แผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับ AEC
ตามที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งมีประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไน, ประเทศกัมพูชา, ประเทศ สปป.ลาว, ประเทศอินโดนีเซีย, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศพม่า, ประเทศสิงค์โปร์, ประเทศฟิลิปปินส์, ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย ในปี 2558 เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนระหว่างประเทศในทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ในโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประชาคมอาเซียนดังกล่าว ประกอบด้วย 3 เสาหลัก กล่าวคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community – ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความร่วมมือด้านพลังงาน (Plan of Action on Energy Cooperation: PAEC) ซึ่งปัจจุบันเป็น PAEC 2010 - 2015 โดยมีแนวทางความร่วมมือเกี่ยวกับ 1) การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ก๊าซ และพลังงานจากทรัพยากรทางน้ำ และการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้า (ASEAN Power Grid) 2) การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน 3) การพัฒนาพลังงานทดแทน 4) การพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินอย่างปราศจากมลพิษ
ในส่วนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิก (ASEAN Power Grid) ผ่านระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อให้แต่ละประเทศใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมแนวคิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนภาคพื้นดินตอนบน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา, ประเทศ สปป.ลาว, ประเทศพม่า, ประเทศเวียดนาม ประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาชนจีนเนื่องจากสามารถก่อสร้างการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้มีแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางพลังงานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุเป้าหมาย จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยคณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ กำหนดกรอบแนวทาง และจัดทำนโยบายและแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นประธานคณะทำงาน รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นรองประธานคณะทำงาน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้แทนจาก 3 การไฟฟ้าเป็นคณะทำงาน และผู้อำนวยการกลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
รายงานแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นรายงานเสนอแนวทางการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ AEC ในปี 2558