นโยบายกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1. วัตถุประสงค์
เพื่อกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยให้สะท้อนถึงต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้ให้บริการจัดหาไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาในแต่ละวัน การดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยและ ผู้สมควรได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความมั่นคงและความยั่งยืนของพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
2. หลักการทั่วไป
2.1 อัตราค่าไฟฟ้าต้องมีความเหมาะสมกับลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าและมีการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 อัตราค่าไฟฟ้าจะต้องส่งเสริมความเสมอภาคของประชาชนในทุกภูมิภาค สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกันต้องเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ยกเว้นไฟฟ้าพิเศษสำหรับธุรกิจบนเกาะ และผู้ใช้ไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศ
2.3 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าจะมีการแยกต้นทุนของแต่ละกิจการ ได้แก่ กิจการผลิต กิจการระบบส่ง กิจการระบบจำหน่าย และกิจการค้าปลีก ออกให้เห็นอย่างชัดเจนและโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ โดยมีการจำแนกต้นทุนของแต่ละกิจการตามพื้นที่อย่างน้อยในระดับภาคภูมิศาสตร์ และให้รายงานผลการแบ่งแยกต้นทุนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในไตรมาสที่ 2 หลังสิ้นปีบัญชี
2.4 อัตราค่าไฟฟ้าและการพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนของการไฟฟ้า จะต้องพิจารณาภายใต้เงื่อนไขกรอบค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของการไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ทบทวนหลักเกณฑ์การปรับปรุงประสิทธิภาพที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือเพิ่มเติมมาตรการจูงใจต่อการไฟฟ้าในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและไม่กระทบต่อคุณภาพของการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของการไฟฟ้า
2.5 เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีฐานะการเงินที่สามารถบริหารจัดการทางเงินได้โดยมีฐานะการเงินเพียงพอต่อการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมในระยะยาว ให้อัตราผลตอบแทนทางการเงินอ้างอิงจากอัตราส่วนผลตอบแทนการลงทุน (Return on Invested Capital: ROIC) ที่สะท้อนต้นทุนเงินทุนโดยเฉลี่ยของการไฟฟ้าทั้งสามแห่งเป็นหลักในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยให้มีการทบทวนความเหมาะสมและจำเป็นต่อการดำเนินการของสินทรัพย์ของการไฟฟ้าที่ใช้ในฐานกำหนดผลตอบแทนการลงทุน และให้ใช้อัตราส่วนรายได้สุทธิต่อการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (Debt/Equity Ratio) และอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-Financing Ratio: SFR) ประกอบการพิจารณา
2.6 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ให้มีกลไกในการติดตามการลงทุนของการไฟฟ้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพบริการและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศไทย โดยกำหนดให้มีบทปรับการลงทุนของการไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามแผนการลงทุนที่เหมาะสมที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าหรือการลงทุนในโครงการที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีประสิทธิภาพ (Crawl Back) และมีการประเมินบทปรับการลงทุนของการไฟฟ้าหลังจากสิ้นปีบัญชี เป็นประจำทุกปี
3. โครงสร้างอัตราขายส่ง (Wholesale tariffs)
3.1 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งที่ กฟผ. ขายให้ กฟน. และ กฟภ. ควรกำหนดเป็นโครงสร้างเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย ค่าผลิตไฟฟ้า และค่ากิจการระบบส่ง โดยค่าไฟฟ้าควรจะสะท้อนต้นทุนตามระดับแรงดันและตามช่วงเวลาของการใช้ไฟฟ้า (Time of Usage-TOU)
3.2 กำหนดบทปรับค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor) ในระดับขายส่งสำหรับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งและผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
3.3 การกำหนดกลไกเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าให้เป็นไปตามความเหมาะสมของฐานะการเงินของการไฟฟ้าในแต่ละปี และเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในประเภทเดียวกันในการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและให้มีการทบทวนเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าตามฐานะการเงินที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแต่ละการไฟฟ้า
4 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก
4.1 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน (G, T, D, R) เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายในการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ค่าไฟฟ้าตามสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และอัตราค่าบริการรายเดือน โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกให้สะท้อนต้นทุนตามช่วงเวลา ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท โดยมีการส่งสัญญาณให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกด้านราคา เช่น อัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) ช่วงการใช้ (Usage Blocks) และอัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา (Time of Usage) เป็นต้น
4.2 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกต้องมีการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย ในระดับหนึ่งโดยส่วนต่างระหว่างรายได้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยกับต้นทุนทางบัญชีให้นับเป็นความต้องการรายได้ (Revenue Requirement) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
4.3 อัตราค่าไฟฟ้าควรเป็นอัตราที่มีการทบทวนหรือปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอทุก 5 ปี โดยพิจารณาตามองค์ประกอบของต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยไม่ผันผวนเกินสมควร รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดการอุดหนุนระหว่างกลุ่มให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ โดยให้หน่วยงานกำกับดูแลจัดตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมติดตาม ทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ภายใน 2 ปี หลังจากมีการประกาศใช้นโยบายโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกและให้รายงานผลการดำเนินงานต่อ กพช.
4.4 กำหนดบทปรับค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor) ในระดับขายปลีกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง เพื่อให้สะท้อนถึงภาระการลงทุนในการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประกอบด้วย
4.5 อัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกควรสะท้อนความมั่นคง ความถี่ และแรงดันไฟฟ้าตามลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดคำนิยามของอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกแต่ละประเภทให้มีความชัดเจน ตลอดจนมีกลไกในการทบทวนภาระค่าไฟฟ้าระหว่างกลุ่มที่เกิดขึ้น การพิจารณาบทปรับกรณีใช้ไฟฟ้าผิดวัตถุประสงค์ เช่น ไม่เป็นการใช้ไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ การสูบน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น รวมถึงการพิจารณาบทปรับ
ในการลักลอบการจำหน่ายไฟฟ้าโดยไม่มีใบอนุญาตทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
4.6 กำหนดให้มีอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับธุรกิจบนเกาะ โดยให้แล้วเสร็จและประกาศใช้ภายใน 1 ปี นับจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่มีผลบังคับใช้ และให้ประเมินความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเติมเงิน โดยให้รายงานให้ กพช. รับทราบ ภายในระยะเวลา 1 ปี
4.7 ให้หน่วยงานกำกับดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและนำเสนอหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมการพัฒนาไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐ และนำเสนอต่อ กพช. ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด หลังจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย
(1) หลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ให้แล้วเสร็จและเสนอต่อ กพช. พิจารณาภายใน 1 ปี นับจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่มีผลบังคับใช้ เพื่อลดปัญหาการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้รับจะต้องไม่มากกว่านโยบายการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย
(2) หลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าและคุณสมบัติการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยและผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าของประเทศไทยต่อ กพช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ภายในกรอบระยะเวลา 2 ปีหลังจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกมีผลบังคับใช้ โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการจัดหาไฟฟ้า ปราศจากการอุดหนุนต้นทุนจากผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศ และเอื้อให้เกิดการพัฒนาทางสังคมและเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างยั่งยืน
4.8 ให้หน่วยงานกำกับดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและนำเสนอหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และนำเสนอต่อ กพช. ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี หลังจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่มีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย
(1) การศึกษา ทบทวน และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เพื่อเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เช่น อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถงดการจ่ายไฟฟ้าได้ (Interruptible Rate) อัตราค่าไฟฟ้าตามฤดูกาล (Time of Season) อัตราค่าไฟฟ้าในสภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น
(2) การศึกษา ทบทวน และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เช่น อัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) ช่วงการใช้ (Usage Blocks) อัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Usage) เป็นต้น
(3) สนับสนุนการดำเนินงานของ สนพ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เมื่อมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนี้
(3.1) การศึกษาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ หลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้าและกลไกอื่นๆ ในการส่งเสริมให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมปฏิบัติตามมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาต่อ กพช. ให้ความเห็นชอบ ก่อนการประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
(3.2) การศึกษาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการ รวมถึงมาตรการจูงใจให้ผู้ให้บริการไฟฟ้า (หรือ การไฟฟ้า) ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยผู้ให้บริการไฟฟ้า (Energy Efficiency Resource Standard : EERS) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (EEP2015)
5. การปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
5.1 ให้มีสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้าอย่างแท้จริง มีความโปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า
5.2 ค่า Ft ควรประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าฐานที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า รวมถึงผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เช่น ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มาตรการ Feed in Tariff การส่งเสริมการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา และการนำน้ำมันปาล์มดิบมาผสมเพิ่มเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
5.3 ให้หน่วยงานกำกับดูแลทบทวนวิธีการและอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน รวมทั้งให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
5.4 ค่า Ft ควรมีการเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน เพื่อมิให้เป็นภาระต่อการไฟฟ้า และเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องรับภาระความผันผวนของค่าไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
เห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2559 – 2563 ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป