27 ฉบับ เป็นกฎกระทรวง 20 ฉบับ และประกาศกรม 7 ฉบับ (มีกฎกระทรวงที่ยกเลิกแล้ว 3 ฉบับ คือฉบับที่ 2,8,10) เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุน และเทคโนโลยีในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ได้กำหนดแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ 1) ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2514) และฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2532) ว่าด้วยคำขอสัมปทานปิโตรเลียม และข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอข้อผูกพันด้านปริมาณเงิน ปริมาณงาน ในการสำรวจปิโตรเลียม และการเสนอผลประโยชน์พิเศษ 2) ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2514) และฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2532 ) ว่าด้วยแบบสัมปทานปิโตรเลียม 3) ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2514) และฉบับที่ 12 (พ.ศ.2524) ว่าด้วยการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการ สำรวจ ผลิตและอนุรักษ์ปิโตรเลียม และ 4) ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2514) และฉบับที่ 11 (พ.ศ.2524) ว่าด้วยการกำหนดเขตปลอดภัย และเครื่องหมายในบริเวณที่มีสิ่งติดตั้งและกลอุปกรณ์ที่ใช้ ในการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม
3. ชธ. ได้นำกฎกระทรวงทั้ง 8 ฉบับ ที่มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นเรื่องเดียวกันมารวมไว้ด้วยกัน เพื่อให้สะดวก เข้าใจง่าย โดยได้ดำเนินการยกร่างและจัดทำเป็นร่างกฎกระทรวงใหม่ 4 ฉบับคือ 1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. .... 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. …. 3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำรวจ ผลิต และอนุรักษ์ปิโตรเลียม พ.ศ. …. และ 4) ร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตปลอดภัยและเครื่องหมายในบริเวณที่มีสิ่งติดตั้งและกลอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม พ.ศ. ….
4. ต่อมา ชธ. ได้นำร่างกฎกระทรวงทั้ง 4 ฉบับ เสนอคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมและกระทรวง และนำส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะ รัฐมนตรีได้ส่งเรื่องดังกล่าวคืนมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 เพื่อพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกระทรวงพลังงาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 จึงเห็นควรให้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการแล้วจึงนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
5. สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่แก้ไขปรับปรุงและยกร่างใหม่ จำนวน 4 ฉบับ
5.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. …. เป็นการรวมกฎกระทรวง 2 ฉบับคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2514) และฉบับที่ 16(พ.ศ.2532) ว่าด้วยคำขอสัมปทานปิโตรเลียม และข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอข้อผูกพันด้านปริมาณเงิน ปริมาณงาน ในการสำรวจปิโตรเลียม และการเสนอผลประโยชน์พิเศษเข้าไว้ด้วยกัน และแก้ไขปรับปรุงในสาระสำคัญ ดังนี้ 1) แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติ หลักฐานและโครงการประกอบคำขอสัมปทานของผู้ขอสัมปทานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายและวิธีปฏิบัติในการยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม 2) แก้ไขแบบคำขอสัมปทานให้ครอบคลุมกรณีผู้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมประกอบด้วยบริษัทมากกว่าหนึ่งราย และ 3) แก้ไขแบบคำขอสัมปทานปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับปัจจุบันที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นผู้กำหนดขอบเขตแปลงสำรวจที่เปิดให้ยื่นขอสัมปทาน
5.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. …. เป็นการรวมกฎกระทรวง 2 ฉบับคือ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2514) และฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2532) ว่าด้วยแบบสัมปทานปิโตรเลียมเข้าไว้ด้วยกัน และแก้ไขปรับปรุงในสาระสำคัญ ดังนี้ 1) แก้ไขปรับปรุงแบบสัมปทานให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเปลี่ยนแปลงคำศัพท์บางคำให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น คำว่าภาษีการค้าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2534 และประมวลรัษฎากรที่ได้ยกเลิกระบบภาษีการค้า 2) เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้รับสัมปทานต้องพิจารณาจัดซื้อและจัดหาบริการก่อสร้างแท่นประกอบการผลิตปิโตรเลียมในทะเลจากผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมภายในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ 3) แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ จากเดิมที่ใช้ข้อบังคับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) เป็นข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมาย การค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL) เนื่องจากปัจจุบันศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่รับพิจารณากรณีข้อพิพาททางการพาณิชย์ระหว่างประเทศ และข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติเป็นวิธีการที่ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งเป็นกฎหมายการระงับข้อพิพาทแม่แบบ (Model Law) ที่ได้นำมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในหมายเหตุประกอบการประกาศใช้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และ 4) แก้ไขข้อกำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์มิได้ เมื่อสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม หรือสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อ หรือเมื่อผู้รับสัมปทานคืนพื้นที่ผลิตทั้งแปลงให้เป็นไปตามแผนการรื้อถอนที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดี เพื่อให้สอดคล้องกับร่างกฎหมายใหม่ซึ่งเพิ่มมาตรา 80/1 กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องยื่นแผนการรื้อถอนต่ออธิบดี
5.3 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำรวจ ผลิต และอนุรักษ์ปิโตรเลียม พ.ศ. .... เป็นการรวมกฎกระทรวง 2 ฉบับคือ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2514) และฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2524) ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำรวจ ผลิตและอนุรักษ์ปิโตรเลียม ซึ่งได้ใช้บังคับ มาเป็นระยะเวลานาน ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์และความจำเป็นด้านการสำรวจ ผลิต และอนุรักษ์ปิโตรเลียม และการรักษา สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เข้าไว้ด้วยกัน และแก้ไขปรับปรุงในสาระสำคัญ ดังนี้ 1) แก้ไขข้อกำหนดที่ใช้บังคับอยู่ให้สอดคล้องกับวิธีการสำรวจและผลิตในปัจจุบัน 2) เพิ่มเติมรายการ ในข้อกำหนดที่ผู้รับสัมปทานจะต้องแจ้งแก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล 3) เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย อุบัติเหตุ และผลเสียต่อสภาวะแวดล้อม 4) ลดระยะเวลาในการแจ้งให้อธิบดีทราบล่วงหน้าก่อนลงมือสำรวจปิโตรเลียมและดำเนินการใดๆ ให้สั้นลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตามความเหมาะสม 5) เพิ่มบทบัญญัติเรื่องการอนุรักษ์น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว โดยมิให้มีการเผาน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติเหลวทิ้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และ 6) เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการยื่นแบบแผนผังแสดงรายละเอียดและมาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบ ก่อสร้างสถานีผลิตหรือแท่นประกอบการผลิตและอุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามแบบที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
5.4 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตปลอดภัยและเครื่องหมายในบริเวณที่มีสิ่งติดตั้งและกลอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม พ.ศ. …. เป็นการรวมกฎกระทรวง 2 ฉบับคือ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2514) และฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2524) ว่าด้วยการกำหนดเขตปลอดภัย และเครื่องหมายในบริเวณที่มีสิ่งติดตั้งและกลอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมสำหรับพื้นที่บนบกและในทะเลเข้าไว้ด้วยกัน และแก้ไขปรับปรุงในสาระสำคัญ ดังนี้ 1) กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องกำหนดเขตปลอดภัยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล 2) เพื่อแก้ไขถ้อยคำให้กว้างขึ้น เช่นคำว่า “โครงเครื่องเจาะและสิ่งปลูกสร้างอื่น” เป็นคำว่า “สิ่งติดตั้งและกลอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” และ 3) เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีในการกำหนดเปลี่ยนแปลงระยะของเขต ปลอดภัย การทำ เครื่องหมาย การเปิดแตรสัญญาณต่างๆ ของแต่ละแหล่งผลิตให้มีความยืดหยุ่น
มติของที่ประชุม
เห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จำนวน 8 ฉบับ โดยจัดทำเป็นร่างกฎกระทรวงใหม่ 4 ฉบับ
เรื่องที่ 5 การยกร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 จำนวน 5 ฉบับ
สรุปสาระสำคัญ
1. กรมธุรกิจพลังงาน โดยคณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ยกร่างกฎกระทรวง จำนวน 5 ฉบับ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ซึ่งประกอบด้วย 1) ร่างกฎกระทรวงคลังน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... 2) ร่างกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยยานพาหนะทางบก พ.ศ. .... 3) ร่างกฎกระทรวงการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... 4) ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. .... และ 5) ร่างกฎกระทรวงระบบไฟฟ้าของสถานีประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... โดยที่ร่างดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงและคณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเรียบร้อยแล้ว
2. สาระสำคัญของกฎกระทรวง 5 ฉบับ
2.1 ร่างกฎกระทรวงคลังน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... โดยที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุม น้ำมันเชื้อเพลิงบัญญัติให้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้งแผนผัง รูปแบบ ลักษณะของคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และลักษณะของถังหรือภาชนะที่ใช้ในการบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง วิธีการปฏิบัติงาน การจัดให้มีและบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดภายในสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งการควบคุมอื่นใดหรือกำหนดการอื่นใด อันจำเป็นไว้ในกฎกระทรวง
(1) ในข้อ 1 นิยามคำว่า เขตคลังน้ำมันเชื้อเพลิง จุดวาบไฟ คลังน้ำมันเชื้อเพลิง ทางกว้างของถนน ทางคู่ ถนนสาธารณะ แท่นจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล โบราณสถาน การตรวจสอบตามวาระ และการตรวจสอบครบวาระ
(2) หมวด 1 บททั่วไป ข้อ 2 - 5 การกำหนดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงและภาชนะบรรจุ น้ำมัน เชื้อเพลิงให้เป็นไปตามที่กำหนด ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งการอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546
(3) หมวด 2 ลักษณะของแผนผังบริเวณและแบบก่อสร้าง ข้อ 6 - 19 กำหนดลักษณะของแผนผังโดยสังเขป แผนผังของสิ่งก่อสร้างต่างๆ แบบก่อสร้างถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ แบบระบบท่อน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบท่อดับเพลิงและอุปกรณ์ แบบก่อสร้างอาคารแท่นจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบบำบัดหรือแยกน้ำปนเปื้อนน้ำมันเชื้อเพลิง ท่อหรือรางระบายน้ำ เขื่อนหรือกำแพงหรือบ่อเก็บกัก น้ำมันเชื้อเพลิง รั้วและประตู พร้อมแสดงรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรง
(4) หมวด 3 ลักษณะและระยะปลอดภัยภายนอก ข้อ 20 - 21 คลังน้ำมันเชื้อเพลิงต้องตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมและปลอดภัยแก่การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ก่อเหตุรำคาญและไม่ก่อให้เกิดมลพิษตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและต้องไม่อยู่ในบริเวณ ดังนี้ 1) ภายในระยะ 1,000 เมตร จากเขตพระราชฐาน 2) ภายในระยะ 100 เมตร จากเขตสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาลและโบราณสถาน และ 3) ภายในระยะและแนวเขตตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด ทั้งนี้ ได้กำหนดลักษณะและระยะปลอดภัยภายนอก โดยทางเข้าออกต้องติดถนนสาธารณะกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร และระยะปลอดภัยของทางเข้าออกกับ ทางโค้ง ทางแยก เกาะกลางถนนและสะพาน
(5) หมวด 4 ลักษณะและระยะปลอดภัยภายใน ข้อ 22 - 29 กำหนดระยะปลอดภัยภายในคลังน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย ระยะปลอดภัยโดยรอบภาชนะบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง การติดตั้งเครื่องสูบน้ำมันเชื้อเพลิง สะพานข้ามแนวท่อ เขื่อนหรือกำแพง กักเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง และต้องจัดให้มีการระบายมลพิษ
(6) หมวด 5 ถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ ข้อ 30 - 43 กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการออกแบบ ประกอบและติดตั้ง รวมทั้ง การทดสอบและตรวจสอบ
(7) หมวด 6 การวางระบบท่อและการติดตั้งอุปกรณ์ ข้อ 44 - 49 กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการออกแบบ ประกอบและติดตั้ง รวมทั้ง การทดสอบและตรวจสอบสัญลักษณ์แถบสีระบบท่อน้ำมันเชื้อเพลิงและท่อไอน้ำมันเชื้อเพลิง
(8) หมวด 7 ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ข้อ 50 - 62 กำหนดมาตรฐานระบบ ท่อน้ำดับเพลิง เครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง สัญญาณเตือนภัย โฟมเข้มข้น ซึ่งนำมาใช้เป็นสารละลายโฟมสำหรับดับเพลิง ระบบจ่ายน้ำดับเพลิงให้เพียงพอต่อการระงับภัย การฉีดสารละลายโฟม น้ำหล่อเย็น แหล่งน้ำหรือที่เก็บน้ำสำหรับดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง แผนระงับเหตุเพลิงไหม้ การฝึกซ้อมแผนระงับเหตุเพลิงไหม้ และการจัดทำขั้นตอนในการรับหรือจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
(9) บทเฉพาะกาล ข้อ 63 คลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง เว้นแต่การติดตั้งระบบอุปกรณ์ เตือนภัยป้องกันน้ำมันล้นถัง ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำมันเชื้อเพลิง และการปรับปรุงเกี่ยวกับสัญลักษณ์และมาตรฐานสีของระบบท่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
2.2 ร่างกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยยานพาหนะทางบก พ.ศ. .... โดยที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงบัญญัติให้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการขนส่ง ลักษณะของถังหรือภาชนะที่ใช้ในการบรรจุหรือขนส่งรวมถึงการบำรุงรักษาถังหรือภาชนะดังกล่าว วิธีการปฏิบัติงาน และการควบคุมอื่นใดหรือกำหนดการอื่นใดอันจำเป็นไว้ในกฎกระทรวง
(1) กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน
(2) ในข้อ 2 นิยามคำว่า ยานพาหนะทางบก ถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ถังน้ำมันเชื้อเพลิง รถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง รถไฟขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง รถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ใบอนุญาต และน้ำมันเชื้อเพลิง
(3) หมวด 1 ประเภทการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อ 3 กำหนดการประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและรถไฟขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 3 และการประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
(4) หมวด 2 การอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการ ข้อ 4-14 กำหนดหลักเกณฑ์การ ขออนุญาตการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 รวมทั้งการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง ขอต่ออายุใบอนุญาต ขอใบแทนใบอนุญาต และขอโอนใบอนุญาต การรายงานการเกิดอุบัติเหตุ การจัดทำสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัย และกำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงหรือรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
(5) หมวด 3 ถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบท่อและอุปกรณ์ ข้อ 15 - 45 กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการออกแบบและการติดตั้งถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบท่อและอุปกรณ์ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การทดสอบและซ่อมบำรุง และกำหนดแบบแสดงรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณของถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การติดตั้งระบบท่อและอุปกรณ์ การติดตั้งถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงกับตัวโครง ยานพาหนะและการติดตั้งโครงป้องกันระบบท่อน้ำมันเชื้อเพลิงและกันชนหลัง
(6) หมวด 4 การขนถ่ายและการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อ 46 - 59 กำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติงานและคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนถ่ายและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูล และข้อกำหนดในการขนส่งถังน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง
(7) หมวด 5 การป้องกันระงับอัคคีภัยและเครื่องหมาย ข้อ 60 - 62 กำหนดมาตรฐานเครื่องดับเพลิงชนิดผลเคมีแห้ง แผ่นป้ายแสดงความเสี่ยงและหมายเลขสหประชาชาติ
(8) หมวด 6 บทเฉพาะกาล ข้อ 63 - 68 ผู้ใดประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกอยู่ก่อนหรือในวันที่ กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ขออนุญาตตามแบบที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ กฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้
2.3 ร่างกฎกระทรวงการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... โดยที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงบัญญัติให้กำหนดหลักเกณฑ์การบำรุงรักษาถังหรือภาชนะที่ใช้ในการบรรจุหรือขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดวิธีปฏิบัติงานและการจัดให้มีและบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือเครื่องมือ
(1) ระยะเวลาบังคับใช้ ข้อ 1 กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน
(2) ในข้อ 2 นิยามคำว่า การซ่อมบำรุง การบำรุงรักษา การซ่อมแซม และผู้ควบคุมการซ่อมบำรุง
(3) หมวด 1 บททั่วไป ประกอบด้วยข้อ 3 – 11 โดย ข้อ 3 กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง และถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ความจุ 2,500 ลิตรขึ้นไป ข้อ 4 กำหนดให้มีการ ตรวจสอบและการซ่อมบำรุงครบวาระปีละ 1 ครั้ง และครบวาระตามเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงคลัง สถานที่เก็บรักษา สถานีบริการ และการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และข้อ 5 – 11 กำหนดบุคลากรผู้ปฏิบัติงานและการรายงานผล
(4) หมวด 2 การซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงพื้นดินขนาดใหญ่ตามแนวตั้ง ประกอบด้วย ข้อ 12 – 37 โดย ข้อ 12 – 22 กำหนดการวางแผน การกำหนดมาตรการความปลอดภัยและการเตรียมการซ่อมบำรุง ข้อ 23 – 26 กำหนดวิธีการตรวจสอบถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการซ่อมบำรุง ข้อ 27 – 31 กำหนดเกณฑ์การยอมรับความเสียหาย เพื่อพิจารณาให้ใช้ถังต่อไปหรือทำการซ่อมบำรุง ถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง และ ข้อ 32 – 37 กำหนดวิธีการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง และการรื้อถอนถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง
(5) หมวด 3 การซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเหนือพื้นดินขนาดใหญ่ตามแนวนอนถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงใต้พื้นดิน และถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดตั้งภายในโป๊ะเหล็ก ประกอบด้วยข้อ 38 – 51 โดยข้อ 38 – 40 กำหนดการวางแผน การกำหนดมาตรการความปลอดภัยและการเตรียมการ ซ่อมบำรุง ข้อ 41 – 44 กำหนดวิธีการตรวจสอบถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการซ่อมบำรุง และข้อ 45 – 46 กำหนดเกณฑ์การยอมรับความเสียหาย เพื่อพิจารณาให้ใช้ถังต่อไปหรือทำการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมัน เชื้อเพลิง ข้อ 47 – 51 กำหนดวิธีการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง และการรื้อถอนถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง
(6) หมวด 4 การซ่อมบำรุงถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วยข้อ 52 – 65 โดยข้อ 52 – 53 กำหนดการวางแผน การกำหนดมาตรการความปลอดภัยและการเตรียมการซ่อมบำรุง ข้อ 54 – 61 กำหนดวิธีการตรวจสอบถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการซ่อมบำรุง และข้อ 62 – 65 กำหนดวิธีการซ่อมบำรุงถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
2.4 ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. .... โดยที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงบัญญัติให้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของผู้ทดสอบและตรวจสอบ ภาชนะบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง และการควบคุมอื่นใดหรือกำหนดการอื่นใดอันจำเป็นไว้ในกฎกระทรวง
(1) ในข้อ 1 นิยามคำว่า การทดสอบและตรวจสอบ ผู้ทดสอบและตรวจสอบ หัวหน้าวิศวกรทดสอบ วิศวกรทดสอบ ผู้ชำนาญการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิม การตรวจสอบตามวาระ และสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง
(2) หมวด 1 บททั่วไป ข้อ 2 - 3 กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ทดสอบและ ตรวจสอบโดยแบ่งผู้ทดสอบและตรวจสอบออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 3 มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการทดสอบและตรวจสอบสูงสุด
(3) หมวด 2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบ ข้อ 4 กำหนดประเภทและลักษณะของเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบ ตามความจำเป็นในการทดสอบและตรวจสอบ แต่ละประเภท
(4) หมวด 3 คุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบ ข้อ 5 - 7 กำหนดคุณสมบัติของ ผู้ทดสอบและตรวจสอบ ระดับที่ 1 - 3 ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการทดสอบและตรวจสอบ
(5) หมวด 4 การออกหนังสือรับรองเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ หัวหน้าวิศวกรทดสอบ วิศวกรทดสอบ ผู้ชำนาญการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิม ข้อ 8 - 9 กำหนดแบบคำขอหนังสือรับรอง แบบหนังสือรับรอง อายุหนังสือรับรองและการเพิกถอนหนังสือรับรอง
(6) หมวด 5 หลักเกณฑ์ วิธีการทดสอบและตรวจสอบ ข้อ 10 - 15 กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ ตลอดจนข้อปฏิบัติในการทดสอบและตรวจสอบ
(7) บทเฉพาะกาล ข้อ 16 ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผล บังคับใช้หากยังไม่มีผู้ทดสอบและตรวจสอบหรือมีแต่ไม่เพียงพอ การทดสอบและตรวจสอบให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบกิจการหรือผู้ที่ทำการทดสอบและตรวจสอบ และการทดสอบและตรวจสอบต้องกระทำ ต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
2.5 ร่างกฎกระทรวงระบบไฟฟ้าของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... โดยที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงบัญญัติให้กำหนดวิธีการปฏิบัติงานและการจัดให้มีและบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเก็บรักษา การขนส่ง การใช้ การจำหน่าย การแบ่งบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง และคลังน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการควบคุมอื่นใดหรือกำหนดการอื่นใดอันจำเป็นไว้ในกฎกระทรวง
(1) ในข้อ 1 นิยามคำว่า สถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเชื้อเพลิง ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บริภัณฑ์ บริเวณอันตราย การระบายอากาศทางกล ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ตัวนำล่อฟ้า ตัวนำลงดิน ตัวนำประสาน รากสายดิน บริเวณป้องกันและจุดต่อทดสอบ
(2) หมวด 1 บททั่วไป ข้อ 2 - 5 กำหนดให้ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบริภัณฑ์เฉพาะที่อยู่ภายในบริเวณอันตรายของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ การออกแบบและควบคุม การเดินสายไฟฟ้า การติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บริภัณฑ์ และระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าให้ออกแบบและควบคุมโดยวิศวกรไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม มาตรฐานการออกแบบและติดตั้ง กำหนดให้บริเวณที่มีการถ่ายเทน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องทำการป้องกันการสะสมของประจุไฟฟ้าสถิต
(3) หมวด 2 แบบระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ข้อ 6 - 7 กำหนดให้แสดงรายละเอียดของแบบระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า
(4) หมวด 3 บริเวณอันตรายของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อ 8 - 13 กำหนดบริเวณอันตรายตามตำแหน่งพื้นที่และขอบเขตระยะห่างภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง คลังน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานที่มีการรับจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยระบบ ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ พร้อมแสดงบริเวณอันตรายและเทคนิคการป้องกันการระเบิดของบริภัณฑ์ตามกฎกระทรวงนี้เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล
(5) หมวด 4 ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ข้อ 14 - 28 กำหนดสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจัดให้มีระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า วัสดุ อุปกรณ์ การติดตั้ง การวัดความต้านทานของรากสายดิน มาตรฐานของการออกแบบ
(6) หมวด 5 มาตรฐานขั้นต่ำของอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและบริภัณฑ์ ที่ใช้ในบริเวณอันตรายของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อ 29 กำหนดให้ อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบริภัณฑ์ที่อยู่ภายในบริเวณอันตรายต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือจากสถาบันนานาชาติ
(7) หมวด 6 การตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจาก ฟ้าผ่า ข้อ 30 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า โดยกรมธุรกิจพลังงานหรือผู้ทดสอบและตรวจสอบ
(8) บทเฉพาะกาล ข้อ 31 สถานที่ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า อยู่ก่อนกฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้ไม่ต้องปฏิบัติเว้นแต่ให้ยื่นแบบแสดงการติดตั้งและปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงคลังน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. โดยในหมวด 3 ลักษณะและระยะปลอดภัยภายนอก ให้แก้ไขการกำหนดที่ตั้งของคลังน้ำมันจากเขตสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และโบราณสถาน จาก ต้องไม่อยู่ภายในระยะ 100 เมตร เป็น ต้องไม่อยู่ภายในระยะ 200 เมตร ทั้งนี้ เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น
2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยยานพาหนะทางบก พ.ศ. ….
3. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและถังขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …
4. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. ….
5. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงระบบไฟฟ้าของสถานีประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ . …
เรื่องที่ 6 การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระบบ Cogeneration
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 เห็นชอบการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานนอกรูปแบบและพลังงานพลอยได้ในประเทศให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมี ประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาครัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดยการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 จำนวน 300 เมกะวัตต์ และได้มีการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP เป็นลำดับ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 ได้เห็นชอบให้ขยายปริมาณการรับซื้อเป็น 3,200 เมกะวัตต์ สำหรับการรับซื้อไฟฟ้า ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2543 และให้มีการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุ เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป โดยไม่กำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า
2. ต่อมารัฐบาลได้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานเชิงพาณิชย์เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลง ในขณะที่กำลังการผลิตสำรอง (Reserve Margin) ของระบบอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ กาก เศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และโครงการ SPP ประเภท Non-Firm ให้แก่ กฟผ. ต่อไป โดยไม่กำหนดระยะเวลาและปริมาณ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของระบบส่งและระบบจำหน่ายที่จะรับได้
3. ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน (ณ เดือนกันยายน 2549) มี SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า จำนวน 113 ราย มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 2,726.62 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วจำนวน 79 ราย มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 2,337.50 เมกะวัตต์ ราคารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยจาก SPP ณ เดือนสิงหาคม 2549 ประเภทสัญญา Firm 2.56 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และสัญญาประเภท Non-Firm 2.21 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
4. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 มอบหมายให้ สนพ. ศึกษาในรายละเอียดความเหมาะสมในการเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration โดยพิจารณาโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้า ประสิทธิภาพและความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน ต่อมากระทรวงพลังงานได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบ Cogeneration และได้เสนอ กพช. เพื่อทราบในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่าควรเปิด ให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP ในปัจจุบัน แต่ปรับโครงสร้างราคาให้แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาปรับปรุงการกำหนดเงื่อนไขประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าในระบบ Cogeneration ให้เหมาะสมกับ สถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำความเห็นมา ปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ต่อไป
5. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 เรื่อง นโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ซึ่งกำหนดมาตรการในการจัดหาพลังงาน โดยส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ด้วยการสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกัน (Cogeneration) ในปริมาณที่เหมาะสม โดยผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)
6. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ดำเนินการตามมติ กพช. วันที่ 4 กันยายน 2549 แล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ และเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้า อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration โดยได้มีการหารือกับ กฟผ. เกี่ยวกับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าแล้วเห็นว่า ควรขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ทุกประเภทเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า เป็น 4,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ จะต้องมีการดำเนินการ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration และดำเนินการ ปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตามแนวทางดังต่อไปนี้
6.1 คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการ ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า
6.2 กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าให้แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use: TOU)
6.3 กำหนดเงื่อนไขประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าในระบบ Cogeneration ข้อกำหนด ทางด้านเทคนิค รวมทั้ง ข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เหมาะสมและจูงใจให้เกิดการผลิตไฟฟ้าอย่างมี ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ กฟผ. เปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ทุกประเภทเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า โดยให้ขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากเดิม 3,200 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์
2. มอบหมายให้ สนพ. ดำเนินการปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ระบบ Cogeneration ตามแนวทางในข้อ 6.1 - 6.3 และนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อขอความเห็นชอบก่อนออกประกาศใช้ต่อไป
3. ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 ให้สามารถจัดซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระบบ Cogeneration ได้ต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ได้อนุมัติกรอบแผนอนุรักษ์พลังงานฯ ระยะที่ 3 (ในช่วงปี 2548-2554) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมี เป้าหมายตามยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศที่จะลดอัตราส่วน การใช้พลังงานต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 1.4:1 เป็น 1:1 ภายในปี 2551 และเพิ่มอัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 8 ภายในปี 2554 ซึ่งผลการดำเนินการในปี 2548 และปี 2549 คาดว่าจะลดการใช้พลังงานได้ 2,490 ktoe/ปี หรือคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 47,310 ล้านบาท การใช้พลังงานต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปรับจาก 1.4:1 เป็น 1.2:1 และเพิ่มอัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 3 และยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ลดการก่อมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2. เพื่อให้การดำเนินการอนุรักษ์พลังงานสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเหมาะสมกับประเทศมากขึ้น รวมทั้งความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ และนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนและปรับแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3 ที่ยังเหลืออยู่ในช่วงปี 2550 - 2554 และเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2549 (ครั้งที่ 44) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 และมีมติเห็นควรปรับลดเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ลงเป็น 45 MW เพิ่มเป้าหมายของพลังงานลมเป็น 115 MW และปรับลดเป้า NGV เป็น 251,600 คัน ส่วนแนวทางดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในขนส่ง ได้เห็นชอบกรอบแผนงานตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ และเมื่อแผนงานทางกระทรวงคมนาคมมีความชัดเจน คณะกรรมการ กองทุนฯ จะพิจารณารายละเอียดต่อไป
3. แผนอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2550-2554 ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ
3.1 แผนงานพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นแผนงานเกี่ยวกับ 1) งานศึกษา วิจัยพัฒนา และ ส่งเสริมเพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น 2) งานสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคคลที่ เกี่ยวข้องกับงานด้านพลังงานทดแทน และ 3) งานเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อรู้จักพลังงานทดแทนให้ถูกต้อง มีความเชื่อมั่น และสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐ
3.2 แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นแผนงานเกี่ยวกับ 1) งานศึกษาวิจัยพัฒนาและส่งเสริมเพื่อก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในทุกๆ ด้าน 2) งานสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์พลังงาน และ 3) งานสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้มีการใช้พลังงาน อย่างรู้คุณค่า ปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้พลังงานให้เป็นไปอย่างพอประมาณ
3.3 แผนงานบริหารเชิงกลยุทธ์ เป็นแผนงานเกี่ยวกับ 1) งานศึกษาวิจัยเชิงนโยบายเพื่อเป็นข้อเสนอแนะ ทางเลือกหรือภาพรวมของสถานการณ์ที่ผสมผสานทั้งมิติด้านการผลิตและการใช้พลังงาน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจพัฒนาแผนพลังงานทดแทน หรือแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ เป็นเครื่องมือนำทางสำหรับ จัดลำดับความสำคัญของงานและการจัดสรรงบประมาณ 2) งานด้านบริหารจัดการให้แผนอนุรักษ์พลังงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) งานช่วยเหลือส่งเสริมการดำเนินงานอื่นๆ เป็นเรื่องเฉพาะกิจที่สำคัญหรือเร่งด่วน
4. แนวทางดำเนินการจะยังคงมาตรการเดิม แต่ทั้งนี้ได้มีการปรับเป้าหมายและวิธีดำเนินการ เช่น แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ อย่างจริงจัง และดำเนินการกับโรงงานอาคารที่ใช้พลังงานสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ไม่น้อยกว่า 5 ราย เพื่อเป็นตัวอย่าง นอกจากนี้กำหนดจะเร่งออกมาตรฐานประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานกับ เครื่องใช้ อุปกรณ์ วัสดุต่างๆ ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ 33 รายการ และลดเป้าหมายการประหยัด พลังงาน เนื่องจากได้เลื่อนแผนงานด้านขนส่ง และได้ทบทวนเป้าหมายและแผนด้านพลังงานทดแทน แสงอาทิตย์ ลม น้ำ แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล พร้อมทั้งได้เพิ่มมาตรการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์
5. สรุปเป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3 ในช่วงปี 2550-2554
(1) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยลดใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ ในปี 2554 จาก 91,877 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เหลือ 84,183 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือลดการใช้พลังงานโดยไม่เกิดประโยชน์ได้ประมาณ 9.1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 7,694 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จำแนกเป็นภาคคมนาคมขนส่งร้อยละ 3.9 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 4.6 และการจัดการใช้พลังงานร้อยละ 0.7
(2) พัฒนาพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2554 จะมีการใช้พลังงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ของความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย หรือทดแทนการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ประมาณ 1 0,226 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จำแนกเป็น 1) ภาคคมนาคมขนส่ง มีการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 21 โดยใช้ Biodiesel แทนน้ำมันดีเซล 1,258 ktoe ใช้ Ethanol แทนน้ำมันเบนซิน 820 ktoe และใช้ NGV 3,264 ktoe และ 2) ภาคอุตสาหกรรมและบ้านอยู่อาศัย มีการใช้พลังงานทดแทน ดังนี้ ใช้แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า 45 MW คิดเป็น 4 ktoe และทำน้ำร้อน 5 ktoe ใช้พลังลมสูบน้ำและผลิตไฟฟ้า 115 MW คิดเป็น 13 ktoe ใช้น้ำท้ายเขื่อนชลประทานผลิตไฟฟ้า 156 MW คิดเป็น 18 ktoe ใช้ชีวมวลผลิตไฟฟ้า 2,800 MW คิดเป็น 940 ktoe และให้ความร้อน 3,660 ktoe และใช้น้ำเสียมาเป็นก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า 30 MW และให้ความร้อน 186 ktoe โดยจะจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ไปช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานบางส่วน ในวงเงินประมาณ 12,488 ล้านบาท และคณะกรรมการกองทุนฯ จะใช้จ่ายเงินรวมดังกล่าว โดยสามารถปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ภายในวงเงินรวมดังกล่าว
6. สำหรับฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ 30 กันยายน 2549 มีเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 2,674 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายตามแผนงานในช่วงปี 2550-2554 วงเงินประมาณ 12,488 ล้านบาท (ประมาณ 2,000-2,400 ล้านบาท/ปี) พบว่าฐานะการเงินกองทุนฯ ไม่เพียงพอ เมื่อพิจารณาในปี 2540 กพช. ได้ปรับลดอัตราจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ จาก 7 สตางค์/ลิตร ไปเก็บที่ 4 สตางค์/ลิตร เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยบรรเทาสถานการรายได้ของรัฐ ในช่วงปี 2540 - 2541 ทำให้กองทุนฯ มีรายรับเหลือประมาณ 1,300-1400 ล้านบาทต่อปี แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารายจ่ายกองทุนฯ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,521 ล้านบาท/ปี ซึ่งทำให้ฐานะ การเงินกองทุนฯ ในช่วงต่อไปมีไม่เพียงพอ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาสถานการงบประมาณของประเทศในปัจจุบันค่อนข้างมั่นคง และเพื่อให้ฐานะทางการเงินของกองทุนฯ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ และสอดคล้องกับการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน จึงขอเสนอปรับเพิ่มอัตราส่งเงินเข้ากองทุนฯ เป็นอัตรา 7 สตางค์ต่อลิตร สำหรับน้ำมันเบนซิน ก๊าด ดีเซล และเตาที่ผลิตในประเทศและนำเข้า และอัตรา 6.3 สตางค์ต่อลิตร สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยในช่วง 2-3 ปีแรก รายจ่ายยังสูงกว่ารายรับแต่ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ดำเนินการได้เฉลี่ยร้อยละ 70 ของงบประมาณประจำปีที่ได้รับ และเมื่อนำมาประเมินฐานะการเงินของกองทุนฯ ในช่วงปี 2550-2554 ทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับกับแผนงานฯ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
(สถานี)
ปีงบประมาณ | 2550 | 2551 | 2552 | 2553 | 2554 | รวม |
1. เงินคงเหลือยกมาต้นปี | 4915 | 1348 | (4) | 25 | 491 | 4915 |
2. ประมาณการรายรับล่วงหน้า | 2102 | 2149 | 2198 | 2248 | 2299 | 10995 |
3. เงินทุนหมุนเวียนรอรับคืนจาก พพ. | 413 | 937 | 1080 | 986 | 936 | 4351 |
รวมรับ | 2514 | 3086 | 3277 | 3233 | 3235 | 4351 |
4. รายจ่าย ประกอบด้วย | ||||||
4.1 รายจ่ายผูกพัน ปี 2538-2547 | 558 | 468 | 398 | 256 | 76 | 1764 |
4.1 รายจ่ายผูกพัน ปี 2548-2549 | 3082 | 824 | 551 | 503 | - | 4959 |
4.3 ประมาณการรายจ่ายล่วงหน้า | 2441 | 3146 | 2300 | 2000 | 2600 | 12488 |
รวมจ่าย | 6081 | 4438 | 3248 | 2768 | 2676 | 19212 |
5. เงินคงเหลือปลายปี ยกไป | 1348 | (4) | 25 | 491 | 1049 | 1049 |
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบกรอบแผนอนุรักษ์พลังงาน และกรอบการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2550-2554
2. เห็นชอบให้กำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นอัตรา 7 สตางค์ต่อลิตร สำหรับน้ำมันเบนซิน ก๊าด ดีเซล และน้ำมันเตาที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้า และอัตรา 6.3 สตางค์ต่อลิตรสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์
เรื่องที่ 8 มาตรการประหยัดพลังงานของส่วนราชการ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2548 ได้มีมาตรการให้ทุกหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจลดการใช้พลังงานลง ร้อยละ 10-15 เทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงของปีงบประมาณ 2546 และให้สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้ตัวชี้วัด (Key Performance Index: KPI) “ระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน” เป็นหนึ่งในกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของ ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 เป็นต้นไป และ สนพ. เป็นเจ้าภาพหลัก โดยส่วนราชการจะรายงานผ่าน www.e-report.energy.go.th ที่ สนพ. จัดทำไว้
2. ผลการลดใช้พลังงานของส่วนราชการปี 2549 เมื่อเทียบกับปี 2546
ด้านการใช้ไฟฟ้า | ส่วนราชการ (รวม 154 กรม) |
ส่วนจังหวัด (รวม 76 จังหวัด) |
ส่วนสถาบันอุดมศึกษา (รวม 79 สถาบัน) |
|
ใช้ลดลงจาก 46 | -146 | -38 | +18 | ล้านหน่วย |
ลดลงร้อยละ | -9.0% | -12.11% | +2.11% |
ด้านการใช้น้ำมัน | ส่วนราชการ (รวม 154 กรม) |
ส่วนจังหวัด (รวม 76 จังหวัด) |
ส่วนสถาบันอุดมศึกษา (รวม 79 สถาบัน) |
|
ใช้ลดลงจาก 46 | -40 | -2 | +6 | ล้านหน่วย |
ลดลงร้อยละ | -21.27% | -5.87% | +84.59% |
3. สำนักงาน ก.พ.ร. และ สนพ. ได้รับคำอุทธรณ์จากหน่วยงานหลายแห่ง เรื่องตัวชี้วัดประสิทธิภาพของส่วนราชการ ที่กำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานลงให้ได้ร้อยละ 10 - 15 ไม่ยุติธรรมเนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีบทบาทและภารกิจต่างกันหลายประการ และมีการขยายตัวทุกปีทั้งในด้านจำนวนบุคลากรและกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งส่งผลโดยตรงถึงการใช้พลังงานโดยรวมของหน่วยงานเพิ่มขึ้น
4. สำนักงาน ก.พ.ร. และ สนพ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนกำหนดเป้าหมายลดใช้พลังงานให้เหมาะสม โดย สนพ. ได้ศึกษาและสำรวจความเห็นจากส่วนราชการ ทำให้ทราบว่าหน่วยงานราชการมีความแตกต่างกันหลายประการ เช่น ลักษณะและที่ตั้งของอาคารที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ ลักษณะการใช้งานอาคาร กิจกรรมของหน่วยงาน หน้าที่หลักหรือการให้บริการของหน่วยงาน ขนาดของหน่วยงานในแต่ละกระทรวงที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวทุกปีทั้งด้านจำนวนบุคลากรและกิจกรรมที่ต้องทำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงถึงการใช้พลังงานโดยรวมของหน่วยงาน
5. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เชิญ สนพ. ประชุมร่วมกันเมื่อ 31 สิงหาคม 2549 เพื่อปรับเป้าหมายจากที่กำหนดให้ทุกส่วนราชการลดการใช้พลังงานลงให้ได้ร้อยละ 10-15 โดย สนพ. เสนอกำหนดเป็น ”ค่า มาตรฐานการจัดการใช้พลังงานในส่วนราชการ” โดยกำหนดเกณฑ์ประเมินผลระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงานของส่วนราชการดังนี้
5.1 ปีงบประมาณ 2550 : Energy Utilization Index – EUI ประเมินจากค่าดัชนีการใช้พลังงานของหน่วยงาน เปรียบเทียบกับค่าดัชนีการใช้พลังงานของหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันตามที่ สนพ. จำแนกประเภทไว้ ซึ่งในเบื้องต้นมี 9 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มทั่วไป (2) กลุ่มโรงพยาบาลและสถานีอนามัย (3) กลุ่มโรงเรียน (4) กลุ่มศาลและสำนักงานอัยการ (5) กลุ่มเรือนจำและสถานคุมประพฤติ (6) กลุ่มสถานีตำรวจ (7) กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษา (8) กลุ่มสถานสงเคราะห์ และ (9) กลุ่มสถานีวิทยุและสถานีเครื่องส่งสัญญาณ ซึ่ง สนพ. ได้จัดทำรายละเอียดเสนอ สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดเป็นประเด็นประเมินผลด้านการประหยัดพลังงานของส่วนราชการ ปีงบประมาณ 2550 แล้ว
5.2 ปีงบประมาณ 2551 : Energy Performance Index - EPI ประเมินจากค่าดัชนีการใช้พลังงานของหน่วยงานนั้นที่ใช้จริงในปี 2551 เปรียบเทียบค่าดัชนีมาตรฐานการใช้พลังงานของกลุ่ม
5.3 ในปี 2551 จากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ คาดว่าจะทราบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของหน่วยงานที่ได้จากสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีค่าน้ำหนักของตัวแปรต่างๆ เหมาะสมกับส่วนราชการ เช่น จำนวนบุคลากร จำนวนเวลาทำการ พื้นที่ให้บริการ ฯลฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงบประมาณจะนำไปเป็นเกณฑ์พิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับแต่ละส่วนราชการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป
6. เสนอให้กระทรวงการคลังกำหนดให้ทุกส่วนราชการจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนค่าบำรุงดูแลรักษา เครื่องปรับอากาศและรถยนต์ที่เป็นครุภัณฑ์ของส่วนราชการให้แต่ละส่วนราชการด้วย
มติของที่ประชุม
1. ให้นำ “ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานในส่วนราชการ” มาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินผลด้านการประหยัดพลังงานของส่วนราชการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 เป็นต้นไป โดยมอบหมาย สำนักงาน ก.พ.ร. และ สนพ. ร่วมกันพิจารณากำหนดปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวแปรให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของ ส่วนราชการ และให้สำนักงบประมาณนำ “ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานในส่วนราชการ” ไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้แต่ละส่วนราชการโดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป
2. ในปีงบประมาณ 2550 ให้คงกำหนดเป้าหมายลดใช้พลังงานของส่วนราชการจาก “ร้อยละ 10 –15 เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานในปีงบประมาณ 2546” ไปก่อน และขณะเดียวกันให้ สนพ. ทำความ เข้าใจกับส่วนราชการเรื่องเกณฑ์ใหม่ “ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานในส่วนราชการ” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้งานต่อไป
3. ให้กระทรวงการคลังกำหนดให้ทุกส่วนราชการจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานระดับดีมาก (ฉลากเบอร์ 5) ตลอดจนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนค่าบำรุงดูแลรักษา เครื่องปรับอากาศและรถยนต์ที่เป็นครุภัณฑ์ของส่วนราชการให้แต่ละส่วนราชการด้วย
เรื่องที่ 9 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2549
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบ : ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ในไตรมาสที่ 1 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 57.95 และ 62.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 5.08 และ 5.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากบริษัท Gazprom ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในรัสเซียหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยูเครน ประกอบกับท่อขนส่ง น้ำมันในประเทศไนจีเรียถูกลอบวางระเบิดและสถานการณ์ความตึงเครียดในประเทศตะวันออกกลาง สำหรับไตรมาสที่ 2 และ 3 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 8.01 และ 7.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากผู้นำสูงสุดของอิหร่านเตือนสหรัฐอเมริกาในการคัดค้านการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ตลอดจนโรงกลั่นของสหรัฐอเมริกา 2 แห่งปิดฉุกเฉิน ส่วนในไตรมาสที่ 4 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 57.14 และ 60.00 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่แล้ว 8.82 และ 10.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากนักลงทุนและกลุ่มผู้ซื้อขายน้ำมันให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานในระยะสั้นโดยเฉพาะปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐอเมริกาที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมากกว่า ส่งผลให้นักลงทุนและกลุ่มผู้บริโภคที่ทำธุรกิจซื้อขายล่วงหน้าเทขายเพื่อทำกำไร
สรุปปี 2549 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยปี 2549 อยู่ที่ระดับ 61.64 และ 65.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 12.10 และ 11.03 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ : ในไตรมาสที่ 1 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 67.29 และ 66.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 3.58 และ 3.90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากบริษัท Lanka IOC Ltd. ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ปริมาณ 5,000 ตัน ในส่วนราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.36 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 3.21 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากบริษัท Petechim ของเวียดนามนำเข้าน้ำมันดีเซล ปริมาณ 10,000 ตัน ประกอบกับโรงกลั่นเกาหลีใต้ลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือนมีนาคม 2549 ลงประมาณ 122,000 ตัน ส่วนในไตรมาสที่ 2 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 16.34 และ 16.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างตึงตัวด้วยโรงกลั่นในภูมิภาคหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง ในส่วนราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 15.07 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากบริษัท Pertamina ต้องการนำเข้าน้ำมันดีเซลในเดือนมิถุนายนเพิ่มอีก 600,000 บาร์เรล เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า PT Perusahaan Listrik Negara ไตรมาสที่ 3 และ 4 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่แล้ว 20.15 และ 20.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.48 และ 62.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในภูมิภาคเอเซียลดลง ในส่วนราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวลดลง 13.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ ระดับ 70.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากสิ้นสุดฤดูกาลท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกาทำให้นักลงทุนลดปริมาณการส่งน้ำมันดีเซลจากเอเชียไปสหรัฐอเมริกาลง และ Petroleum Association of Japan ประกาศปริมาณสำรองน้ำมันก๊าดของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 544 ล้านลิตร
สรุปปี 2549 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็วปี 2549 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 73.33, 75.52 และ 77.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 10.95 , 11.17 และ 12.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นและลดลงตามราคาตลาดจรในสิงคโปร์ โดยปี 2549 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ ดีเซลหมุนเร็ว เฉลี่ยอยู่ที่ 27.58, 26.78 และ 25.61 บาท/ลิตร ตามลำดับ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 อยู่ 3.67, 3.67 และ 5.57 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันปี 2550 คาดว่าราคาน้ำมันยังคงผันผวน โดยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ จะเฉลี่ยอ่อนตัวลงจากปี 2549 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 55 - 65 และ 62 - 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ และคาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 65 - 75 และ 68 - 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา คือ เศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว ความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของโลกโดยเฉพาะของประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศ OECD อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี
5. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2549 มีเงินสดสุทธิ 4,934 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 48,598 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 17,600 ล้านบาท หนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 17,446 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยตรึงราคาน้ำมันค้างชำระ 1,546 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 11,927 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างจ่ายประจำเดือน 79 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 43,664 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 10 สถานการณ์พลังงานในปี 2549 และแนวโน้มปี 2550
สรุปสาระสำคัญ
1. ภาพรวม ในปี 2549 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 1,557 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เป็นการใช้น้ำมันลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.9 ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และ 34.9 ตามลำดับ ส่วนการใช้ลิกไนต์ลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 12.3 และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.2 การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 770 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.7 โดยการผลิตน้ำมันดิบ คอนเดนเสท และไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นมาก แต่การผลิตลิกไนต์ของภาคเอกชนลดลง ส่วนการนำเข้า (สุทธิ) พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น อยู่ที่ระดับ 974 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงร้อยละ 0.7 เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงแต่มูลค่าอยู่ที่ระดับ 912,240 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับปี 2548 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง
2. น้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2549 การใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีจำนวน 709 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลง จากปีก่อนร้อยละ 1.3 โดยปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ระดับที่ 125 พันบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากระดับราคาสูงขึ้นจึงส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอื่นแทนน้ำมันมากขึ้น ได้แก่ LPG และ NGV ส่วนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ระดับ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ 318 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.7 สาเหตุจากภาครัฐได้ปล่อยลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในเดือนกรกฎาคม 2548 ขณะที่ LPG มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 (ไม่รวมการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) เป็นการใช้ในรถยนต์เป็นหลัก ได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 50.2มติของที่ประชุม
3. ในปี 2549 การใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ระดับ 3,236 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.8 โดยเป็นการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และอื่นๆ (โพรเพน อีเทน และ LPG) ร้อยละ 16 และที่เหลือร้อยละ 9 ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม
4. สำหรับการใช้ลิกไนต์/ถ่านหิน อยู่ที่ระดับ 31 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยการใช้ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 9.1 เนื่องจากอุปทานภายในประเทศน้อยลงจากการที่บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หยุดผลิต ขณะที่การใช้ถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 เพื่อทดแทนลิกไนต์ภายในประเทศและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของบริษัท บีแอลซีพีเพาเวอร์ จำกัด ที่เริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี 2549
5. ไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า ณ วันที่ 30 เดือนพฤศจิกายน 2549 อยู่ที่ 27,087 เมกะวัตต์ ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 21,064 เมกะวัตต์ สูงกว่าปีก่อน 526 เมกะวัตต์ กำลังผลิตสำรองไฟฟ้าต่ำสุด (Reserved Margin) อยู่ที่ร้อยละ 22.1
6. ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ ในปี 2549 อยู่ที่ระดับ 126,600 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขยายตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.9 เป็นการใช้ในเขตนครหลวง 41,344 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เขตภูมิภาค 82,772 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และการใช้ของลูกค้าตรงของ กฟผ. 2,484 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 45 ของการใช้ ไฟฟ้าทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.3 สาขาธุรกิจ และบ้านและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเท่ากันคือร้อยละ 4.7 สาขาเกษตรลดลงร้อยละ 11.6 เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด และสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.4
7. แนวโน้มการใช้พลังงานในปี 2550 ความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,636 พันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 5.1 โดยความต้องการพลังงานเกือบทุกชนิดเพิ่มขึ้น ยกเว้นไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าลดลงร้อยละ 13.3 เนื่องจากปี 2549 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำมาก เป็นพิเศษ การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยประมาณการว่าความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดเพิ่มขึ้นยกเว้นน้ำมันเตาที่มีการใช้ลดลงร้อยละ 8.5 เนื่องจาก กฟผ. ลดการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงลงด้วยปีหน้า ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติให้ กฟผ. ได้มากขึ้น ส่วนการใช้น้ำมันเบนซิน และดีเซลจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2 และ 2.4 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ใช้รถมีทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทนน้ำมัน ได้แก่ LPG และ NGV ทั้งนี้ คาดว่าการใช้ LPG ในรถยนต์จะชะลอตัวลงจากปี 2549 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะลดการชดเชยราคา LPG ทำให้ LPG มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งรถแท็กซี่ส่วนหนึ่งจะหันไปใช้ NGV มากขึ้นตามนโยบายรัฐบาล
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
กพช. ครั้งที่ 108 - วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2549
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 5/2549 (ครั้งที่ 108)
วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เวลา 13.00 น
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3
2.การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
3.การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต
4.แนวทางปฏิบัติตามนโยบายเปิดเสรีการจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
5.การแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทย
6.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เดือนพฤศจิกายน 2549)
7.การลดค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการฯ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เพื่อส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว จำหน่ายให้แก่ประเทศไทยจำนวนประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 ต่อมา คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 เรื่องการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 ซึ่งปัจจุบันมี 2 โครงการ ได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้วได้แก่ โครงการน้ำเทิน - หินบุน และห้วยเฮาะ และอีก 2 โครงการได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว คือ โครงการน้ำเทิน 2 และโครงการน้ำงึม 2 โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนธันวาคม 2552 และมีนาคม 2554 ตามลำดับ
2. กฟผ. ได้เจรจากับกลุ่มผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3 จนได้ข้อยุติเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขสำคัญ และได้จัดร่างบันทึกเตรียมร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ของโครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3 โดยใช้ MOU ของโครงการน้ำงึม 2 เป็นต้นแบบ ซึ่งร่าง MOU ของทั้งสองโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้าน พลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 และต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงาน เสนอร่าง MOU การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำเทิน 1 และโครงการ น้ำงึม 3 เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง MOU ของทั้งสองโครงการก่อนลงนามร่วมกับกลุ่มผู้ลงทุนโครงการต่อไป
3. ลักษณะของโครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3 สรุปได้ดังนี้
3.1 โครงการน้ำเทิน 1 มีกำลังผลิตติดตั้ง 523 เมกะวัตต์ จ่ายพลังงานไฟฟ้าในส่วนของ Primary Energy (PE) และ Secondary Energy (SE) ปีละประมาณ 1,996 ล้านหน่วย เชื่อมกับระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3โดยระบบ 500 กิโลโวลต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ประมาณปี 2556 ซึ่งกลุ่มผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย บริษัท Gamuda Berhad จำกัด, บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และรัฐบาล สปป. ลาว. ถือหุ้นร้อยละ 40,40 และ 20 ตามลำดับ
3.2 โครงการน้ำงึม 3 มีกำลังผลิตติดตั้ง 440 เมกะวัตต์ จ่ายพลังงานไฟฟ้าในส่วนของ PE และ SE ปีละประมาณ 2,212 ล้านหน่วย เชื่อมกับระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 โดยระบบ 230 กิโลโวลต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ประมาณปี 2556 ซึ่งกลุ่มผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย MDX Lao, บริษัท Marubeni จำกัด, บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และรัฐบาล สปป. ลาว ถือหุ้นร้อยละ 27, 25, 25 และ 23 ตามลำดับ
4. สาระสำคัญของร่าง MOU โครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3
4.1 ข้อตกลงนี้ทำขึ้นระหว่าง กฟผ. และ [ชื่อบริษัท] จำกัด ใน สปป. ลาว
4.2 โครงการมีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 523 [440]* เมกะวัตต์และมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยรายปีของ PE เท่ากับ 1,692 [1,982]* ล้านหน่วย และ SE เท่ากับ 304 [230]* ล้านหน่วย และจะมี Excess Energy (EE) จำนวนหนึ่ง โดย กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PE และ SE
4.3 อัตราค่าไฟฟ้า ณ ชายแดน มีค่าคงที่ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กล่าวคือ 1) Primary Energy (PE)Tariff ส่วนที่ 1 เท่ากับ 2.6700 Cents/หน่วย และส่วนที่ 2 เท่ากับ 1.0146 บาท/หน่วย 2) Secondary Energy (SE) Tariff เท่ากับ 1.2335 บาท/หน่วย 3) Excess Energy (EE) Tariff เท่ากับ 1.1307 บาท/หน่วย และ 4) Pre COD Energy Tariff เท่ากับ 1.5419 บาท/หน่วย
4.4 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีอายุ 27 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date:COD) โดยอาจมีอายุสัญญาได้ยาวกว่านี้ หาก สปป. ลาว อนุมัติ และทั้งสองฝ่ายตกลง โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 2 เป็นพื้นฐานในการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
4.5 หากโครงการได้รับผลประโยชน์จากกลไกพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) โครงการจะต้องเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับ กฟผ. ทั้งนี้จะขึ้นกับการตกลงของรัฐบาล สปป. ลาว
4.6 MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน (1) เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (2) MOU มีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนามหรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงต่ออายุ MOU ออกไป (3) ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเลิกก่อนได้ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในส่วนของตน และไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายต่อเนื่องจาก MOU หรือจากการยกเลิก MOU
4.7 กำหนดวันแล้วเสร็จของงานต่างๆจะเป็นดังนี้
- Scheduled Financial Close Date (SFCD) เท่ากับ 6 เดือนนับจากลงนาม PPA
- Scheduled Energizing Date (SED) (กำหนดวันที่ระบบส่งของทั้งสองฝ่ายพร้อมรับและส่งพลังงานไฟฟ้า) เท่ากับ 54 [53]* เดือนนับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date(FCD) และ วัน SFCD
- Scheduled Commercial Operation Date (SCOD) คือวันที่ช้ากว่าระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556 และ 60 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน FCD และ วัน SFCD
- หากฝ่ายใดทำให้วัน COD ล่าช้ากว่าวัน SCOD จะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราที่เท่ากัน
4.8 จำนวนหลักทรัพย์ค้ำประกันกำหนดไว้ 1) วันลงนามสัญญาฯ จำนวน 7.6 [8.9]* Million USD 2) วัน Financial Close Date จำนวน 19.1 [22.4]* Million USD 3) วันที่ COD จำนวน 17.1 [20.0]* Million USD และ 4) วันครบรอบ COD 14 ปี จำนวน 5.75 [6.7]* Million USD โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะถูกบังคับ และ ตีความตามกฎหมายไทย
(หมายเหตุ * : ค่าใน [ ] เป็นค่าของโครงการน้ำงึม 3)
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1และโครงการน้ำงึม 3
2.เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำร่างบันทึกความเข้าใจฯที่ได้รับความเห็นชอบแล้วในข้อ1 ไปลงนามร่วมกับกลุ่มผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำงึม 3 ต่อไป
เรื่องที่ 2 การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีมีติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 ได้มีมติอนุมัติตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 เรื่อง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2547 - 2558 (PDP 2004) โดยเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า 4 โรง รวมกำลังผลิต 2,800 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ จะต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบาย Renewable Portfolio Standard (RPS) ร้อยละ 5 ของกำลังผลิตโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะสร้างขึ้นตามแผน PDP 2004 หรือปริมาณ 140 เมกะวัตต์
2. กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยใช้มาตรการจูงใจด้านราคาผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าราย เล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยกำหนดส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP หรือ VSPP ตามประเภทเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วย และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการในรายละเอียด และนำเสนอ กพช. ขอความเห็นชอบต่อไป นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามนโยบาย RPS ของ กฟผ. และมอบหมายให้ กฟผ. เร่งดำเนินการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กำลังการผลิตประมาณ 80 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 60 เมกะวัตต์ ให้ กฟผ. เร่งดำเนินการออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ลงทุนยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า โดยใช้วิธีประมูลแข่งขัน สำหรับราคาที่ได้จากการประมูลแข่งขันดังกล่าว ให้ สนพ. นำไปประกอบการพิจารณากำหนดส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงาน หมุนเวียนต่อไป
3. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 กระทรวงพลังงานได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และได้เห็นควรกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า แยกตามประเภทเชื้อเพลิง โดยจะให้การสนับสนุน 1) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบ VSPP ได้รับส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่ และ 2) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาเกินกว่า 10 เมกะวัตต์ จะเปิดให้มีการประมูลแข่งขันส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า
4. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 ได้พิจารณาเรื่อง การกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และการผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. -และได้มีมติ-ดังนี้
4.1 เห็นชอบการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบการ รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยให้การสนับสนุนเป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา และกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบ VSPP โดยให้การสนับสนุนเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าตามระเบียบการ รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ภายหลังวันที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายออกประกาศขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) แยกตามประเภทเชื้อเพลิง และมูลค่าการรับซื้อไฟฟ้าตามส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวให้ส่งผ่าน ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ทั้งนี้ ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) แยกตามประเภทเชื้อเพลิงเป็นดังนี้
เชื้อเพลิง/เทคโนโลยี | ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) |
ชีวมวล | 0.30 |
พลังน้ำขนาดเล็ก (50-200 กิโลวัตต์) | 0.40 |
พลังน้ำขนาดเล็ก (< 50 กิโลวัตต์) | 0.80 |
ขยะ | 2.50 |
พลังงานลม | 2.50 |
พลังงานแสงอาทิตย์ | 8.00 |
4.2 เห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. กำลังการผลิตรวม 81.7 เมกะวัตต์ โดยจำแนกเป็น พลังน้ำขนาดเล็ก 78.7 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ และกังหันลม 2 เมกะวัตต์ ตามลำดับ และให้ กฟผ. ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนโดยวิธีการเปิดประมูลแข่งขัน โดยให้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านมาตรการสนับสนุนส่วน เพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP หรือ VSPP ที่จะมีการเปิดประมูลแข่งขันในอนาคต ทั้งนี้ ให้คงสัดส่วนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่ากับร้อยละ 5 ของกำลังการผลิตใหม่ตามเดิม
5. ตามมติ กบง. ในข้อ 4 กำหนดให้คงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 5 ของกำลังการผลิตติดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. หรือปริมาณ 140 เมกะวัตต์ โดยให้ กฟผ. ดำเนินการลงทุนเอง กำลังการผลิต 81.7 เมกะวัตต์ สำหรับการผลิตส่วนที่เหลืออีกประมาณ 59 เมกะวัตต์ ให้นำมานับรวมในมาตรการสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า โดยกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตแยกตามประเภท เชื้อเพลิง ตามสัดส่วนที่ กฟผ. เสนอ และกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กบง. จะส่งผลกระทบทำให้ค่า Ft เพิ่มขึ้นประมาณ 0.36 - 0.40 สตางค์ต่อหน่วย
มติของที่ประชุม
- เห็นชอบการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ตามปริมาณพลังไฟฟ้าที่ผลิตและขายเข้าระบบสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุน เวียน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ทั้งนี้ไม่รวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนในการผลิตไฟฟ้า รูปแบบอื่นๆ แล้ว โดยให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอภายในปี 2551
- เห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. กำลังการผลิต 81.7 เมกะวัตต์ และเห็นชอบให้ กฟผ. ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนโดยวิธีการเปิดประมูลแข่งขัน โดยให้มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านมาตรการสนับสนุน ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ทั้งนี้ให้คงสัดส่วนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่ากับร้อย ละ 5 ของกำลังการผลิตใหม่ตามเดิม
เรื่องที่ 3 การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต
สรุปสาระสำคัญ
1. กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ดำเนินการออกประกาศเกี่ยวกับข้อกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ประกาศเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2547 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2547 2) ประกาศเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2548 โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2548 และ 3) ประกาศเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2548
2. เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการบริหารประเทศด้านพลังงาน ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สนพ. ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ อนาคต ขณะที่ปัจจุบันคุณภาพอากาศของไทยพบว่า ปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM-10) จากการใช้น้ำมันดีเซลที่มีค่ากำมะถันสูง และปัญหาก๊าซโอโซนมีปริมาณสูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ โดยมีสาเหตุหลักจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 พบว่าสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซิน/น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีปริมาณถึงร้อยละ 60 ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด และปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนทั่วประเทศในปี 2547 ได้เพิ่มขึ้นจากจำนวน 20.624 ล้านคัน เป็น 25.266 ล้านคัน ในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.50 ขณะเดียวกันในกลุ่มสหภาพ ยุโรปได้มีการปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยไอเสียรถยนต์ และมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง โดยได้บังคับใช้มาตรฐาน EURO 4 ในปี 2548 ซึ่งกำหนดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเบนซินและดีเซลไว้ไม่สูงกว่า 50 ppm
3. กระทรวงพลังงานได้จัดประชุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 เพื่อพิจารณามาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต โดยมีข้อเสนอการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงสรุปได้ดังนี้
3.1 กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามแนวทางมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง EURO 4 โดยปรับปรุงจากมาตรฐานคุณภาพน้ำมันที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เฉพาะข้อกำหนดดังต่อไปนี้
3.1.1 น้ำมันเบนซิน/แก๊สโซฮอล์
ข้อกำหนด | หน่วย | อัตราสูงต่ำ | ประกาศฉบับปัจจุบัน | ประกาศอนาคต |
โอเลฟีน | ร้อยละโดยปริมาตร | ไม่สูงกว่า | (ไม่ได้กำหนด) | 18 |
ตะกั่ว | กรัม/ลิตร | ไม่สูงกว่า | 0.013 | 0.005 |
กำมะถัน | ร้อยละโดยน้ำหนัก | ไม่สูงกว่า | 0.05 | 0.005 |
เบนซีน | ร้อยละโดยปริมาตร | ไม่สูงกว่า | 3.5 | 1.0 |
3.1.2 น้ำมันดีเซล
ข้อกำหนด | หน่วย | อัตราสูงต่ำ | ประกาศฉบับปัจจุบัน | ประกาศอนาคต |
Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) | ร้อยละโดยน้ำหนัก | ไม่สูงกว่า | (ไม่ได้กำหนด) | 11 |
กำมะถัน | ร้อยละโดยน้ำหนัก | ไม่สูงกว่า | 0.035 | 0.005 |
จำนวนซีเทน/ดัชนีซีเทน | - | ไม่ต่ำกว่า | 47 | 50 |
3.2 การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต ประมาณการเบื้องต้นว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อปรับลดปริมาณกำมะถันลงไปที่ระดับ 50 ppm และใช้เพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท เพื่อลดปริมาณกำมะถันลงไปที่ 10 ppm ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันอย่างน้อย 5 ปี จึงควรกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้ มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
3.3 ที่ประชุมได้มีข้อสังเกตว่าการลงทุนปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ภาครัฐควรมีการดำเนินการอย่างเข้มงวดในการควบคุมการปล่อยมลพิษของรถยนต์ใช้ งาน และควรพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ ทั้งด้านการสนับสนุนเงินลงทุน การลดหย่อนภาษี และมาตรการจูงใจในด้านอื่นๆ แก่ผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนควรพิจารณาให้ปรับปริมาณสารอะโรมาติกในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นร้อยละ 39 เพื่อให้กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นมีความคล่องตัวในการจัดหาองค์ประกอบ ส่วนการปรับลดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงไปที่ระดับ 10 ppm ควรเป็นความสมัครใจ โดยรัฐบาลอาจใช้มาตรการเสริมเพื่อสร้างแรงจูงใจ และให้กลไกด้านการตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน
4. การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว จะช่วยลดผลกระทบทั้งทางด้านมลพิษ และทางด้านสุขภาพอนามัย และทำให้สามารถใช้อุปกรณ์กำจัดมลพิษที่เป็น Advance Technology ในรถใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การปรับลดกำมะถันในน้ำมันจะช่วยลดการเสื่อมและยืดอายุการใช้งานของ เครื่องยนต์ ตลอดจนอุปกรณ์ลดมลพิษต่างๆ ส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนเครื่องยนต์และ อุปกรณ์ลดมลพิษด้วย แต่ทั้งนี้ประเทศไทยอาจจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการปรับปรุงโรงกลั่น น้ำมัน และพัฒนารถยนต์ ซึ่งจากการประมาณการเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นฯ จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง รวมประมาณถึง 50,960 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน จะเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวมีความจำเป็นและคุ้มค่า
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยในอนาคต ตามแนวทางของมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง EURO 4 โดยการปรับปรุงจากมาตรฐานคุณภาพน้ำมันที่มีบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเฉพาะข้อ กำหนด ดังรายละเอียดในข้อ 3.1.1 และข้อ 3.1.2
2.เห็นชอบให้กำหนดระยะเวลาในการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 เห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ โดยกำหนดให้มีการใช้เอทานอลวันละ 1 ล้านลิตร ในปี 2549 และเพิ่มเป็น 3 ล้านลิตร ในปี 2554 เพื่อทดแทนสาร MTBE ในน้ำมันเบนซิน 95 และเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล และสนับสนุนแผนการจัดการด้านวัตถุดิบ ตลอดจนรูปแบบการนำไปสู่ การปฏิบัติที่ชัดเจน
2. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อ เพลิงชีวภาพ (กชช.) และได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการยกเลิก "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ พ.ศ.2545" ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 โดย กชช. มีอำนาจครอบคลุมภารกิจของคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อ ใช้เป็นเชื้อเพลิงจาก กชช. แล้ว ผู้ประกอบการต้องยื่นเรื่องต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป
3. ในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 ได้มีมติให้เปิดเสรีในการขอจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเร่งรัดและส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่าย เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้ตามเป้าหมายที่กำหนดและสอดคล้องกับนโยบาย ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2549 กชช. ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังร่วมกันพิจารณายกเลิกข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิด เสรีการจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
4. กระทรวงพลังงานได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อพิจารณายกเลิกข้อ กำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีฯ และพิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนตามนโยบายการเปิดเสรีรวม 3 ครั้ง ซึ่งปรากฏว่ามีประกาศและข้อกำหนดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีการตั้งโรง งานเอทานอลฯ คือ 1) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุราฯ พ.ศ. 2543 ในส่วนที่ 3 การทำและขายส่งสุราสามทับ (แอลกอฮอล์) ข้อ 11 ไม่อนุญาตให้โรงงานสุรากลั่นแห่งอื่นทำสุราสามทับ (เอทานอล) ออกขายภายในประเทศ 2) เงื่อนไขที่กำหนดและ/หรือข้อถือปฏิบัติโดย กชช. ทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน ดังนั้นเพื่อให้ไม่มีอุปสรรคในนโยบายเปิดเสรีการจัดตั้งโรงงานผลิตและ จำหน่าย เอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เห็นควรให้ดำเนินการดังนี้
4.1 ให้กระทรวงการคลังจัดทำประกาศ เรื่อง การจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิงแทนการบังคับใช้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 สำหรับการ ตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเปิดเสรี ทั้งนี้ให้กระทรวง การคลังร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ดำเนินการและจัดทำประกาศดังกล่าวให้ แล้วเสร็จโดยเร็ว
4.2 ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดและ/หรือข้อถือปฏิบัติโดย กชช. และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตั้ง โรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงจากคณะกรรมการเอทานอ ลแห่งชาติหรือจาก กชช. ใดที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขสาระสำคัญโครงการ รวมทั้งผู้ที่มีความประสงค์จะจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อ เพลิงภายในประเทศ และ/หรือผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการส่งออก ให้ดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกประการ
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดทำประกาศเรื่อง การจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนการบังคับใช้ ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 สำหรับการตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับ นโยบายการเปิดเสรี ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ดำเนินการและจัดทำประกาศดังกล่าวให้ แล้วเสร็จโดยเร็ว
2.เห็นควรยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดและ/หรือข้อถือปฏิบัติโดยคณะกรรมการพัฒนา และส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อ เพลิงจากคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ หรือจากคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพใดที่มีความประสงค์จะ ปรับเปลี่ยนแก้ไขสาระสำคัญโครงการ รวมทั้งผู้ที่มีความประสงค์จะจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในประเทศและ/หรือผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อ เพลิงเพื่อการส่งออกให้ดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกประการ
เรื่องที่ 5 การแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. องค์การพลังงานโลก (World Energy Council : WEC) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการศึกษาเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งพลังงาน การผลิตและการใช้พลังงานให้มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องจัดตั้งในรูปของคณะกรรมการสมาชิกของประเทศ (Country Member Committee) เท่านั้น
2. ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การพลังงานโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ในนามของคณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทย (Thailand National Committee - World Energy Council) โดยมีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นเลขานุการฯ ต่อมา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทยขึ้นใหม่ โดยมี ศ.ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ เป็นประธานฯ และ พพ. เป็นกรรมการและเลขานุการฯ ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดส่งผู้แทนเข้าร่วมในการประชุมและกิจกรรมขององค์การอย่างต่อ เนื่องทุกปี เพื่อติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีและความสำเร็จของการจัดการด้านพลังงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ด้านพลังงานกับประเทศต่างๆ
3. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีหนังสือขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่ง ตั้งไว้ ซึ่งจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2549 กระทรวงพลังงานจึงได้ทำหนังสือแจ้ง สลค. ขอยกเลิกคณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทย แต่เนื่องจากองค์การพลังงานโลกของประเทศไทยยังมีความจำเป็นจะต้องคงอยู่ เพื่อทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับองค์การพลังงานโลกต่อไป จึงเห็นควรให้คณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของไทยมาอยู่ภายใต้คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยปรับให้มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาพลังงาน ในปัจจุบัน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทย ตามการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ใหม่
เรื่องที่ 6 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เดือนพฤศจิกายน 2549)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 56.72 และ 59.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 0.29 และ 0.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากข่าวโอเปคจะลดกำลังการผลิตลงอีก 0.3 - 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไนจีเรียที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรง มากขึ้น
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 เฉลี่ยเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 62.89 และ 62.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 1.06 และ 0.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจาก Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ลดลงอยู่ที่ระดับ 204 ล้านบาร์เรล ขณะที่ความต้องการซื้อน้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 69.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับลดลง 1.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นของเกาหลีใต้ จะเพิ่มการส่งออกน้ำมันเครื่องบินในเดือนธันวาคม 2549
3. ราคาน้ำมันขายปลีกเดือนพฤศจิกายน ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลดลง 1 ครั้ง 0.40 บาทต่อลิตร และปรับขึ้น 1 ครั้ง 0.40 บาทต่อลิตร ขณะที่ปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลง 1 ครั้ง 0.40 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 อยู่ที่ระดับ 25.69 , 24.89 และ 23.84 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
4. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ณ วันที่ 27 พ.ย. 2549) มีเงินสดสุทธิ 8,439 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 53,758 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 17,600 ล้านบาท หนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 22,759 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยตรึงราคาน้ำมันค้างชำระ 1,617 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคา LPG 11,680 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างจ่ายประจำเดือน 102 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 45,319 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 7 การลดค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงมหาดไทย ได้เชิญผู้แทน กฟภ. เข้าร่วมการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 และมอบหมายให้ กฟภ. พิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ต่อมา กฟภ. ได้เสนอเรื่อง การลดค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ต่อ กบง. พิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 และที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
1.1 เห็นชอบในหลักการกำหนดส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็กที่ประสบอุทกภัย รายละ 100 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 5 เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม 2549 - เมษายน 2550 ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใดใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 100 บาท/เดือน จะไม่สามารถนำส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวมาลดค่าไฟฟ้าในเดือนถัดไปได้
1.2 เห็นชอบแนวทางการแบ่งรับภาระส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยให้ (1) กฟผ. และ กฟน. แบ่งรับภาระที่เกิดจากการลดค่าไฟฟ้าในเขต กฟน. ฝ่ายละครึ่ง และ (2) กฟผ. และ กฟภ. แบ่งรับภาระที่เกิดจากการลดค่าไฟฟ้าในเขต กฟภ. ฝ่ายละครึ่ง
1.3 มอบหมายให้ กฟน. และ กฟภ. จัดทำประมาณการภาระส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับ ผู้ประสบอุทกภัย โดยพิจารณาถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาด เล็กที่ประสบอุทกภัยร่วมด้วย และจัดส่งให้ สนพ. เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการนำเสนอ กพช. เพื่อทราบต่อไป
2. การประมาณการภาระส่วนลดค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ในช่วงเดือนธันวาคม 2549 - เมษายน 2550 พบว่าพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งประเทศจำนวน 47 จังหวัด มีจำนวน ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบอุทกภัยประมาณ 1.22 ล้านราย คิดเป็นภาระส่วนลดค่ากระแสไฟฟ้ารวมประมาณ 531 ล้านบาท จำแนกเป็นการลดค่าไฟฟ้าในเขต กฟน. และ กฟภ. จำนวนประมาณ 50 และ 481 ล้านบาท ตามลำดับ โดยที่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. รับภาระส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นจำนวน 265 25 และ 241 ล้านบาท ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
กพช. ครั้งที่ 107 - วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2549
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2549 (ครั้งที่ 107
วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.นโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
2.การแก้ไขปัญหาหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแนวทางในการบริหารกองทุนฯ ในอนาคต
3.แนวทางการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ
4.แนวทางการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์และการเลื่อนการยกเลิกเบนซิน 95
5.การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
6.การขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว>
7.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ตั้งแต่กันยายน - ตุลาคม 2549)
8.การปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และแนวโน้มค่า Ft ในระยะต่อไป
10.การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 นโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 รัฐบาลได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ในส่วนของนโยบายด้านพลังงานเป็นดังนี้ "จะส่งเสริมประสิทธิภาพและประหยัดการใช้พลังงาน การพัฒนาและใช้ประโยชน์พลังงานทดแทน การสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงเขตพัฒนาร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสม และการปรับโครงสร้างบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม โดยแยกงานนโยบายและการกำกับดูแลให้มีความชัดเจน รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงานในระยะยาว และการศึกษาวิจัยพลังงานทางเลือก" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน กระทรวงพลังงานจึงได้จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ โดยแบ่งนโยบายพลังงานออกเป็น 2 ระยะคือ มาตรการที่ต้องดำเนินการทันที ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาพลังงานของประเทศ และมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะต่อไป เป็นนโยบายเพื่อการวางพื้นฐานการพัฒนาพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและ ยั่งยืน สอดคล้องกับ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. นโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย นโยบายในระยะสั้น และระยะยาว โดยที่นโยบายระยะสั้น สรุปได้ดังนี้
2.1 ปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารจัดการพลังงาน ของประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อแยกงานนโยบายและการกำกับดูแลออกจากกันให้มีความชัดเจน ด้วยให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานครอบคลุมถึงกิจการ ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และมีการจัดตั้งองค์กรอิสระกำกับดูแลตามกฎหมาย พร้อมทั้งเสนอการแก้ไขพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 เพื่อโอนอำนาจรัฐ ให้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ตลอดจนเร่งผลักดัน ปรับปรุง แก้ไข กฎหมายด้านพลังงานอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น
2.2 การจัดหาพลังงาน เพื่อให้มีความเพียงพอและมั่นคง โดยเร่งรัดและส่งเสริมการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งใน ประเทศและเขตพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มเติม และพัฒนาโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ เร่งส่งเสริมบทบาทของ ปตท.สผ. ในการสำรวจพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยการปรับค่าพยากรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตลอดจนกระจายแหล่งและชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
2.3 ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยการกำหนดเป้าหมาย และเร่งดำเนินการอนุรักษ์พลังงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และจัดตั้งองค์กรหลักในการผลักดันและบริหารจัดการด้านการใช้พลังงาน (National Demand Side Management Office) พร้อมทั้งเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานการประหยัดพลังงานของอุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น ตลอดจนริเริ่ม มาตรการประหยัดพลังงานในภาคคมนาคมขนส่ง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้า และความร้อนร่วมกัน (Cogeneration) ในปริมาณที่เหมาะสม โดยผ่านระเบียบการรับซื้อ ไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)
2.4 ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ เพื่อกระจายชนิดเชื้อเพลิงและลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก๊าซโซฮอล์ (Gasohol) และไบโอดีเซล (Biodiesel) ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง และสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในสัดส่วนและราคาที่เหมาะสม รวมทั้งจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนใน ชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทน เชิงนโยบาย นอกจากนี้จะเผยแพร่ให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนรู้จักและมั่นใจการเลือกใช้ เชื้อเพลิงอื่น
2.5 กำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้การกำหนดราคาพลังงานโปร่งใส เป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยกำกับดูแลให้การกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามกลไกตลาดที่เสรี โปร่งใส และเป็นธรรม และเร่งดำเนินการเพื่อลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและวางกรอบแนวทาง การใช้งบประมาณของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต พร้อมทั้งปรับโครงสร้างราคาและการชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุน และปรับวิธีการคำนวณค่า Ft ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น รวมทั้งกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนในการจัดหา ค่าผ่านท่อ และการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้มีความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
2.6 กำหนดมาตรการด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการพลังงานในรูปแบบ ต่างๆ โดยการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูปให้สูงขึ้นอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้สัตยาบันไว้กับมิตรประเทศ พร้อมทั้งร่วมมือกับนานาประเทศในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง กับการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนเร่งผลักดันกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
2.7 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยส่งเสริมการ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านพลังงาน เพื่อให้การพัฒนาพลังงานเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานชุมชน เช่น การผลิตไฟฟ้าและไบโอดีเซลชุมชน
3. สำหรับนโยบายระยะยาว ซึ่งเป็นการวางรากฐานการบริหารจัดการพลังงานแบบยั่งยืน และสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะดำเนินการ ดังนี้คือ
3.1 จัดหาพลังงานโดยการกำหนดมาตรการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและจัดหาพลังงานของ ประเทศที่ทำให้เกิดความมั่นคง มีใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง และลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาวิจัยพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ
3.2 พัฒนาพลังงานแบบยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาพลังงาน ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาธุรกิจพลังงาน และปฏิบัติตาม พันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้สัตยาบันไว้กับมิตรประเทศ พร้อมทั้งให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
3.3 ส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน โดยส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงานเพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ดังนี้
ระยะสั้น เริ่มดำเนินการทันทีภายในรัฐบาลนี้
1. ปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารจัดการพลังงานของประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุด
(1) ยกร่างและเร่งดำเนินการเพื่อให้มีพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน เพื่อแยกงานนโยบายและการกำกับดูแลออกจากกันให้มีความชัดเจน โดยให้การกำกับดูแลกิจการพลังงาน ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และมีการจัดตั้งองค์กรอิสระกำกับดูแล
(2) เสนอการแก้ไขพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 เพื่อโอนอำนาจรัฐให้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
(3) เร่งผลักดัน ปรับปรุง แก้ไข กฎหมายด้านพลังงานอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2515 และ พ.ร.บ. เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการด้านพลังงาน
2. การจัดหาพลังงาน เพื่อให้พลังงานมีความเพียงพอและมั่นคง
(2.1) เร่งรัดและส่งเสริมการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงพลังงาน
(1) ส่งเสริมการสำรวจพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งในประเทศ และเขตพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน
- เร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มเติม จากแหล่งยูโนแคล แหล่งอาทิตย์ แหล่งบงกช แหล่งไพลิน และแหล่งก๊าซในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA)
- พัฒนาโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพพม่า แหล่ง M7/M9 และ A1 และประเทศอินโดนีเซีย แหล่งนาทูน่า และหรือ LNG จากต่างประเทศ
- เร่งรัดการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนไทย - กัมพูชา
(2) ส่งเสริมบทบาทของ ปตท.สผ. ในการสำรวจพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(2.2) ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
(1) ปรับค่าพยากรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เพื่อให้การลงทุนด้านกิจการไฟฟ้าเป็นไปอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้อง การใช้
(2) ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเร่งรัดการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP)
(3) กระจายแหล่งและชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน เสถียรภาพของราคาโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิต ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ต่อผู้บริโภค
3. ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
(1) กำหนดเป้าหมายและเร่งดำเนินการอนุรักษ์พลังงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และปลูกฝังให้เกิดการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า เช่น การเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ติดฉลากแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น
(2) จัดตั้งองค์กรหลักในการผลักดันและการบริหารจัดการด้านการใช้พลังงาน (National Demand Side Management Office) เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมการประหยัดพลังงานเป็นไปอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง
(3) เร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานการประหยัดพลังงานของอุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงาน รวมทั้ง ดำเนินการติดฉลากอุปกรณ์ที่ได้กำหนดมาตรฐานไว้แล้ว
(4) ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น โดยจัดเตรียมพื้นที่จอดรถในลักษณะ Park & Ride และอำนวยความสะดวก โดยเตรียม Feeder ให้บริการเดินทางเข้าสู่เมือง
(5) สนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้า และความร้อนร่วมกัน (Cogeneration) ซึ่งเป็นระบบการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ โดยผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในปริมาณที่เหมาะสม
(6) ริเริ่มมาตรการประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง ได้แก่ การพัฒนาระบบแหล่งมวลชน ระบบ Logistics และการพัฒนายานยนต์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
4. ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ เพื่อกระจายชนิดเชื้อเพลิงและลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน
(1) ส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก๊าซโซฮอล์ (Gasohol) และไบโอดีเซล (Biodiesel) ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ตามความเหมาะสมกับศักยภาพด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ
(2) สนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ของเสียจากอุตสาหกรรม ก๊าซชีวภาพ ขยะ ลม พลังงานแสงอาทิตย์ ในสัดส่วนและราคาที่เหมาะสม โดยเร่งออกประกาศขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตขนาดเล็กมาก (VSPP) และการกำหนดราคารับซื้อ ไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากราคาตามระเบียบ
(3) จัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในชุมชน ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและยั่งยืน เนื่องจากการดำเนินการจะเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
(4) สนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนเชิงนโยบาย เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ
(5) เผยแพร่ให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนรู้จักและมั่นใจการเลือกใช้เชื้อเพลิงอื่น เช่น NGV ก๊าซโซฮอล์ และไบโอดีเซล รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการส่งเสริม และพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ถ่านหิน และอื่นๆ
5. กำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้การกำหนดราคาพลังงานโปร่งใส เป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
(1) กำกับดูแลให้การกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามกลไกตลาดที่เสรี โปร่งใส และเป็นธรรม
(2) เร่งดำเนินการเพื่อลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและวางกรอบแนวทางการใช้งบประมาณของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต
(3) ปรับโครงสร้างราคาและการชดเชยก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุน และลดการบิดเบือนของการใช้ก๊าซหุงต้มที่ไม่เหมาะสม
(4) ปรับวิธีการคำนวณค่า Ft ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยให้มีการส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าภายใต้การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
(5) กำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนในการจัดหา ค่าผ่านท่อ และการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ให้มีความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
(6) ติดตามและกำกับดูแลราคาพลังงานทดแทน (NGV, Gasohol, Biodisel) ให้สะท้อนต้นทุนและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
6. กำหนดมาตรการด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการพลังงานในรูปแบบต่างๆ
(1) กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูปให้สูงขึ้นอย่างเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ
(2) ให้ความสำคัญในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาธุรกิจพลังงาน โดยให้ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
(3) ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้สัตยาบันไว้กับมิตรประเทศ
(4) ร่วมมือกับนานาประเทศในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการประ กอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
(5) เร่งผลักดันกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมี ประสิทธิภาพ และช่วยให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
7. ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพื่อความเข้าใจและร่วมมือกันพัฒนาพลังงานของประเทศ
(1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านพลังงาน เพื่อให้การพัฒนาพลังงานเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานชุมชน เช่น การผลิตไฟฟ้าและไบโอดีเซลชุมชน อันเป็นการสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ระยะยาว : เริ่มดำเนินการศึกษา วิจัยเพื่อวางรากฐานการบริหารจัดการพลังงานแบบยั่งยืน และสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
8. จัดหาพลังงาน
- กำหนดมาตรการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและจัดหาพลังงานของประเทศที่ทำให้ เกิดความมั่นคง มีใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง และลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
- สนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และศึกษาวิจัยพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ
9. พัฒนาพลังงานแบบยั่งยืน
- ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาพลังงาน ควบคู่ไปกับลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาธุรกิจพลังงาน
- ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้สัตยาบันไว้กับมิตรประเทศ
- ให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
- ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพลังงาน
10 ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- สนับสนุนหน่วยงานอื่นในการพัฒนาโครงการที่ส่งผลในการลดใช้พลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบ Logistics การพัฒนายานยนต์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
11. ส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน
- ส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็น ธรรม โดยมีระบบกำกับดูแลการประกอบกิจการที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรมให้ แก่ผู้บริโภค
เรื่องที่ 2 การแก้ไขปัญหาหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแนวทางในการบริหารกองทุนฯ ในอนาคต
สรุปสาระสำคัญ
1. จากการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงปลายปี 2546 ถึงต้นปี 2547 รัฐบาลได้มีนโยบายตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ส่งผลให้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้สินจากการจ่ายเงินชดเชยสะสมทั้งสิ้น 92,054 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาปัญหาภาระหนี้สินจากการตรึงราคาน้ำมัน และหนี้สินจากเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG โดยพบว่ากองทุนน้ำมันฯ จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2550 - มีนาคม 2551 จำนวนเงิน 11,468 ล้านบาท กบง. จึงเห็นชอบให้ปรับระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล เพิ่มขึ้น 1.50 บาท/ลิตร โดยเพิ่มจาก 2.50 บาท/ลิตร เป็น 4.00 บาท/ลิตร และให้ประธานกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นผู้ปรับขึ้นหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมัน เบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล
2. ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ จำนวน 4 ครั้ง โดยอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.96 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.55 บาท/ลิตร ส่งผลให้กองทุนฯ มีรายรับจากน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 2,600 ล้านบาท/เดือน เป็น 3,646 ล้านบาท/เดือน ซึ่งเมื่อหักเงินชดเชยก๊าซ LPG แล้วกองทุนฯ จะมีรายได้สุทธิ 3,162 ล้านบาท/เดือน ซึ่งทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ สิ้นตุลาคม 2549 มีเงินสดในบัญชี 5,533 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุนฯ 53,656 ล้านบาท และมีฐานะกองทุนฯ สุทธิติดลบ 48,123 ล้านบาท แยกเป็น 3 ประเภท คือ 1) หนี้พันธบัตร 17,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 งวดๆ ละ 8,800 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2550 และตุลาคม 2551 ตามลำดับ 2) หนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 22,759 ล้านบาท และ 3)หนี้ค้างชำระเงินชดเชย 13,297 ล้านบาท
3. จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ณ ระดับปัจจุบัน คาดว่าจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถสะสมเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้สถาบันการเงินหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2550 และชำระหนี้พันธบัตรได้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 อย่างไรก็ตามหนี้ในส่วนพันธบัตรงวดที่ 2 จำนวน 8,800 ล้านบาท ต้องไถ่ถอนตามกำหนดเวลาเดิม และเมื่อกองทุนฯ ได้ชำระหนี้สินจนหมดแล้ว จึงเห็นควรให้พิจารณาแนวทางในการ จัดการกองทุนน้ำมันฯ โดยพิจารณาจากทางเลือกใน 3 แนวทางคือ 1) ยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ เพื่อไม่ให้ กองทุนฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง 2) คงกองทุนฯ ไว้เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน โดยกำหนดวัตถุประสงค์ การใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน หรือ 3) นำเงินกองทุนฯ ไปใช้ในการลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง
มติของที่ประชุม
เห็นควรมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ ศึกษารายละเอียดแนวทางการจัดการกองทุนน้ำมันฯ เมื่อกองทุนฯ ชำระหนี้สินหมดแล้ว โดยให้คงกองทุนฯ ไว้เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และ/หรือนำเงินกองทุนฯ ไปใช้ในการลดใช้พลังงานในภาคขนส่ง
เรื่องที่ 3 แนวทางการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ได้เห็นชอบข้อเสนอการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและแนวทางการจัดตั้งองค์กร กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า โดยให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทำหน้าที่กำกับดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน และให้กระทรวงพลังงานดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้เหมาะสมต่อไป ต่อมา กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า โดยในระยะแรกให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในระยะยาวให้มีการยกร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อให้การกำกับดูแลมีความสมบูรณ์ครบถ้วนต่อไป
2. การดำเนินการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน เป็นดังนี้
2.1 คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (กกฟ.) จำนวน 7 ท่าน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2548 ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ทั้งนี้ ให้ สนพ. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของ กกฟ. ต่อมา กกฟ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ (อกก.) เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน จำนวน 6 คณะ ประกอบด้วย 1) อกก. กำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ 2) อกก. พิจารณาระเบียบการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า 3) อกก. การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า 4) อกก. คุ้มครองผู้บริโภค 5) อกก. กำกับดูแลการดำเนินงานของกิจการไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐ และ 6) อกก. ดำเนินการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ต่อมา กกฟ. ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไป
2.2 การดำเนินการกำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติที่ผ่านมาได้ดำเนินงานตามมติคณะ รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 เรื่องแนวทางการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งกำหนด การกำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติเป็น 2 ระยะ โดยในระยะสั้น ให้ กพช. ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติ กำกับดูแลอัตราค่าผ่านท่อ คุณภาพการให้บริการ การลงทุนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมและขจัดอุปสรรคในการแข่งขัน และในระยะยาวเมื่อการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... แล้วเสร็จ การดำเนินการในการออกใบอนุญาตต่างๆ จะเป็นหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลอิสระ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการออกใบอนุญาต ในกิจการระบบท่อส่งก๊าซฯ ท่อจำหน่ายก๊าซฯ การจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ รวมทั้งการกำกับดูแลอัตราค่าบริการผ่านท่อก๊าซฯ การลงทุน คุณภาพการบริการ และความปลอดภัย
3. ข้อเสนอแนวทางการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ดังนี้
3.1 การกำกับดูแลระยะยาว เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 และให้การกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิผลในระยะยาว ควรยกร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานโดยให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและ กิจการก๊าซธรรมชาติ และสามารถจัดตั้งองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างถาวร มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
3.2 การกำกับดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน
3.2.1 การกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า เนื่องจาก กกฟ. ซึ่งกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ลาออกทั้งคณะ และปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่จะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตลอดจนอำนาจหน้าที่ที่ปฏิบัติโดย กกฟ. เดิม สนพ. ได้ปฏิบัติอยู่แล้ว ดังนั้น การกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน ควรมีการดำเนินการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับ ดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2548 และให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับกิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านภาย ใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า คณะอนุกรรมการพิจารณาระเบียบการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
3.2.2 การกำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ การควบคุมให้การใช้อำนาจทางกฎหมายเป็นไปโดยถูกต้อง และการรักษาประโยชน์ของรัฐควรปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรับโอนอำนาจของรัฐ ซึ่ง บมจ. ปตท. ได้รับโอนไปเพื่อประกอบธุรกิจปิโตรเลียมตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของ บมจ. ปตท. พ.ศ. 2544 ได้แก่ อำนาจการประกาศเขต อำนาจการรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน และอำนาจในการเวนคืนที่ดิน ตามมาตรา 29-30 มาตรา 32-36 และมาตรา 38 ของพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากมีการตรากฎหมายการกำกับกิจการพลังงานแล้ว อำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ บมจ. ปตท. พ.ศ. 2544 จะสิ้นสุดลงตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุน รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542
ในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ขอบ บมจ. ปตท. พ.ศ. 2544 เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนท.) ตามความในมาตรา 13 (4) และมาตรา 26 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ดังนั้น จึงควรมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ กนท. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
มติของที่ประชุม
1.เห็นควรให้มีการยกร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... โดยให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานมีประสิทธิผลสูงสุดในระยะยาวต่อไป
2.เห็นควรให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแล กิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2548 และให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล กิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน รายละเอียดตามข้อ 3.2.1
3.เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 รายละเอียดตามข้อ 3.2.2 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการต่อไป
เรื่องที่ 4 แนวทางการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์และการเลื่อนการยกเลิกเบนซิน 95
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 เห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์โดยกำหนดให้มีการใช้เอทานอ ลวันละ 1 ล้านลิตร ในปี 2549 เพื่อทดแทนสาร MTBE ในน้ำมันเบนซิน 95 และเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล และสนับสนุนแผนการจัดการด้านวัตถุดิบ ตลอดจนรูปแบบการนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อดำเนินการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพของ ประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ และได้กำหนดเป้าหมายให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ทั่วประเทศ และยกเลิกน้ำมันเบนซิน 95 ในวันที่ 1 มกราคม 2550
3. การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยเพิ่มส่วนต่างของราคาน้ำมันเบนซิน 95 ให้สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 1.50 บาท/ลิตร จนถึงปัจจุบัน (เดือนตุลาคม 2549) มีสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์จำนวน 3,444 สถานี มีปริมาณความต้องการเอทานอลสำหรับผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 350,000 ลิตร/วัน หรือร้อยละ 44 ของการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตเอทานอลในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ โดย ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 มีผู้ผลิตเอทานอลเพียง 5 ราย ปริมาณการผลิตเฉลี่ย 480,000 ลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อทดแทน น้ำมันเบนซิน 95 ทั้งหมดจะมีประมาณ 800,000 ลิตร/วัน ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันเบนซินกับเอทานอลเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ราคาน้ำมันเบนซิน ณ โรงกลั่นอยู่ที่ระดับ 15 บาท/ลิตร โดยที่ราคาเอทานอลอยู่ที่ระดับ 25.30 บาท/ลิตร ทำให้ต้นทุนน้ำมันแก๊สโซฮอล์สูงขึ้นตาม นอกจากนี้ การยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับรถยนต์รุ่นเก่าที่เป็นระบบ คาร์บิวเรเตอร์ที่ยังมีการใช้งานอยู่ประมาณ 500,000 คัน และการเปลี่ยนการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 มาเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จะต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดจากถังเก็บน้ำมันของสถานีบริการมีสิ่ง สกปรก โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมันอิสระที่มีอยู่จำนวนมากและยังไม่ได้เริ่มจำหน่าย น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการดำเนินการเพื่อตรวจสอบให้สถานีบริการดัง กล่าวมีความพร้อม
4. กระทรวงพลังงานได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเมื่อวันที่ 18 และ 26 ตุลาคม 2549 เพื่อประเมินความต้องการใช้และการผลิตเอทานอล ตลอดจนความเป็นไปได้ในการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ในวันที่ 1 มกราคม 2550 โดยผลการประชุมสรุปได้ว่ายังมีความไม่แน่นอนในประเด็นการผลิต เอทานอลให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงเห็นควรให้กระทรวงพลังงานเลื่อนกำหนดการยกเลิกไปก่อน จนกว่าจะแน่ใจได้ว่ามีการผลิตเอทานอลได้เพียงพอ และควรเร่งรัดการผลิตเอทานอลจากโรงงานให้ได้โดยเร็ว สำหรับด้านราคาเอทานอลที่สูงกว่าเบนซิน 95 ควรจะมีการศึกษาต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เพื่อเป็นเกณฑ์ประกอบการเจรจาซื้อขาย ระหว่างผู้ค้าน้ำมันกับโรงงานผลิตเอทานอลต่อไป
5. ข้อเสนอเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าวมีดังนี้
5.1 ควรให้มีการเลื่อนกำหนดการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ออกไป โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาความเหมาะสมของช่วงเวลาในการยกเลิก การจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 โดยคำนึงถึงประเด็นความเพียงพอของปริมาณเอทานอล การกำหนดราคาเอทานอล และแนวทางการลดผลกระทบต่อรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้
5.2 เพื่อให้การบริหารจัดการมีความเป็นเอกภาพ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรเปลี่ยนแปลงองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านการส่งเสริมเอทานอล โดยยกเลิกคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ และให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเอทานอล และไบโอดีเซล ภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้เลื่อนกำหนดการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ออกไป โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาความเหมาะสมของช่วงเวลาในการยกเลิก การจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 โดยคำนึงถึงประเด็นความเพียงพอและปริมาณเอทานอล การกำหนดราคาเอทานอล และแนวทางผลกระทบต่อรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้
2.เห็นควรให้ยกเลิกคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ และให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเอทานอล และคณะอนุกรรมการไบโอดีเซลขึ้นภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้กระบวนการบริหารและจัดการเชื้อเพลิงชีวภาพมีความเป็นเอกภาพ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เรื่องที่ 5 การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนา กฎหมาย เพื่อศึกษา และเสนอแนะการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ และให้กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐทุกแห่งจัดทำแผนพัฒนากฎหมายเป็นรายปี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมฯ ขึ้น ซึ่ง คณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบ ศึกษา วิเคราะห์พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ รวมทั้ง การรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และนำมาประกอบการพิจารณายกร่างแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ตามหลักการที่กำหนด คือ ปรับปรุงข้อกำหนดการจัดเก็บรายได้รัฐ ปรับอัตราและระยะเวลาการลดหย่อนค่า ภาคหลวงปิโตรเลียมในพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ ปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาตเกี่ยวกับการสำรวจและ ผลิตปิโตรเลียมให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
2. พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2514 ประกอบด้วย 25 มาตรา และได้มีการแก้ไขปรับปรุงมาแล้วรวม 4 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2516 , 2522 , 2532 และ 2534 ตามลำดับ และการแก้ไขครั้งที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้มีมาตรการที่เหมาะสมสอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบัน อันจะส่งผลให้มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของประเทศต่อไป ซึ่งสาระสำคัญในการปรับปรุงสรุปได้ดังนี้
2.1 ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปิโตรเลียม คุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอำนาจหน้าที่ของอธิบดี ตลอดจน ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติและอนุญาตเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้แก่ การปรับปรุงอำนาจของ รัฐมนตรี ให้พิจารณาเฉพาะเรื่องนโยบายสำคัญและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรงของ ประเทศเท่านั้น รวมทั้ง แก้ไขปรับปรุงเรื่องการอนุมัติหรืออนุญาตที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลง มาและการปรับปรุง องค์ประกอบคณะกรรมการฯ โดยเปลี่ยนผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้อำนวยการ สนพ. และเพิ่มเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็น กรรมการ โดยที่ลดจำนวนกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเหลือ 5 คน และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรง คุณวุฒิ
2.2 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้แก่
- ปรับปรุงกรณีที่ผู้รับสัมปทานสามารถขอขยายอายุสัมปทาน เมื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมส่วนใหญ่ ต้องหยุดชะงักลง ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่มิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน
- ยกเลิกการจำกัดจำนวนแปลงและพื้นที่รวมของแปลงสำรวจ
- กำหนดให้ผู้รับสัมปทานหลายรายที่มีพื้นที่ผลิตคาบเกี่ยวกัน ในแหล่งสะสมปิโตรเลียมแหล่งเดียวกัน หรือต่างแหล่งกัน และการผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานรายหนึ่งรายใด ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์สามารถร่วมกันผลิตได้
- กำหนดให้อธิบดีสั่งให้บุคคลอื่นเข้าดำเนินการบำบัดปัดป้องความโสโครก จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมโดยผู้รับสัมปทานได้ โดยให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องเสนอแผนงาน งบประมาณประจำปี และงบการเงินประจำปีต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
- ปรับเพดานอัตราและระยะเวลาการลดหย่อนค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้น สำหรับแหล่งที่มีสภาพธรณีวิทยาไม่เอื้ออำนวย หรือแหล่งที่มีอัตราการผลิตลดต่ำลง หรือแหล่งที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงกว่าปกติ
- เพิ่มข้อกำหนดให้รัฐมนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงค่าคงที่ทางธรณีวิทยาได้ในกรณีที่เห็นสมควร
2.3 เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจรัฐในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งปลูก สร้าง วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกออกจากพื้นที่ผลิต เมื่อผู้รับสัมปทานสิ้นสุดสิทธิการดำเนินการในพื้นที่ หรือหมดอายุการใช้งาน เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ดี
มติของที่ประชุม
เห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ตาม ข้อ 2.1 - 2.2
เรื่องที่ 6 การขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 เพื่อส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เพื่อจำหน่ายให้แก่ประเทศไทยในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 ต่อมา ได้มีการปรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ประเทศไทยเพิ่มเติม เป็น 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศได้มีการลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539
2. ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าใน สปป. ลาว โดยฝ่ายไทยและ สปป. ลาว จะเจรจาเป็นรายโครงการ ตามที่รัฐบาล สปป. ลาว จะเสนอโครงการให้ไทยพิจารณาทั้งนี้ฝ่ายไทยมีคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือ ด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทำหน้าที่กำกับดูแล
3. การรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ภายใต้ MOU ดังกล่าว ปัจจุบันมี 2 โครงการที่จ่ายไฟฟ้า เชิงพาณิชย์เข้าระบบของ กฟผ. แล้ว ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน ขนาดกำลังผลิต 187 เมกะวัตต์ และโครงการห้วยเฮาะ ขนาดกำลังผลิต 126 เมกะวัตต์ และอีก 2 โครงการที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2 ขนาดกำลังผลิต 920 เมกะวัตต์ และโครงการน้ำงึม 2 ขนาดกำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ สำหรับโครงการน้ำเทิน 1 ได้ผ่านความเห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้า จากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศ เพื่อนบ้านแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า (Tariff MOU) และโครงการน้ำงึม 3 ในเบื้องต้นได้มีการเจรจาราคาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว
4. เนื่องจากปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ตาม MOU ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 จะสิ้นสุดภายในปี 2549 ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้สูงขึ้น ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2554 จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ และปี 2555-2559 จะเพิ่มขึ้น ปีละประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ ประกอบกับปัจจุบัน สปป. ลาว ได้เสนอโครงการที่มีศักยภาพใน สปป. ลาว จำนวน 7 โครงการ รวมโครงการที่มีศักยภาพ และที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จะทำให้ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5,781 เมกะวัตต์ ซึ่งการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จะช่วยให้ สปป. ลาว มีรายได้มากขึ้น สามารถนำเงินไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น และช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยทั้งนี้ฝ่ายไทยและ สปป. ลาว ได้มีการเจรจาบันทึกความเข้าใจขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาวแล้ว
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการให้มีการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558
2.เห็นชอบในหลักการร่าง MOU รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 3.6.4 และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศปรับปรุงแก้ไขร่าง MOU และหากไม่มีประเด็นการแก้ไขที่เป็นสาระสำคัญ ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการลงนามใน MOU ดังกล่าวต่อไป โดยไม่ต้องนำกลับมาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ อีก
3.มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ลงนามใน MOU
เรื่องที่ 7 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ตั้งแต่กันยายน - ตุลาคม 2549)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยตั้งแต่ กันยายน - ตุลาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 58.25 และ 60.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม 10.52 และ 12.74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากการเทขายทำกำไรของนักลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และผู้ค้าคลายความกังวล เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหประชาชาติ ประกอบกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 และดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยในตลาดจรสิงคโปร์ ระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 64.04, 63.39 และ 73.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม 17.18 , 16.97 และ 12.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบ รวมทั้งจีน ไต้หวัน และอินเดีย ได้ออกประมูลขายน้ำมันเบนซินส่งมอบในเดือนตุลาคม 2549 ประกอบกับความต้องการใช้ในภูมิภาคลดลงและสิ้นสุดฤดูกาลท่องเที่ยวในสหรัฐ อเมริกา
3. เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลดลงจากเดือนสิงหาคม 3.96 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลง 3.30 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 25.69 , 24.89 และ 24.24 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2549 มีเงินสดสุทธิ 7,167 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 55,709 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 17,600 ล้านบาท หนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 24,702 ล้านบาท หนี้เงิน ชดเชยตรึงราคาค้างชำระ 1,627 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 11,510 ล้านบาท หนี้เงินคืนกรณีอื่นๆ 159 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างจ่ายประจำเดือน 111 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิติดลบ 48,542 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 8 การปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และแนวโน้มค่า Ft ในระยะต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) ค่าไฟฟ้าฐาน กำหนดขึ้นภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อในระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีการปรับทุก 3-5 ปี โดยค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ยปัจจุบันเท่ากับ 2.25 บาท/หน่วย (2) ค่าไฟฟ้าตามสูตร การปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) คำนวณจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่า ไฟฟ้าฐาน และ (3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดในอัตราร้อยละ 7 ของมูลค่าไฟฟ้ารวม โดยการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้มีการเก็บค่า Ft ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2535 เป็นต้นมา และสูตร Ft มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีความเหมาะสมหลายครั้ง ซึ่ง สูตร Ft ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา จะเปลี่ยนแปลงตามค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า
2. การเปลี่ยนแปลงค่า Ft ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจาก (1) สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และ (2) ข้อจำกัดท่อก๊าซธรรมชาติและปริมาณก๊าซธรรมชาติทำให้ต้องมีการผลิตไฟฟ้าจาก น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน (เดือนตุลาคม 2549 - มกราคม 2550) เท่ากับ 78.42 สตางค์/หน่วย ลดลงจากช่วงก่อนหน้า จำนวน 7.02 สตางค์/หน่วย เป็นผลมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง และการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชนบีแอลซีพี ในเดือนตุลาคม 2549 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากประชาชนลดลงจาก 3.10 บาท/หน่วย เป็น 3.04 บาท/หน่วย หรือลดลงประมาณร้อยละ 2.06
3. การประมาณการค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2550 ในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับ 87.14 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเท่ากับ 8.72 สตางค์/หน่วย อย่างไรก็ตาม ได้มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของค่า Ft ดังนี้
3.1 ประสานงานกับกรมชลประทาน เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 422 ล้านหน่วย
3.2 เลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าก่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Pre COD) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชนบีแอลซีพี ให้เร็วขึ้น 15 วัน เป็นวันที่ 1 ธันวาคม 2549 เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนำเข้าจำนวน 324 ล้านหน่วย
3.3 ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งรัดการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA-A18 (Early Gas) เข้าใช้งานเร็วขึ้น 1 เดือน เป็นเดือนพฤษภาคม 2550 เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจำนวน 526 ล้านหน่วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก๊าซธรรมชาติแหล่งภูฮ่อมเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จล่าช้ากว่าเดิม 15 วัน เป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 และปัจจัยอื่นๆ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาในช่วงเดือนตุลาคม 2549 - พฤษภาคม 2550 ลดลงได้เพียง 721 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประมาณ 2,224 ล้านบาท ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ระดับสูงมากในปัจจุบัน และการบริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างมี ประสิทธิภาพ จะทำให้ค่า Ft ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2550 ไม่ปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)
1.1 กฟน. และ กฟภ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับปริมาณพลังไฟฟ้าไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 และวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 ตามลำดับ สถานภาพการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ณ เดือนกันยายน 2549 มี VSPP เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบรวม 96 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย 16.86 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วจำนวน 20 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้ารวม 11.02 เมกะวัตต์
1.2 กพช. มีมติเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 เห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชิงพาณิชย์ด้วยระบบ Cogeneration และร่างระเบียบว่าด้วยการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาน กับระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย สำหรับปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ตลอดจนได้มอบหมายให้ สนพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการในรายละเอียดทางด้านเทคนิค และเอกสารประกอบการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เร่งดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ต่อไป
2. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)
2.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 เห็นชอบการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) ต่อมาการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 จำนวน 300 เมกะวัตต์ และ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 เห็นชอบให้ขยายปริมาณการรับซื้อเป็น 3,200 เมกะวัตต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2543 และให้มีการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป โดยไม่กำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า
2.2 รัฐบาลได้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานเชิงพาณิชย์เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ กาก เศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และ โครงการ SPP ประเภท Non-Firm ต่อไป โดยไม่กำหนดระยะเวลาและปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มีผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 168 ราย ณ เดือนสิงหาคม 2549 มี SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วจำนวน 112 ราย โดย กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วจำนวน 95 ราย มี SPP 78 ราย ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วมีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 2,333.10 เมกะวัตต์
2.3 กพช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 มอบหมายให้ สนพ. ศึกษาในรายละเอียด ความเหมาะสมในการเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration โดยพิจารณาโครงสร้างราคา รับซื้อไฟฟ้า ประสิทธิภาพและความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน
3. ความคืบหน้าการดำเนินงาน
3.1 สนพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 เรื่อง การขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP แล้ว โดยยังคงเหลือประเด็นด้านค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน และค่าบริการทางวิศวกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะสามารถ นำเสนอ กบง. พิจารณาอนุมัติ และออกประกาศขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2549
3.2 กระทรวงพลังงานได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบ Cogeneration ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 และได้ข้อสรุปแนวทางเพิ่มเติมจากมติ กพช. ดังนี้
3.2.1 เห็นควรเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP ในปัจจุบัน แต่ปรับโครงสร้างราคาให้แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาปรับปรุงการกำหนดเงื่อนไข ประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าในระบบ Cogeneration ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำความเห็นมาปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ต่อไป
3.2.2 การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เห็นควรกำหนดส่วนเพิ่มราคา รับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า แยกตามประเภท เชื้อเพลิง โดยมี แนวทางในการให้การสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขาย ไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบ VSPP ได้รับส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่ และผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาเกินกว่า 10 เมกะวัตต์ จะเปิดให้มีการประมูลแข่งขันส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า
3.3.3 การกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 5 ของกำลัง การผลิตใหม่ของ กฟผ. (RPS) ในปริมาณ 140 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ. จะผลิตจากพลังน้ำขนาดเล็ก 80 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. จะดำเนินการเอง และจากพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อีก 60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดประมูลแข่งขัน ให้ กฟผ. เร่งดำเนินการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว นอกจากนี้ ให้ กฟผ. พิจารณาปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เนื่องจากมีต้นทุนสูง และเสนอแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เสนอ กพช. อนุมัติต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 10 การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงพลังงาน มีกฎหมายสำคัญที่เป็นพระราชบัญญัติ จำนวน 6 ฉบับ และประกาศคณะปฏิวัติอีก 1 ฉบับ ได้แก่
1.1 พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารและพัฒนาพลังงานมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
1.2 พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เป็นการกำหนดมาตรการ ในการกำกับ ดูแล ส่งเสริม และช่วยเหลือเกี่ยวกับการใช้พลังงาน รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้การอุดหนุน ช่วยเหลือในการอนุรักษ์พลังงาน
1.3 พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. 2535 เป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน วิธีการดำเนินงาน และขอบเขตการรอนสิทธิเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งบทกำหนดโทษการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
1.4 พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ใช้ในการส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้มาตรการควบคุมที่เหมาะสม เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่รัฐ ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมและประชาชน
1.5 พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ใช้กำกับดูแลการค้าและการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพน้ำมัน
1.6 พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 เพื่อใช้กำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดมาตรการในการเก็บรักษา การขนส่ง การใช้ การจำหน่าย การแบ่งบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ
1.7 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว และออกหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้สถานประกอบการเกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก่อให้เกิดความปลอดภัย
2. ในการดำเนินการตามกฎหมายได้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้แก่ องค์ประกอบของคณะกรรมการตามกฎหมายที่ควรปรับปรุง และขอบเขตของกิจกรรมพลังงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โดยมีผลเนื่องจากการปฏิรูประบบราชการปี 2545 และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ความซ้ำซ้อนของกฎหมายและการบังคับใช้ การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายในบางหน่วยงานที่ควรปรับ เปลี่ยน ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายที่ควรปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาให้ง่าย รวดเร็ว และทันต่อการเปลี่ยนแปลง
3. กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติทั้ง 6 ฉบับ และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อพระราชบัญญัติหรือกฎหมายฉบับใดมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้ว เสร็จสมบูรณ์ กระทรวงพลังงานได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติทราบ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
คณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการภายใต้กองทุนฯ (คำสั่ง5)
คำสั่งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ที่ /2558
เรื่อง เพิ่มองค์ประกอบคณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กพช. ครั้งที่ 121 - วันพุธที่ 12 มีนาคม 2551
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2551 (ครั้งที่ 121)
วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2551 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535
2.นโยบายการพัฒนาพลังงานของประเทศตามนโยบายรัฐบาล
4.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มกราคม - 7 มีนาคม 2551)
5.แนวทางการแก้ไขผลกระทบราคาน้ำมันแพง
6.แนวทางการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (Natural Gas for Vehicle หรือ NGV)
7.แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
8.แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ
9.การปรับสถานภาพของสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุม กพช. ครั้งแรกของ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีวาระสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง เพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด โดยการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาใช้เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลภาย ในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นมาก ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการขนส่งและอุตสาหกรรม ต่างๆ ได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ โดยจะพิจารณาช่วยเหลือภายใต้ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
เรื่องที่ 1 การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของ ประเทศต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกำกับดูแลประสานงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานด้านพลังงานของหน่วยงานต่างๆ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) หรือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในปัจจุบัน ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของ กพช. ต่อมาในปี 2545 มีการปฏิรูประบบราชการ ทำให้มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้น ส่งผลให้องค์ประกอบของ กพช. ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานจึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กพช. พ.ศ. 2535 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
2. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 พ.ร.บ. กพช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป โดยสาระสำคัญในการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกอบด้วย 1) แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ กพช. ในมาตรา 5 โดยเปลี่ยนแปลงกรรมการจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน รวมทั้งเพิ่มเติมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกรรมการ กพช. และ 2) แก้ไขปรับปรุงข้อความในมาตรา 13 โดย (1) มาตรา 13 วรรคแรก ตัดคำว่า "ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี" ออก และเพิ่มข้อความท้ายวรรคแรก "โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติ ราชการ" และ (2) ตัดข้อความในมาตรา 13 วรรคสอง และวรรคสามออก
3. พ.ร.บ. กพช. (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ที่มาดำรง ตำแหน่งกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนี้ 1) ไม่เป็นผู้ถือหุ้นหรือรู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้คู่สมรสของตนถือหุ้นใน นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต การส่ง หรือจำหน่ายพลังงานสิ้นเปลืองหรือไฟฟ้า หรือ 2) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับพลังงาน เว้นแต่กรรมการฯ นั้นเป็นข้าราชการประจำซึ่งทางราชการหรือ คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น มอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นในรัฐวิสาหกิจที่ดำเนิน ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหรือในนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ให้กรรมการฯ ดำเนินการภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง (มาตรา 3 เพิ่มเป็นมาตรา 5/1) และ 3) กำหนดให้กรรมการฯ ที่มิได้เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 5/1 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.ฯ นี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 5/1 แห่ง พ.ร.บ.ฯ นี้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฯ นี้ใช้บังคับ (มาตรา 4)
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 นโยบายการพัฒนาพลังงานของประเทศตามนโยบายรัฐบาล
สรุปสาระสำคัญ
นายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 โดยกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก และระยะการบริหารราชการ 4 ปี ของรัฐบาล ทั้งนี้ นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ประกอบด้วย 19 ข้อ และนโยบายที่จะดำเนินการในช่วง 4 ปี ได้กำหนดนโยบายทางด้านพลังงาน ไว้ 5 ข้อ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้แปลงเป็นกลยุทธ์เพื่อดำเนินการ โดยกำหนดเป้าหมายและหน่วยงานรับผิดชอบในด้านต่างๆ ดังนี้
1. นโยบายที่ 1 เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ด้วยการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ โดยเร่งรัดให้มีการลงทุนสำรวจและพัฒนาพลังงานทั้งจากในประเทศ เขตพื้นที่พัฒนาร่วม และจากประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดกลยุทธ์ไว้ 8 ข้อ ได้แก่ การจัดหาน้ำมัน โดยกำหนดเป้าหมายให้เพิ่มการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวที่เป็นสัด ส่วนภายในประเทศ เป็นวันละ 250,000 บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ภายใน 4 ปี และการจัดหาก๊าซธรรมชาติได้มีเป้าหมายให้รักษาปริมาณแหล่ง 2P ให้ได้ 30 ปีตลอดเวลา รวมทั้งจัดหาไฟฟ้าโดยกำหนดให้มีสัดส่วนกำลังการผลิตภาครัฐ (กฟผ.) ให้มากกว่าร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ในประเทศ และให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กทั้ง SPP และ VSPP ที่ใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์โดยให้มีการศึกษารายละเอียดในการจัดตั้ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของ ประชาชนก่อนดำเนินการตัดสินใจ เป็นต้น
2. นโยบายที่ 2 ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการพลังงานให้มีราคาพลังงานที่เหมาะสม เป็นธรรม และก่อให้เกิดการแข่งขันลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยมีมาตรฐานคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยที่ดี กระทรวงพลังงานได้กำหนดกลยุทธ์ประกอบด้วย การกำกับนโยบายด้านราคาพลังงานที่มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ราคาพลังงาน ของประเทศเป็นราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่มีต้นทุนที่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และการสร้างการแข่งขันในภาคธุรกิจพลังงานให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็น มาตรฐานสากล ตลอดจนให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคโดยการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องด้านความ ปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้พลังงานทุกชนิด โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานพลังงานจังหวัดครบทุกจังหวัดภายใน 4 ปี รวมทั้งสนับสนุนบทบาทคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator)
3. นโยบายที่ 3 พัฒนาและวิจัยพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนา อย่างยั่งยืน รวมทั้งศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการตัดสินใจพัฒนา พลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและพลังงานที่สอดคล้องกับท้องถิ่น โดยกำหนดกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การส่งเสริมการผลิตเอทานอล โดยผลักดันให้มีการใช้แก๊สโซฮอล วันละ 12 ล้านลิตร ในต้นปี 2552 2) การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์ม อย่างบูรณาการ 3) การส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) โดยให้มีการจัดทำแผน Consolidated Action Plan เพื่อให้มีการใช้ NGV ทดแทนการใช้น้ำมันให้ได้ร้อยละ 20 และ 4) พลังงานเพียงพอด้วยพลังงานพอเพียง โดยการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานทดแทน (Renewable Energy Development Plan: RED) ระยะ 15 ปี
4. นโยบายที่ 4 ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและภาคประชาชน โดยมีมาตรการจูงใจที่เหมาะสม กระทรวงพลังงานได้กำหนดกลยุทธ์ของนโยบาย 6 ข้อ ดังนี้ 1) ปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงาน (2551-2554) ใหม่ โดยกำหนดเป้าหมายให้เกิดการประหยัดพลังงานร้อยละ 20 ภายในปี 2554 2) ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายให้ ค่า Energy Intensity ของภาคอุตสาหกรรมลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปี 2554 3) สนับสนุนมาตรการประหยัดพลังงานในอาคารโดยกำหนดให้มีการกำกับใช้ Building Energy Code และ 4) สนับสนุนมาตรการสร้างแรงจูงใจการประหยัดพลังงานของภาคประชาชน ด้วยเป้าหมายให้มีการประหยัดพลังงานของประชาชนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10
5. นโยบายที่ 5 ส่งเสริมการพัฒนา ผลิต และใช้พลังงานควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่ง เสริมกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับการจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อน โดยมีกลยุทธ์คือ การป้องกันและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกจากสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายให้ลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อ 1 หน่วยพลังงานที่ใช้ในภาคขนส่งลดลงร้อยละ 15 - 20 และในโรงกลั่นน้ำมันลดลงร้อยละ 20 รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ความรู้เพื่อผลักดันให้โครงการพลังงานเป็น โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) โดยมีเป้าหมายประเทศไทยต้องส่งโครงการด้านพลังงานเข้ารับรองตามกลไกการพัฒนา สะอาดปริมาณรวม 1 ล้านตัน CO2ต่อปี และประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการส่งออกคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคเอเชีย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 สถานการณ์พลังงานปี 2550
สรุปสาระสำคัญ
1. ภาพรวมพลังงานปี 2550 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ระดับร้อยละ 4.8 เนื่องจากการส่งออกของไทยขยายตัวในระดับสูงมาก อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงช่วงครึ่งแรกของปี และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่เริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปี ส่งผลให้การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 1,602 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 โดยการนำเข้าพลังงาน มีจำนวน 998 เทียบเท่า พันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.0 มีมูลค่ารวม 874,612 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกพลังงานมีมูลค่า 206,999 ล้านบาท
2. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงเมษายน - สิงหาคม 2550 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับ 64 - 69 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และเพิ่มสูงขึ้นกว่า 91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงเดือนธันวาคม 2550 ส่งผลให้ไทยลดการนำเข้าลง โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.6 และมูลค่าลดลงร้อยละ 5.7
3. การใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณรวม 704 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.1 เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงจากการปล่อยลอยตัว ประกอบกับมาตรการประหยัดพลังงานของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้การใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลชะลอตัวลง อีกทั้ง กฟผ. ลดการใช้น้ำมันเตาลงถึงร้อยละ 27.8 จึงทำให้ภาพรวมการใช้น้ำมันลดลง
การใช้น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 เนื่องจากระดับราคาสูงจากการประกาศลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินตั้งแต่ปลายปี 2547 เป็นต้นมา ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหันไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ เพื่อทดแทนน้ำมัน ได้แก่ LPG และ NGV ส่งผลให้การใช้ LPG ในรถยนต์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.7 และ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 118.2 การใช้แก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.0 เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอลของกระทรวงพลังงาน โดยลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันแก๊สโซฮอลให้ต่ำกว่าน้ำมันเบนซินมีผลทำ ให้ราคาแก๊สโซฮอลต่ำกว่าเบนซิน
การใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เนื่องจาราคาทรงตัวอยู่ในระดับสูง การใช้ไบโอดีเซล เพิ่มขึ้นมากจาก 0.7 พันบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10.8 พันบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซล บี 5 จึงได้กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2550 เท่ากับ 0.59 บาท/ลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล บี 5 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.70 บาท/ลิตร นอกจากนี้กระทรวงพลังงานกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ต้องผสมไบโอดีเซลร้อยละ 2 โดยปริมาตร (บี 2) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป
LPG การใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 (ไม่รวมการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) โดยปีนี้มี การใช้ LPG ในรถยนต์ขยายตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 24.7 เนื่องจากระดับราคาน้ำมันเบนซินสูงทำให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนหนึ่งหันมาใช้ LPG ทดแทน การใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และการใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8
4. การใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ระดับ 3,201 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.0 เนื่องจากปีนี้สามารถผลิตก๊าซฯ จากแหล่งภูฮ่อมได้ตลอดปีในระดับ 85 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับการเพิ่มการนำเข้าจากแหล่งพม่า
5. การใช้ลิกไนต์/ถ่านหิน อยู่ที่ระดับ 32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 11.4 ประกอบด้วยการใช้ลิกไนต์ 18 ล้านตัน และถ่านหินนำเข้า 14 ล้านตัน เป็นการใช้ลิกไนต์ในภาคการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จำนวน 16 ล้านตัน ที่เหลือจำนวน 2 ล้านตัน ถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ในช่วงปี 2549 และ 2550 การใช้ถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงเฉลี่ยร้อยละ 64 ต่อปี เนื่องจากบริษัทผลิตไฟฟ้า BLCP ซึ่งเป็น IPP ที่ใช้ถ่านหินรายแรกของไทย เริ่มผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบในเดือนเมษายน 2549 เป็นต้นมา
6. กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าปี 2550 อยู่ที่ 28,530 เมกะวัตต์ ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้น ณ วันที่ 24 เมษายน 2550 ที่ระดับ 22,586 เมกะวัตต์ สูงขึ้นกว่าปีก่อน 1,522 เมกะวัตต์ ค่าตัวประกอบไฟฟ้าเฉลี่ย (Load Factor) อยู่ที่ร้อยละ 74.7 และกำลังผลิตสำรองไฟฟ้าต่ำสุด (Reserved Margin) อยู่ที่ร้อยละ 20.4
การผลิตไฟฟ้า ในปี 2550 มีจำนวน 147,026 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.6 โดยมีสัดส่วนการผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 67 ลิกไนต์/ถ่านหินร้อยละ 21 จากพลังน้ำร้อยละ 5 การนำเข้าร้อยละ 5 และน้ำมันร้อยละ 2 ในปีนี้มีการลดค่าเอฟที 4 ครั้ง รวมเป็นจำนวนเงินลดลง 19.33 สตางค์/หน่วย และในปี 2551 มีการปรับเอฟทีครั้งแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2551 โดยเพิ่มขึ้น 2.75 สตางค์/หน่วย
7. แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2551 คาดว่าในปี 2551 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 สนพ. จึงประมาณการความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,673 พันบาร์เรลน้ำมันดิบ ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 4.2 โดยความต้องการน้ำมันยังคงลดลงเล็กน้อย ขณะที่ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 และลิกไนต์/ถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มกราคม - 7 มีนาคม 2551)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ระดับ 87.37 และ 92.03 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 1.79 และ 0.78 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ จากกลุ่มโอเปคจะยังไม่พิจารณาเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในการประชุมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เนื่องจากอุปทานน้ำมันยังคงเพียงพอต่อความต้องการในตลาด และข่าวความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อ เนื่อง สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.02 และ 94.73 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ จาก Meteorlogix คาดการณ์อุณหภูมิบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาจะลดลงต่ำกว่า ปกติ และข่าวบริษัทน้ำมัน Lukoil ของรัสเซียหยุดการส่งน้ำมันดิบทางท่อส่งน้ำมันปริมาณ 520,000 ตัน ไปยังประเทศเยอรมนี และต่อมาในช่วงวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.87 และ 100.56 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลจากข่าวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลงสู่ระดับต่ำสุดอีกครั้งและข่าวโอเปคมีมติคงปริมาณการผลิตในการ ประชุมวันที่ 5 มีนาคม 2551
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ระดับ 100.51, 99.56 และ 105.70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 2.13, 2.47 และ 0.01 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบ และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.75 รวมทั้งจีนมีแผนลดปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินเพื่อสำรองไว้ใช้ในระหว่างฤดูกาล แข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 105.07, 104.13 และ 111.20 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ และในช่วงวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 และน้ำมันดีเซล ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 108.42 , 107.90 และ 119.77 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จากข่าวจีนและเกาหลีใต้ ชะลอการส่งออกน้ำมันเบนซินเนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันภายในประเทศลดลงและ ข่าวเกาหลีใต้มีแผนลดการส่งออกน้ำมันดีเซล ลงประมาณ 225,000 - 450,000 บาร์เรล ในเดือนเมษายน 2551
3. ราคาขายปลีกเดือนมกราคม ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 , แก๊สโซฮอล 95 (E10) , (E20) , แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 0.10 บาท/ลิตร ปรับลดราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.20 บาท/ลิตร และปรับเพิ่มราคาน้ำมันเบนซิน 91 0.20 บาท/ลิตร สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.40 บาท/ลิตร จำนวน 2 ครั้ง และปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 เพิ่มขึ้น 0.30 บาท/ลิตร จำนวน 1 ครั้ง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 แก๊สโซฮอล 95 (E10), (E20), 91 ดีเซลหมุนเร็ว และดีเซลหมุนเร็วบี 5 ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 อยู่ที่ระดับ 33.59, 32.49, 29.59, 27.59, 28.79, 29.94 และ 29.44 บาท/ลิตร ตามลำดับ และในช่วงวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันทุกรายไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 , 91 แก๊สโซฮอล 95 (E10), (E20), 91 ดีเซลหมุนเร็ว และดีเซลหมุนเร็วบี 5 ณ วันที่ 7 มีนาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 33.59, 32.49, 29.59, 27.59, 28.79, 29.94 และ 29.44 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเดือนมีนาคม 2551 คาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวใน ระดับสูง ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 90 - 100 และ 95 - 105 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ จากความกังวลเกี่ยวกับ Supply Disruption และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวทำให้ Traders & Hedge Funds เข้าซื้อขายเพื่อเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า สำหรับราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ในตลาดจรสิงคโปร์อยู่ที่ระดับ 100 - 110 และ 110 - 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบ และความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของประเทศสหรัฐฯ และจีน
5. สำหรับสถานการณ์ LPG ช่วงเดือนมีนาคม 2551 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนมีนาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 822 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อความอบอุ่นและจากธุรกิจปิโตรเคมี ส่งผลให้ปริมาณอุปทานในภูมิภาคตึงตัว ภาครัฐกำหนดราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น อยู่ในระดับ 10.9960 บาท/กก. ราคาขายส่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ระดับ 13.6863 ส่งผลให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ระดับ 18.13 บาท/กก. แนวโน้มของราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงเดือนเมษายน 2551 คาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 800 - 850 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน
6. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2551 มีเงินสดในบัญชี 14,119 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ 10,134 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 8,800 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยพันธบัตร 388 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 946 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 3,986 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 แนวทางการแก้ไขผลกระทบราคาน้ำมันแพง
สรุปสาระสำคัญ
1. เนื่องจากนักลงทุนและ Hedge Funds เข้าซื้อขายน้ำมันเพื่อทำกำไรและปัญหาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการประชุมของกลุ่มโอเปกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 มีมติตรึงเพดานปริมาณการผลิต ทำให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95, 91 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของไทยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33.59, 32.49, 29.59, 28.79 และ 29.94 บาท/ลิตร ตามลำดับ
2. ราคาน้ำมันภายในประเทศเกิดความผันผวนและแกว่งตัวขึ้นลงในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคขนส่ง ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล จะได้รับผลกระทบต่อต้นทุนในการขนส่งสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าครองชีพ ซึ่งมีทางเลือกการใช้ NGV ส่วนกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน จะได้รับผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายระดับครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งมีน้ำมันแก๊สโซฮอลที่ถูกกว่าน้ำมันเบนซินเป็นทางเลือก และกลุ่มเรือประมงชายฝั่ง จะได้รับผลกระทบต่อต้นทุนการทำประมงโดยตรง โดยมีโครงการน้ำมันม่วงเป็นทางเลือก
3. โครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯชนิดต่างๆ ในอัตราที่แตกต่างกัน โดยราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล 95 (E10) และ (E20) ต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 4.00 และ 6.00 บาท ตามลำดับ แก๊สโซฮอล 91 ต่ำกว่าเบนซิน 91 ลิตรละ 3.70 บาท และ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ต่ำกว่าดีเซลหมุนเร็วลิตรละ 0.50 บาท ซึ่งส่งผลให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ จำนวน 33.0 ล้านบาท/วัน และมีเงินไหลเข้ากองทุนอนุรักษ์สำหรับงานบริหารและโครงการระบบขนส่งรางคู่ จำนวน 18.5 และ 23.9 ล้านบาท/วัน ตามลำดับ
4. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 10 มีนาคม 2551 มีเงินสดจำนวน 14,020 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 10,135 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 8,800 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยพันธบัตร 388 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 947 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 3,884 ล้านบาท และฐานะกองทุนอนุรักษ์ฯ ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 มีเงินคงเหลือ 3,807 ล้านบาท โดยมีรายรับประมาณเดือนละ 1,508 ล้านบาท และรายจ่ายผูกพัน 259 ล้านบาท/เดือน รายจ่ายหมุนเวียน 490 ล้านบาท/เดือน และ รายจ่ายประจำปี 2551 จำนวน 758 ล้านบาท/เดือน
5. กระทรวงพลังงานได้พิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมัน และผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงข้างต้น พบว่าราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในค่าครองชีพของประชาชนและลดผลกระทบต่อระบบ เศรษฐกิจของประเทศ จึงเห็นควรมีการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน ดังนี้
5.1 มาตรการระยะสั้น ด้านราคาโดยจะพยายามรักษาระดับราคาไม่ให้ปรับสูงขึ้นไปอีกเท่าที่สามารถทำ ได้ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสูง โดยการเก็บเงินเข้ากองทุนและจ่ายชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ ด้วยการบริหารจัดการดังนี้
5.1.1 เนื่องจากปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายอยู่ในระดับ 33 ล้านบาทต่อวัน เพื่อใช้ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล และไบโอดีเซล ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการขยายตัวมากนัก สามารถจะนำรายได้จากกองทุนน้ำมันฯดังกล่าวมาใช้บริหารราคาน้ำมันเป็นการชั่ว คราวในช่วงระยะเวลา 6 เดือนได้ โดยที่รายรับของกองทุนน้ำมันฯ วันละ 33 ล้านบาท จะสามารถชะลอการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลได้ 0.40 บาท/ลิตร
5.1.2 สำหรับกองทุนอนุรักษ์ฯ ซึ่งมีอัตราเก็บกองทุนฯ ในระดับ 0.50 บาท/ลิตร ที่เตรียมสำหรับโครงการระบบขนส่งรางคู่ ซึ่งการนำเงินกองทุนไปใช้ยังไม่สามารถทำได้จนกว่าโครงการนี้จะได้มีการเริ่ม ก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 - 4 ปี ดังนั้นเงินเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ที่รวมอยู่ในราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน จึงสามารถปรับลดอัตรานี้ลงได้ เพื่อนำไปชะลอการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้สูงสุดถึง 0.50 บาท/ลิตร
5.1.3 จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะสั้นตามข้อ 5.1.1 และ 5.1.2 จะเห็นได้ว่าสามารถนำเงินของทั้ง 2 กองทุนมาชะลอการปรับราคาของน้ำมันดีเซลได้สูงสุดถึง 0.90 บาท/ลิตร และหากปรับลดลง 0.90 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นอีกจะปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด โลก
5.2 มาตรการระยะยาว กระทรวงพลังงานเห็นควรเร่งส่งเสริมการใช้ NGV ทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซล เป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2555 โดยตั้งเป้าหมายภายใน 4 ปีข้างหน้าจะมีรถยนต์ทั่วไปใช้ NGV จำนวน 210,860 คัน รถบรรทุกโดยสารอีก 56,940 คัน และสถานีบริการ NGV จำนวน 580 แห่ง ซึ่ง ปตท. จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 52,805 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 คาดว่าจะมีรถยนต์ทั่วไปและรถบรรทุกโดยสารที่ใช้ NGV รวมจำนวน 240,000 และ 88,000 คัน ตามลำดับ และมีจำนวนสถานีบริการรวม 725 แห่ง ทั่วประเทศ โดยกระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการดังนี้
5.2.1 เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ โดยเพิ่มวงเงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ในโครงการทุนหมุนเวียนสำหรับยานยนต์จาก 2,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินเดิมของโครงการทุนหมุนเวียนจะเป็นลงทุนดำเนินการของ ปตท. จำนวน 5,000 ล้านบาท และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่ง สนพ. จะเพิ่มวงเงินเป็น 4,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี รวมเป็นเงิน 9,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดอู่ติดตั้งถัง NGV และสถานีบริการ NGV มากขึ้นทันตามกำหนดเวลา
5.2.2 ลดข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งหาข้อยุติเรื่องต่างๆ ดังนี้
-กรุงเทพมหานคร โดยเร่งดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงให้สามารถใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 เพื่อสามารถจัดตั้งสถานี NGV บนถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางน้อยกว่า 16 เมตร แต่ไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ให้แล้วเสร็จ
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำความตกลงร่วมกับกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการใช้หลักการ Code of Practice (COP) กับท่อที่มีความดันต่ำของโครงการที่สนับสนุน City Gas และภาคขนส่งการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาแทนการผ่านขบวน การ EIA ทั้งหมด
-กระทรวงการคลัง โดยขอให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าถังบรรจุ ก๊าซธรรมชาติอัดและอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (Conversion Kit) ออกไปอีก 4 ปี โดยให้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 และขอขยายเวลาปรับลดอากรขาเข้าสำหรับรถโดยสาร NGV ในลักษณะแชสซีส์ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้งจากร้อยละ 30 ลงเหลือร้อยละ 0 ออกไปอีก 4 ปี โดยให้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 และให้ครอบคลุมถึงรถบรรทุกและรถหัวลาก รวมทั้งให้ปรับลดอากรขาเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบซึ่งนำเข้ามาในลักษณะ ชิ้นส่วนสมบูรณ์ (CKD) เพื่อประกอบและผลิตในประเทศ จากร้อยละ 10 ลงเหลือร้อยละ 0 ครอบคลุมถึงรถบรรทุกและรถหัวลาก
5.3 แนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้โดยเฉพาะเจาะจง โดยจำแนกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
5.3.1 กลุ่มเรือประมง ได้แก่ กลุ่มเรือประมงชายฝั่งโดยในระยะสั้น ให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดราคาน้ำมันม่วงให้ต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบนบก และในระยะยาว โดยการส่งเสริมการใช้ LNG (Liquefied Natural Gas) สำหรับกลุ่มเรือประมงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยการสร้างระบบการผลิตเพิ่มขึ้นที่สงขลาจากที่มีอยู่ในปัจจุบันที่จังหวัด ระยอง และกลุ่มเรือประมงน้ำลึก โดยให้การสนับสนุนการจำหน่ายน้ำมันเขียวด้วยราคาที่ถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบก สำหรับเรือประมงขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในบริเวณเขตต่อเนื่องซึ่งห่างจากฝั่ง 12-24 ไมล์ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งนี้น้ำมันเขียวซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีอากร และไม่เก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ทำให้ราคาน้ำมันเขียวถูกกว่าน้ำมันเบนซินบนบกประมาณ 6-7 บาท/ลิตร
5.3.2 กลุ่มธุรกิจการขนส่ง ได้แก่ รถกระบะและรถตู้ที่ไม่สามารถดัดแปลงหรือปรับแต่งเครื่องยนต์ให้เปลี่ยนไปใช้ NGV ได้ จะสามารถหันไปเลือกใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล 0.70 บาท/ลิตร
5.3.3 กลุ่มเกษตรกร โดยส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.70 บาท/ลิตร ให้มีการจำหน่ายอย่างทั่วถึงทั้งสถานีบริการของ ปตท. และ บางจาก รวมทั้งส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลชุมชนสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร ในพื้นที่ชนบททั่วไป
5.4 สำหรับแนวทางการสร้างกระแสการประหยัดพลังงานภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันระยะสั้นตาม ข้อ 5.1 และแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันในระยะยาว ตามข้อ 5.2 จึงจำเป็นต้องรณรงค์สร้างกระแสสังคมให้สำนึกถึงสถานการณ์ของราคาน้ำมันที่ อยู่ในระดับสูงไม่เป็นปกติจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและค่าครองชีพอย่างต่อ เนื่อง ขณะที่การดำเนินนโยบายและมาตรการในภาวะปกติจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดได้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาบริหารและจัดการราคาน้ำมันโดยให้กระทบต่อกลไกการ ตลาดอย่างน้อยที่สุดเป็นการชั่วคราว และต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดการประหยัดและใช้น้ำมันอย่างมี ประสิทธิภาพ และเร่งดำเนินส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ NGV อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบมาตรการระยะสั้นในการแก้ไขผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการต่อไป ดังนี้
1.1 เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันมีรายรับสูงกว่ารายจ่ายประมาณ 33 ล้านบาท/วัน ซึ่งในส่วนนี้เตรียมไว้เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลและไบโอดีเซล โดยสามารถนำรายได้จากกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวมาใช้เพื่อบริหาร ซึ่งสามารถชะลอการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราวได้ 0.40 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่จะดำเนินการได้
1.2 ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมัน ดีเซลในส่วนที่เก็บไว้สำหรับโครงการระบบขนส่งรางคู่ลง 0.50 บาทต่อลิตร เป็นการชั่วคราวจนถึงประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาทบทวนการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของ น้ำมันดีเซล แล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งต่อไป
จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะสั้นตามข้อ 1.1 และ 1.2 จะสามารถนำเงินทั้ง 2 กองทุนมาชะลอการปรับราคาของน้ำมันดีเซลได้ 0.90 บาท/ลิตร และหากราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นอีก ก็จะปล่อยให้ราคาน้ำมันนั้นเป็นไปตามกลไกตลาดโลก
2.มาตรการในระยะยาว เห็นควรให้เร่งส่งเสริมการใช้ NGV ทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซลให้ได้ถึงร้อยละ 20 ภายในปี 2555 โดยตั้งเป้าหมายให้มีรถยนต์ที่ใช้ NGV เพิ่มขึ้นเป็น 240,000 คัน รถบรรทุกโดยสาร 88,000 คัน และมีจำนวนสถานีบริการเพิ่มเป็น 725 แห่งทั่วประเทศ
3.เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันโดยเฉพาะเจาะจง และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการดังนี้
3.1 กลุ่มเรือประมง
(1) กลุ่มเรือประมงชายฝั่ง
- ระยะสั้นใช้น้ำมันม่วง : โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดราคาน้ำมันม่วงให้ต่ำว่าดีเซลหมุนเร็วบนบกประมาณ 2 บาท/ลิตร
- ระยะยาวใช้ LNG (Liquified Natural Gas) : ส่งเสริมการใช้ LNG เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยสร้างระบบการผลิต LNG เพิ่มที่สงขลาจากที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ระยอง
(2) กลุ่มเรือประมงน้ำลึก
กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนการจำหน่ายน้ำมันเขียว โดยจะจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกสำหรับเรือประมงขนาดกลางและ ขนาดใหญ่ในบริเวณเขตต่อเนื่อง ซึ่งห่างจากฝั่ง 12-24 ไมล์ทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งนี้น้ำมันเขียวได้รับการยกเว้นภาษีอากร และไม่เก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ทำให้ราคาน้ำมันเขียวถูกกว่าน้ำมันเบนซินบนบกประมาณ 5-6 บาท/ลิตร
3.2 กลุ่มธุรกิจการขนส่ง : รถกระบะและรถตู้ที่ไม่สามารถดัดแปลงหรือปรับแต่งเครื่องยนต์ให้เปลี่ยนไปใช้ NGV ได้ ยังสามารถหันไปเลือกใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ซึ่งจะใช้การบริหารกองทุนน้ำมันฯ ให้ถูกกว่าน้ำมันดีเซล 0.70 บาท/ลิตร
3.3 กลุ่มเกษตรกร : ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ซึ่งถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.70 บาท/ลิตร ให้มีการจำหน่ายทั่วถึงในสถานีบริการของ ปตท. และ บางจาก รวมทั้ง ส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลชุมชนสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรใน พื้นที่ชนบททั่วไป
4.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและยอมรับแนวทางการแก้ไขปัญหาราคา น้ำมันระยะสั้นและระยะยาว ในสถานการณ์ของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงไม่เป็นปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและ ค่าครองชีพ รวมทั้งเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดการประหยัดและการใช้น้ำมัน อย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
(อนึ่ง มติของที่ประชุมในวาระนี้ ได้รับการรับรองมติแล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2551)
เรื่องที่ 6 แนวทางการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (Natural Gas for Vehicle หรือ NGV)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงใน ภาคการขนส่งในช่วงปี 2546-2551 ในเรื่องของการกำหนดราคาจำหน่าย NGV ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ ดังนี้ 1) ปี 2546-2549 (1 ม.ค. 46 - 31 ธ.ค. 49) กำหนดราคา NGV เท่ากับร้อยละ 50 ของราคาน้ำมันดีเซล 2) ปี 2550 (1 ม.ค. 50 - 31 ธ.ค. 50) กำหนดราคา NGV เท่ากับร้อยละ 55 ของราคาน้ำมันเบนซิน 91 3) ปี 2551 (1 ม.ค. 51 - 31 ธ.ค. 51) กำหนดราคา NGV เท่ากับร้อยละ 60 ของราคาน้ำมันเบนซิน 91 และ 4) ปี 2552 เป็นต้นไป กำหนดราคา NGV เท่ากับร้อยละ 65 ของราคาน้ำมันเบนซิน 91 ทั้งนี้ได้กำหนดเพดานราคาขายปลีก NGV ภายในประเทศไว้ที่ระดับไม่เกิน 10 บาทต่อลิตรเทียบเท่าเบนซิน 91 (หรือ 10.34 บาท/กิโลกรัม ของ NGV)
2. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมใช้พลังงานทดแทนน้ำมันและการใช้พลังงานอย่าง มีประสิทธิภาพในภาคขนส่ง ทั้งนี้ให้มีการลดการใช้น้ำมันรวมทั้งประเทศลงร้อยละ 25 ภายในปี 2552 โดยในส่วนของ NGV ได้กำหนดการใช้ NGV ทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซลร้อยละ 10 ในปี 2551
3. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 กพช. ได้เห็นชอบในหลักการของการกำหนดราคา NGV ตามต้นทุน โดยให้ใช้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ณ ราคาก๊าซเฉลี่ย POOL 2 บวกด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (ซึ่งรวมค่าการตลาดแล้ว) และ สนพ. นำเสนอในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการอีกครั้ง
4. ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซ ธรรมชาติ และหลักเกณฑ์การกำหนดราคา NGV อัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ และได้มอบหมายให้ สนพ. จัดทำคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการ ส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อสำหรับใช้ในการอ้างอิงการคำนวณ ทั้งนี้ เพื่อมิให้การปรับราคา NGV ส่งผลกระทบต่อแผนการขยายการใช้ NGV เพื่อทดแทนน้ำมัน
5. ณ วันที่ 2 มีนาคม 2551 มีจำนวนรถ NGV รวม 65,349 คัน จำแนกเป็น รถเบนซิน 55,320 คัน รถดีเซล 7,618 คัน รถ NGV (OEM) 2,411 คัน และจำนวนสถานีบริการ (จำนวนสะสมรวม) 175 สถานี ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพ/ปริมณฑล 146 สถานี และต่างจังหวัด 29 สถานี
6. มาตรการสนับสนุนการใช้รถ NGV ที่ได้ดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย
6.1 มาตรการด้านภาษี
รายละเอียดที่ได้รับการสนับสนุน | การยกเว้น/อัตราลดหย่อน | ระยะเวลาสิ้นสุด |
1. การยกเว้นและลดหย่อนอากรจากการนำเข้า | ||
1.1 ถังและอุปกรณ์ควบคุมการใช้ NGV | ยกเว้นอากรขาเข้า | 31 ธ.ค. 51 |
1.2 อุปกรณ์ NGV สำหรับสถานีบริการ | ลดหย่อนเหลือ 1-3% | ไม่มีกำหนด |
1.3 เครื่องยนต์ NGV (เก่า) | ยกเว้นอากรขาเข้า | 31 พ.ค. 51 |
เครื่องยนต์ NGV (ใหม่) | ยกเว้นอากรขาเข้า | ไม่มีกำหนด |
1.4 รถขนส่งบุคคล 10 คนขึ้นไป | ยกเว้นอากรขาเข้า | ไม่มีกำหนด |
- ส่วนประกอบที่นำเข้ามาในลักษณะชิ้นส่วนสมบูรณ์ - แชสซีส์ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้ง |
(จาก 10% เป็น 0%) (จาก 30% เป็น 0%) |
31 ธ.ค. 51 |
1.6 รถโดยสารตู้สาธารณะ NGV | ลดหย่อนจาก 40%เหลือ 22% | 31 ธ.ค. 51 |
1.7 ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ (CKD) สำหรับรถตู้ | ยกเว้นอากรขาเข้า | 31 ธ.ค. 55 |
2. การยกเว้นและลดหย่อนภาษี สรรพสามิต | ||
2.1 รถยนต์นั่ง/โดยสาร NGV ที่ผลิตจากโรงงาน | ลดหย่อนจาก 30% เหลือ 20% | ไม่มีกำหนด |
2.2 รถยนต์ที่ติดตั้งระบบ NGV Retrofit | ยกเว้นภาษีเท่าค่าใช้จ่ายจริงและไม่เกิน 50,000 บาท | 31 ธ.ค. 51 |
3. ภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ประจำปี | ||
3.1 รถยนต์ที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว | ลดหย่อนเหลือ 50% ของอัตราปกติ | ไม่มีกำหนด |
3.2 รถยนต์ที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงร่วม | ลดหย่อนเหลือ 25% ของอัตราปกติ | ไม่มีกำหนด |
6.2 มาตรการด้านกฎหมายเพื่อขยายจำนวนรถและสถานีบริการ NGV
(1) กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ไม่เกินเจ็ดคน (Taxi-Meter) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้ Taxi ใหม่ต้องเป็นรถ NGV มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป
(2) คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เห็นชอบให้กรุงเทพมหานครแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหา นคร พ.ศ. 2549 เพื่อให้สามารถจัดตั้งสถานีบริการ NGV บนถนนสาธารณะที่มีขอบเขตทางน้อยกว่า 16 เมตร แต่ไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ในเขตกรุงเทพมหานครได้
6.3 การรับรองมาตรฐานศูนย์ติดตั้ง NGV กระทรวงพลังงานได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสถานประกอบการติด ตั้งอุปกรณ์ NGV ขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 และปัจจุบันมีอู่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์ NGV จำนวน 21 แห่ง
6.4 มาตรการด้านราคา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 เห็นชอบในหลักการของการกำหนดราคา NGV ตามต้นทุน แต่เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อแผนการขยายการใช้ NGV จึงขอความร่วมมือจาก ปตท. ให้มีการกำหนดราคา NGV .ในปี 2550 - 2551 เท่ากับ 8.50 บาท/กก. แล้วจึงปรับราคา NGV ขึ้นแบบขั้นบันไดให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยในปี 2552 ปรับราคาได้ไม่เกิน 12 บาท/กก. ปี 2553 ปรับราคาได้ไม่เกิน 13 บาท/กก. และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป จึงปรับราคา NGV ตามต้นทุนที่แท้จริง
6.5 มาตรการด้านการเงิน ปตท. ได้ร่วมกับ สนพ. จัดตั้งเงินกองทุนหมุนเวียนสำหรับยานยนต์ NGV จำนวน 7,000 ล้านบาท (ปตท. 5,000 ล้านบาท และ สนพ. 2,000 ล้านบาท) ให้ผู้ประกอบการยืม โดยเงินสนับสนุนจาก สนพ. จำนวน 2,000 ล้านบาท ได้ถูกจัดสรรให้ผู้ประกอบการรถโดยสารร่วม ขสมก. กู้ยืม ซึ่งปัจจุบันได้อนุมัติแล้วจำนวน 511 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวน 1,470 ล้านบาท
7. ปตท. ได้ปรับเป้าหมายการขยายจำนวนรถ NGV และสถานีใหม่ จากเดิมได้กำหนดให้มีการใช้ NGV เพื่อทดแทนน้ำมันในอัตรา 15 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2555 ซึ่งหมายถึงในปี 2555 จะมีจำนวนรถ NGV สะสมทั้งหมด 328,000 คัน และมีจำนวนสถานีบริการทั้งหมด 725 สถานี
8. ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย ต้นทุนการดัดแปลงเครื่องยนต์โดยเฉพาะรถดีเซลขนาดใหญ่หันมาใช้ NGV สูงขึ้น และการแก้ไขกฎกระทรวงใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งการขออนุญาตวางท่อส่งก๊าซฯ เข้าสถานีแม่ และ Conventional Station ยังมีความล่าช้า เนื่องจากต้องผ่านหลักการ EIA และมาตรการภาษีที่ภาครัฐเคยให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ จะสิ้นสุดลงในปี 2551
มติของที่ประชุม
1. เร่งส่งเสริมการใช้ NGV ทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซลให้ได้ถึงร้อยละ 20 ภายในปี 2555 โดยตั้งเป้าหมายให้ภายใน 4 ปี จะมีรถยนต์ทั่วไปใช้ NGV ถึง 210,860 คัน รถบรรทุกโดยสาร 56,940 คัน และมีสถานีบริการ NGV 580 แห่ง ซึ่ง ปตท. จะต้องลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 52,805 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2555 จำนวนรถยนต์ที่ใช้ NGV จะเพิ่มเป็น 240,000 คัน รถบรรทุกโดยสาร 88,000 คัน และจำนวนสถานีบริการเพิ่มเป็น 725 แห่ง ทั่วประเทศ
2. เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ โดยพิจารณาเพิ่มวงเงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ในโครงการทุนหมุนเวียนสำหรับยานยนต์จาก 2,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยขั้นต่ำ เพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี และกำหนดให้มีการผ่อนคืนภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่กู้ และรวมกับงบประมาณของ ปตท. ที่ได้ลงทุนดำเนินการอีก 5,000 ล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้น 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถโดยสารระหว่างเมืองในการเปลี่ยนมาใช้ NGV
3. ลดข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อยุติในเรื่องต่างๆ ดังนี้
3.1 กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานคร พ.ศ.2549 เพื่อให้สามารถจัดตั้งสถานี NGV บนถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางน้อยกว่า 16 เมตร แต่ ไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ให้แล้วเสร็จ
3.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำความตกลงร่วมกับกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการใช้หลักการ Code of Practice (COP) กับท่อที่มีความดันต่ำ ของโครงการที่สนับสนุน City Gas และภาคขนส่งในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาแทน การผ่านขบวนการ EIA ทั้งหมด
3.3 ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณา
- ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดและอุปกรณ์ควบคุม การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (Conversion Kit) ออกไปอีก 4 ปี โดยให้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555
- ขอขยายเวลาปรับลดอากรขาเข้าสำหรับรถโดยสาร NGV ในลักษณะแชสซีส์ ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้งจากร้อยละ 30 ลงเหลือร้อยละ 0 ออกไปอีก 4 ปี โดยให้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 และให้ครอบคลุมถึงรถบรรทุกและรถหัวลาก
- ปรับลดอากรขาเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบซึ่งนำเข้ามาในลักษณะชิ้นส่วน สมบูรณ์ (CKD) เพื่อประกอบและผลิตในประเทศ จากร้อยละ 10 ลงเหลือร้อยละ 0 และให้ครอบคลุมถึงรถบรรทุกและรถหัวลาก
- ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่ง ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์หรือวัสดุ NGV โดยรวมค่าติดตั้งเป็นจำนวนร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่าย ให้แก่บุคคลธรรมดาเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) (6) (7) หรือ (8) และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553
เรื่องที่ 7 แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG และได้มีมติเห็นชอบการยกเลิกการชดเชยราคาก๊าซ LPG โดยปรับขึ้นราคาขายส่ง โดยให้ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากการส่งออกก๊าซ LPG และยังคงนโยบายราคาก๊าซ ณ คลังเท่ากันทั่วประเทศ โดยเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากก๊าซ LPG ในระดับที่เพียงพอสำหรับชดเชยค่าขนส่งไปยังคลังก๊าซภูมิภาคและเห็นชอบหลัก เกณฑ์การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG โดยกำหนดเพดานที่ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 60 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 40 โดยให้ทยอยปรับสัดส่วนการผลิตระหว่างโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ระดับ จริง คือ 60 ต่อ 40 รวมทั้งได้มอบอำนาจให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม
2. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 รัฐได้ยกเลิกการชดเชยราคาก๊าซ LPG โดยปรับราคาขายส่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.20 บาท/กิโลกรัม จากราคา 16.81 บาท เป็น 18.01 บาท/กิโลกรัม วันที่ 4 มกราคม 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน กบง. ได้เห็นชอบการปรับสูตรราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG เท่ากับ ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 5 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2551 และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นชอบราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG ของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 20 สตางค์ จากราคา 18.01 เป็น 18.21 บาท/กิโลกรัม ต่อมาในวันที่ 1 มีนาคม 2551 กบง. ได้เห็นชอบราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG ของเดือนมีนาคม 2551 ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ปรับตัวลดลงกิโลกรัมละ 8 สตางค์ จากราคา 18.21 เป็น 18.13 บาท/กิโลกรัม โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551
3. ประมาณการใช้ก๊าซ LPG ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2551 อยู่ที่ระดับ 11.87 ล้านกิโลกรัม/วัน เพิ่มจากปีก่อน 1.81 ล้านกิโลกรัม/วัน ขณะที่ประมาณการผลิตอยู่ที่ระดับ 11.20 ล้านกิโลกรัม/วัน ลดลงจากปีก่อน 0.26 ล้านกิโลกรัม/วัน เนื่องจากผู้ผลิตมีแผนปิดซ่อมบำรุงประจำปี ประกอบกับโรงกลั่นได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตา เนื่องจากจำหน่ายในประเทศได้ในราคาต่ำ ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการผลิตก๊าซ LPG จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จำเป็นต้องมีการนำเข้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยคาดว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 ต้องนำเข้าก๊าซ LPG ประมาณ 81 ล้านกิโลกรัม
4. การแก้ไขปัญหาโดยมติ กบง. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 มีดังนี้ (1) เห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินการตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 โดยให้คงราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG เท่ากับ ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 5 ของเดือนมีนาคม 2551 ไว้ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากนั้น ให้มีการพิจารณาดำเนินการปรับสูตรราคา ณ โรงกลั่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ (2) เห็นชอบให้รักษาระดับราคาก๊าซ LPG โดยให้คงราคาก๊าชหุงต้มไว้ ณ ระดับราคาตามราคาอิงตลาดโลกในข้อ 1) แต่สำหรับก๊าช LPG ที่นำไปใช้ในทางอื่นๆ ทั้งหมด ให้ปรับเพิ่มขึ้น ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไปชำระหนี้ เงินชดเชยการนำเข้าก๊าช LPG จากต่างประเทศ และลดความต้องการใช้ก๊าช LPG โดยให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) รับไปดำเนินการกำหนดรายละเอียดในหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติต่อไป (3) เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าตามปริมาณสัดส่วนที่ขาด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป (4) มอบหมายให้ ธพ. และสถาบันบริหารกองทุนพลังงานร่วมกันจัดระบบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศ รวมทั้งการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากการใช้ก๊าซ LPG ที่มิใช่การใช้ในภาคครัวเรือน โดยให้ ธพ. เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ก๊าซ LPG ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ให้ สบพ. เป็นผู้รับผิดชอบ ด้านการจ่ายเงินชดเชย (5) มอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศ กบง. เพื่อกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อัตราเงินชดเชยและอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิต จำหน่ายและนำเข้ามาใช้ในประเทศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป (6) มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทน กบง. ตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ได้ตามความเหมาะสม และ (7) มอบหมายให้ ธพ. รับไปจัดทำข้อเสนอตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการนำก๊าซหุงต้มไป จำหน่ายในสาขาอื่น และคณะกรรมการป้องกันการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพื่อนำเสนอ กพช. ต่อไป
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ดังนี้
(1) เห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 โดยให้คงราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG เท่ากับ ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 5 ของเดือนมีนาคม 2551 ไว้ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551หลังจากนั้น ให้มีการพิจารณาดำเนินการปรับสูตรราคา ณ โรงกลั่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์
(2) เห็นชอบให้รักษาระดับราคาก๊าซ LPG โดยให้คงราคาก๊าชหุงต้มไว้ ณ ระดับราคาตามราคาอิงตลาดโลกในข้อ (1) แต่สำหรับก๊าช LPG ที่นำไปใช้ในทางอื่นๆ ทั้งหมด ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชำระหนี้เงิน ชดเชยการนำเข้าก๊าช LPG จากต่างประเทศ และลดความต้องการใช้ก๊าช LPG โดยให้กรมธุรกิจพลังงานรับไปดำเนินการกำหนดรายละเอียดในหลักเกณฑ์วิธีการ ปฏิบัติต่อไป
(3) เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าตามปริมาณสัดส่วนที่ขาด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป
(4) มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานและสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ร่วมกันจัดระบบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศ รวมทั้งการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการใช้ก๊าซ LPG ที่มิใช่การใช้ในภาคครัวเรือน โดยให้กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบปริมาณการนำเข้าและปริมาณการ ใช้ก๊าซ LPG ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบด้านการจ่ายเงินชดเชย
(5) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงาน เพื่อกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินชดเชยและอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิต จำหน่ายและนำเข้ามาใช้ในประเทศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
(6) มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณา ให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ตามข้อ (1) ข้อ (2) และข้อ (3) ได้ตามความเหมาะสม
(7) มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานรับไปจัดทำข้อเสนอตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและ ตรวจสอบการนำก๊าซหุงต้มไปจำหน่ายในสาขาอื่น และคณะกรรมการป้องกันการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
2. เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการค้าปิโตรเลียมเหลว และคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน
เรื่องที่ 8 แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ
สรุปสาระสำคัญ
1. ปี 2547 รัฐบาลได้กำหนดให้ยกเลิกการใช้ MTBE และให้ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล โดยในปัจจุบันกำหนดเป้าหมายใช้เอทานอลให้ได้ 2.4 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2554 และได้มีมาตรการส่งเสริม การผลิตเอทานอล ประกอบด้วย การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี การยกเว้นภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลสำหรับเอทานอลที่ผสมในแก๊สโซฮอล การเปิดเสรีการผลิตเอทานอล ส่งผลให้มีโรงงานได้รับอนุญาต 45 ราย กำลังผลิตรวม 12 ล้านลิตร/วัน ปัจจุบันมีการผลิต 9 ราย มีกำลังผลิต 1.25 ล้านลิตร/วัน ซึ่งสูงกว่าความต้องการเฉลี่ย 0.73 ล้านลิตร/วัน และการส่งออกตั้งแต่เมษายน 2550 - มกราคม 2551 จำนวน 22.35 ล้านลิตร โดยตลาดการส่งออก ได้แก่ สิงค์โปร์ ยุโรป และออสเตรเลีย เป็นต้น
2. เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีสถานีบริการแก๊สโซฮอล 3,926 แห่ง ปริมาณการจำหน่ายเฉลี่ย 7.3 ล้านลิตร/วัน เป็นแก๊สโซฮอล 91, 95 และ E20 จำนวน 1.63, 5.65 และ 0.002 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ โดยยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2551 ร้อยละ 8.63 ส่วนด้านการใช้แก๊สโซฮอลในรถยนต์ที่ผลิตหลังปี 1995 ทุกยี่ห้อยืนยันว่าใช้แก๊สโซฮอลได้ สำหรับรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล E20 คาดว่าจะมีจำหน่ายประมาณ 100,000 คัน ในปี 2551
3. ปัญหาด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอลขั้นต่ำตามความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน คาดว่าปริมาณกากน้ำตาลและมันสำปะหลังจะมีเพียงพอในปี 2554 แต่หากผู้ผลิตต้องการผลิตเพื่อส่งออก ปริมาณกากน้ำตาลจะไม่เพียงพอในอนาคต ขณะที่มันสำปะหลังยังมีปริมาณเพียงพอ อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคา มันสำปะหลังสูงขึ้นและปริมาณการส่งออกมันเส้นมากขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการขาด แคลนในอนาคตได้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้ร่วมหารือกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจัดทำแผน การจัดหาวัตถุดิบโดยมุ่งเน้นการจัดทำ Zoning ที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ส่วนปัญหาเอทานอลล้นตลาด เนื่องจากการส่งออกเอทานอลยังทำได้ไม่กว้างขวาง คลังเก็บเอทานอลเพื่อรอการส่งออกมีจำกัด และหาตลาดรับซื้อในต่างประเทศยาก กรมธุรกิจ พลังงาน (ธพ.) ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิตเพื่อหารือการกำหนดมาตรการให้ผู้ค้าทั่วไปส่งออกได้นอกเหนือจาก ผู้ผลิต การสนับสนุนให้ผู้ผลิตเช่าคลังเก็บเอทานอลรอการส่งออก และพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดตลาดกับประเทศ ในภูมิภาค รวมทั้งได้ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และ สนพ. ประสานผู้ผลิตเอทานอลพิจารณานโยบายสร้างเสถียรภาพราคาและปริมาณเอทานอลใน อนาคต
4. ปัญหาด้านการผลิต การจำหน่ายเอทานอล เนื่องจากโรงกลั่นมีข้อจำกัดในการผลิตน้ำมันเบนซินพื้นฐานในเรื่ององค์ ประกอบไม่สมดุล, สถานีบริการมีถังและหัวจ่ายจำกัด และประชาชนบางส่วนยังขาดความเชื่อมั่นในการใช้แก๊สโซฮอล ซึ่ง ธพ. ได้ประสานผู้ค้าน้ำมันประเมินศักยภาพการผลิตน้ำมันเบนซินพื้นฐาน และเร่งขยายสถานีแก๊สโซฮอล 91 ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สนพ. ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้แก๊สโซฮอล เพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอลให้เพิ่มขึ้น
5. รัฐบาลส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลตั้งแต่ปี 2548 และบังคับใช้ B2 ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 โดยกำหนดจะใช้ B5 ทั่วประเทศในปี 2554 ความก้าวหน้าการดำเนินการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซล ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์การลงทุน สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ส่งผลให้มีผู้ผลิตที่ขึ้นทะเบียนกับ ธพ. 9 ราย กำลังผลิตรวม 2.18 ล้านลิตร/วัน และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 13 ราย กำลังการผลิตรวม 2.6 ล้านลิตร/วัน และจากมาตรการสนับสนุนด้านราคาและคุณภาพ ส่งผลให้มีสถานีบริการ 1,054 แห่ง มีการจำหน่าย B5 และ B2 จำนวน 152.6 และ 1,368.8 ล้านลิตร หรือเฉลี่ย 5.26 และ 47.2 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ รวมต้องการ B100 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 1.2 ล้านลิตร/วัน ส่วนความก้าวหน้าของไบโอดีเซลชุมชน โดย พพ. ให้การสนับสนุนการดำเนินการปี 2548 - 2549 จำนวน 72 ชุมชน อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาการขาดวัตถุดิบในการผลิต ขณะที่แผนการส่งเสริมปี 2550-2551 จำนวน 400 ชุมชน อยู่ระหว่างพิจารณาความพร้อมในการจัดหาวัตถุดิบของแต่ละชุมชน
6. ปัญหาด้านวัตถุดิบ จากการพิจารณาความต้องการน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานที่กำหนดใช้ CPO เพื่อผลิตไบโอดีเซลสำหรับผสมร้อยละ 2 ทั้งหมด และผสมร้อยละ 5 บางส่วน ในปี 2551-2553 ขณะที่ปี 2554 จะบังคับผสมร้อยละ 5 ทั้งหมด ผลการประเมินในกรณีที่ยอมให้มีการส่งออก CPO พบว่า หากผู้ค้าน้ำมันเริ่มส่งเสริมใช้ B5 จะส่งผลให้ขาดแคลน CPO ในปลายปี 2551 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประสานกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จัดตั้งกลไกการบริหารจัดการ และการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลให้เพียงพอต่อการผลิตในราคาที่เหมาะ สม และเร่งกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลน CPO และผลกระทบต่อราคาน้ำมันบริโภคที่อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายปี 2551
7. ด้านการผลิตไบโอดีเซล (B100) เพื่อลดต้นทุนการผลิต ปตท. จะศึกษาการใช้ Ethanol แทน Methanol ในการผลิต Methyl ester และ ธพ. จะประสานบริษัทรถยนต์และผู้เกี่ยวข้องทดสอบการใช้งานเพื่อศึกษาผลกระทบต่อไป ส่วนด้านการจำหน่ายไบโอดีเซล เพื่อสร้างความมั่นใจให้บริษัทรถยนต์และประชาชน ธพ. จะประสานบริษัทรถยนต์กำหนดแนวทางประชาสัมพันธ์การใช้ B2/B5 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถยนต์ โดยให้ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ออกมารับประกันการใช้
8. ในปี 2548 กพช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (กชช.) ที่มี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอแนะนโยบายและแผนการพัฒนาด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ในปี 2549 กพช. ได้มีมติให้ยกเลิกคณะกรรมการฯ ดังกล่าว โดยให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเอทานอล และคณะอนุกรรมการไบโอดีเซลขึ้นภายใต้ กบง. แต่เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคในการส่งเสริมแก๊สโซฮอลและไบโอดีเซลส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเชิงนโยบายและปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงพลังงานเป็นหลัก ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะดังกล่าว อาจไม่มีอำนาจเพียงพอในการแก้ปัญหา จึงควรจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพขึ้นใหม่ โดยปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การกำหนดนโยบายร่วมระหว่างกระทรวงในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการ พัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถดำเนินการร่วมกันได้ อย่างเป็นระบบต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสำหรับการพัฒนาส่งเสริม และพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ดังนี้
1.1 การส่งเสริมและพัฒนาเอทานอล
(1) ด้านวัตถุดิบ มอบหมายให้กระทรวงพลังงานได้ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนการจัดหา วัตถุดิบโดยมุ่งเน้นการจัดทำ Zoning ที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
(2) ด้านการผลิตเอทานอล มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการส่ง ออกเอทานอล แลมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ประสานผู้ผลิตเอทานอลพิจารณานโยบายสร้างเสถียรภาพราคาและปริมาณเอทานอลใน อนาคต
(3) ด้านการผลิตและจำหน่ายแก๊สโซฮอล มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานประสานผู้ค้าน้ำมันประเมินศักยภาพการผลิตน้ำมัน เบนซินพื้นฐาน และเร่งขยายสถานีแก๊สโซฮอล 91 ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ช่างซ่อมรถยนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และ สนพ. รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้แก๊สโซฮอล เพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอลให้เพิ่มขึ้น
1.2 การส่งเสริมและพัฒนาไบโอดีเซล
(1) ด้านวัตถุดิบ มอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ในการพิจารณาการจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการ และการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิต ไบโอดีเซลให้เพียงพอต่อการผลิตในราคาที่เหมาะสม และเร่งกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบและผลกระทบต่อราคา น้ำมันบริโภคที่อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายปี 2551
(2) ด้านการผลิตไบโอดีเซล (B100) มอบหมายให้ ปตท. ศึกษาการใช้ Ethanol แทน Methanol ในการผลิต Methyl ester และกรมธุรกิจพลังงานประสานบริษัทรถยนต์และผู้เกี่ยวข้องทดสอบการใช้งานเพื่อ ศึกษาผลกระทบ ต่อไป
(3) ด้านการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานประสานบริษัทรถยนต์กำหนดแนวทางประชาสัมพันธ์การ ใช้ B2/B5 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์ โดยเห็นควรให้ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ออกมารับประกันการใช้
2. เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยพืชพลังงานด้วย
เรื่องที่ 9 การปรับสถานภาพของสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2550 - 2564 (PDP 2007) โดยสาระสำคัญของแผน PDP 2007 คือ การกำหนดทางเลือกให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563 และอีก 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2564
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ได้มีมติ 1)เห็นชอบในหลักการ แผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (NPIEP) เบื้องต้น 2) เห็นชอบให้มีการจัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน 3) เห็นชอบในการดำเนินโครงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดประชุมสัมมนาอย่างน้อย 8 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน 4) เห็นชอบแผนการดำเนินงานในช่วง 3 ปีแรก (พ.ศ. 2551 - 2553) 5) เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 3 ปีแรก (พ.ศ. 2551 - 2553) จำนวน 1,800 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และการดำเนินงานตามแผนฯ โดยให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาจัดหางบประมาณต่อไป 6) เห็นชอบให้การกำกับดูแลในระยะเริ่มแรกให้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายฉบับไปพลางก่อน และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับไปยกร่างกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล มาตรฐานและความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ โดยครอบคลุมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
3. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้ 1) แผนการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฉบับ สมบูรณ์ 2) การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยให้ปรับโครงสร้างการบริหารงานจากระดับ "สำนัก" ตามที่เสนอไว้ในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 เป็นระดับ "สำนักงาน" โดยเป็นหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน และรองปลัดกระทรวงพลังงาน นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงาน นิวเคลียร์ ทั้งนี้ให้ปลัดกระทรวงพลังงานดำเนินการแต่งตั้ง ตามขั้นตอนต่อไป 3) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่เสนอและให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาปรับองค์ ประกอบให้เหมาะสมตามการพิจารณาของที่ประชุม และประธาน กพช. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานฯ แล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550
4. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ได้อนุมัติเงินสนับสนุนการดำเนินการตามแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานฯ จำนวนเงิน 250 ล้านบาท ต่อปี รวม 3 ปี เป็นเงิน 750 ล้านบาท และ กพช. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกองทุนฯ และรับทราบประมาณการรายจ่ายสำหรับกิจกรรมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ ในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งคาดว่าจะใช้จ่ายเงินประมาณ 450 ล้านบาท/ปี หรือจำนวนรวม 1,345 ล้านบาท
5. เนื่องจากสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ได้กำหนดให้เป็นสำนักงานอยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน แต่สำนักงานไม่ได้เป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นสำนักงานฯ จึงไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญาได้ และสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญาแทนได้ด้วย
6. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการดังนี้
6.1 เห็นควรให้ปรับสถานภาพของสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการตรากฎหมายจัดตั้ง สำนักงานฯ
6.2 เห็นควรให้สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีอำนาจหน้าที่ และมีการแบ่งส่วนราชการในสำนักฯ ดังนี้
(1) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำโครงการ แผนงาน มาตรการ และดำเนินการประสานและบริหารแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ และทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้ง โครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์
(2) ให้แบ่งส่วนราชการในสำนักฯ เป็น ส่วนประสานความร่วมมือการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนประสานความร่วมมือการวางแผนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงาน นิวเคลียร์ ส่วนสื่อสารและการยอมรับสาธารณะ และส่วนบริหารงานกลาง
(3) ให้มีผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารการปฏิบัติราชการภายในสำนักพัฒนาโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ทั้งนี้ โดยเห็นควรมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการแต่งตั้งและ มอบอำนาจตามขั้นตอนต่อไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อ 6 และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการแต่งตั้ง และมอบอำนาจตามขั้นตอนต่อไป