มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 2/2555 (ครั้งที่ 57)
วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2555 เวลา 15.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1. โครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
ประธานกรรมการ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าในระหว่างการประชุม อาจจะต้องไปปฏิบัติภารกิจชี้แจงเกี่ยวกับพระราชกำหนด 2 ฉบับ ที่สภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น เพื่อให้การประชุมแล้วเสร็จ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทำหน้าที่เป็นประธานแทน
เรื่องที่ 1 โครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 มีมติเห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์ ในการดำเนินโครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ภายในวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และมอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงาน โดยให้เป็นไปตามมาตรา 28 (1) และ 28 (2) ใน พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2555
2. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 มีมติอนุมัติเงินกองทุนฯ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปีงบประมาณ 2555 ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนิน "โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพภาคครัวเรือนในพื้นที่ประสบอุทกภัย (สินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย) กิจกรรมส่งเสริมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย" ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการซื้อหาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคครัวเรือน
3. พพ. ได้มอบหมายให้มูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการฯ ตามกรอบที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2554 เป็นระยะเวลารวม 8 เดือน โดยได้มีการแจกคูปอง ดังนี้
1) รอบแรกระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2554 - 4 มกราคม 2555 จำนวน 248,712 ชุด
2) รอบที่สองตั้งแต่วันที่ 10 - 20 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 662,131 ชุด รวมจำนวน 910,843 ชุด คิดเป็นมูลค่า 1,821,700,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ของเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นมูลค่าการลงทุนซื้อขายประมาณ 9,110 ล้านบาท
3) ปัจจุบัน พพ. ได้ดำเนินการตามโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 โดยมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ จำนวน 614 ร้าน ใน 28 จังหวัด มีทั้งร้านค้าขายปลีกและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการ และมีร้านค้ายื่นเบิกเงินคืนคูปองรวม ประมาณ 1,300 ล้านบาท พพ. ได้เบิกจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าแล้ว ประมาณ 317 ล้านบาท และได้ตรวจสอบเอกสารแล้วเสร็จรอการสั่งจ่ายอีกประมาณ 983 ล้านบาท
4. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ถึงประธานกรรมการกองทุนฯ (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) แจ้งการตรวจสอบการใช้เงินกองทุนฯ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีความเห็นว่าการจัดสรรเงินกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25(2) และ (3)(ก) ซึ่งสรุปประเด็นความเห็นได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การใช้จัดสรรเงินกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
1) กรณีตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25(2) เห็นว่า คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินให้ พพ. ซึ่งเป็นส่วนราชการและเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ โดยวิธีการดำเนินงานเป็นการแจกคูปองส่วนลดซื้อสินค้าประหยัดพลังงานแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย แต่ตามมาตรา 25(2) เป็นการจัดสรรเงินให้เอกชนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน และวิธีการดำเนินงานมิใช่เป็นการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน และตามมาตรา 3 อนุรักษ์พลังงาน หมายความว่า ผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ซึ่งการดำเนินโครงการเป็นการนำเงินในรูปแบบคูปองส่วนลดไปแจก จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจัดสรรเงินที่สอดคล้องหรือเป็นไปตามมาตรา 25(2)
2) กรณีตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25(3)(ก) เห็นว่าคณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินให้แก่ พพ. ซึ่งเป็นส่วนราชการ เป็นไปตามมาตรา 25(3) แต่วัตถุประสงค์และวิธีดำเนินงานไม่สอดคล้องหรือเป็นไปตาม (ก) เนื่องจากโครงการทางด้านอนุรักษ์พลังงาน หมายถึงโครงการทางด้านการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด แต่การแจกคูปอง (เงินสด) เป็นส่วนลดซื้อสินค้าประหยัดพลังงาน ครัวเรือนละ 2,000 บาท จำนวน 1 ล้านครัวเรือน ผ่านทางมูลนิธิฯ โดย พพ. ทำสัญญาให้มูลนิธิฯ เป็นผู้ดำเนินงานแทนทุกขั้นตอน ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่า พพ. ได้ดำเนินการทางด้านการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดโดยตรง จึงเป็นการจัดสรรเงินที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 25(3)(ก) นอกจากนี้ตามเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินโครงการ ระบุไว้ชัดเจนว่าเหตุที่ต้องจัดทำโครงการเนื่องจากเกิดอุทกภัย จึงเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีเจตนาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยเป็นสำคัญ มิใช่โครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน
ประเด็นที่ 2 สตง. เห็นว่า การดำเนินโครงการยังไม่รัดกุม บางขั้นตอนไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากขอบเขตวิธีการดำเนินโครงการ ที่กำหนดไว้ในเอกสารการของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ไม่ปรากฏวิธีการปฏิบัติงานที่ชัดเจน รัดกุม
ประเด็นที่ 3 สตง. เห็นว่า ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เนื่องจากการใช้คูปองสามารถเปลี่ยนมือได้ ส่งผลให้ผู้ที่ใช้คูปองส่วนหนึ่งมิได้เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างแท้จริง ทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และการดำเนินโครงการ ไม่สามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูลก่อนหลังการดำเนินโครงการได้ โดยเฉพาะปริมาณการใช้พลังงาน
สตง. จึงให้ประธานกรรมการกองทุนฯ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) แจ้งให้ พพ. ชะลอการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนจากร้านค้าไว้ก่อนและพิจารณาทบทวนการจัดสรรเงินกองทุนฯ ตามโครงการดังกล่าว จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อย่างเคร่งครัด สำหรับเงินที่เบิกจ่ายไปแล้ว ควรเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในส่วนอื่นมาชดเชย
2) ในโอกาสต่อไป ให้ พพ. พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขั้นตอน และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงิน
3) ในการปรับปรุงพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป ให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดให้มีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลสำเร็จของโครงการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง
5. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้แจ้งการตรวจสอบฯ ของ สตง. ไปยังประธานกรรมการกองทุนฯ ทราบ และได้แจ้งให้ พพ. ตรวจสอบและชะลอการเบิกจ่ายเงินตามโครงการดังกล่าวไว้ก่อน รวมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบในประเด็นที่ สตง. ได้ทักท้วง เนื่องจาก พพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ อยู่ในฐานะที่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้เป็นอย่างดี
6. พพ. ได้มีหนังสือมายัง สนพ. เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1) การจัดสรรเงินกองทุนฯ ได้ดำเนินการถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทุกประการ อีกทั้งได้ดำเนินการตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วย
2) การดำเนินโครงการฯ สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เช่น ร้านค้าที่เข้าร่วมต้องมีการออกใบกำกับภาษีเพื่อการตรวจสอบในภายหลัง คุณสมบัติของผู้ได้รับคูปองอ้างอิงตามฐานข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยขอบเขตการนำคูปองไปใช้มีระบุชัดเจนว่าใช้เป็นส่วนลดสินค้าเบอร์ 5 ซึ่งมีอยู่ 12 ประเภท ตามประกาศ พพ.
3) การดำเนินโครงการแม้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ พพ. วางไว้ในการกระตุ้นมูลค่าการลงทุนซื้อขาย แต่การเบิกจ่ายเงินโครงการเป็นการเบิกจ่ายเงินตามยอดคูปองที่ร้านค้าส่งมาเบิก มิใช่เป็นการจ่ายเงินเต็มจำนวน 2,000 ล้านบาท มิได้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ อีกทั้งวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน "ผ่านทางการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการซื้อหาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง" ซึ่งโครงการนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว กล่าวคือ แทนที่ผู้ประสบอุทกภัยจะต้องไปหาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์พลังงาน แต่โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดการสนับสนุนให้มีการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ช่วยในการอนุรักษ์พลังงานและบรรเทาภาระแก่ผู้ประสบอุทกภัย
7. สนพ. จึงได้ชี้แจงประเด็นการตรวจสอบของ สตง. ตามที่ พพ. ได้ชี้แจง และ สตง. ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ถึงประธานกรรมการกองทุนฯ แจ้งความเห็นว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. เฉพาะเรื่องการแจ้งให้ พพ. ชะลอการเบิกจ่ายเงินเท่านั้น แต่ยังมิได้มีการพิจารณาทบทวนการจัดสรรเงินกองทุนฯ จำนวน 2,000 ล้านบาท ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
8. สนพ. ได้ประชุมร่วมกับ พพ. เพื่อพิจารณาแนวทางในการชี้แจงข้อเท็จจริงตามข้อทักท้วงดังกล่าว โดย สนพ. ได้ร่างหนังสือชี้แจง สตง. เพิ่มเติม และขอให้นางสาวพวงเพชร สารคุณ ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของกองทุนฯ ตรวจทานแก้ไขแล้ว และเสนอประธานกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนวทางการชี้แจง สตง. ทราบถึงการจัดสรรเงินกองทุนฯ ในโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย โดย 1) แจ้งเวียนให้คณะกรรมการกองทุนฯ ทราบและให้ความเห็น หรือ 2) จัดประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อรับทราบและให้ความเห็น หรือ 3) ลงนามในหนังสือชี้แจง สตง. เพิ่มเติม ซึ่งประธานกรรมการกองทุนฯ ได้ลงนามในหนังสือชี้แจง สตง. เพิ่มเติม
9. เนื่องจากมีผู้แทนจากกลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้ยื่นหนังสือร้องเรียนที่ พพ. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 เพื่อขอให้ พพ. นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทราบถึงความเดือดร้อนเกี่ยวกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินคูปอง และขอความชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีข้อร้องเรียน จำนวน 2 ข้อ ดังนี้
1) หากการชี้แจงต่อ สตง. ไม่เป็นผล ขอให้กำหนดแผนและวันที่ร้านค้าจะได้รับเงินคืนจากงบประมาณอื่นของรัฐบาลและจัดส่งเอกสารชี้แจงให้ร้านค้าทราบทุกราย
2) ขอให้บรรเทาความเสียหายจากต้นทุนดอกเบี้ยของร้านค้า
10. เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังนี้
1) พิจารณาอนุมัติให้ พพ. เบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่ผ่านการตรวจสอบและรอสั่งจ่าย ภายใต้โครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย หรือ
2) พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน เพื่อเยียวยาแก่ร้านค้าโดยเร็ว ทั้งนี้หาก สตง. มีความเห็นตามมาในภายหลังว่าไม่สามารถใช้เงินกองทุนฯ ได้ และได้ข้อยุติตามข้อโต้แย้งจากหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงควรเสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ต่อไป หรือ
3) พิจารณาเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในส่วนอื่น เพื่อมาดำเนินงานตามโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย หรือ
4) แนวทางอื่นตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นสมควร
การพิจารณาของที่ประชุม
ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนการจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว และมีความเห็นของกรรมการสรุปได้ดังนี้
1. ประธานกรรมการฯ ได้สอบถามฝ่ายเลขานุการฯ ถึงการจัดทำหนังสือชี้แจง สตง. ว่า ได้มีการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานทางด้านกฎหมายของกระทรวงพลังงาน หรือของรัฐหรือไม่ ซึ่งเลขานุการฯ ได้ชี้แจงว่า หนังสือชี้แจง สตง. ได้ผ่านการพิจารณาของนักกฎหมายภายใน สนพ. และ พพ. แล้ว นอกจากนี้ ยังได้หารือและพิจารณาร่วมกับนางสาวพวงเพชร สารคุณ ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของกองทุนฯ ด้วย
2. นางสาวพวงเพชร สารคุณ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า หนังสือชี้แจง สตง. ที่ฝ่ายเลขานุการฯ ร่างขึ้นนั้น ได้ทำการชี้แจงข้อทักท้วงของ สตง. อย่างชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตาม หาก สตง. ยังมีความเห็นว่า การชี้แจงไม่มีน้ำหนักและความชัดเจนเพียงพอ ก็ควรจะให้หน่วยงานกลางร่วมพิจารณาและให้ความเห็น เพื่อความรอบคอบยิ่งขึ้น จึงเสนอแนะให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยต่อไป แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การอนุมัติเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฯ
3. ประธานกรรมการฯ เห็นว่าแนวทางแก้ไขตามข้อเสนอที่ 5.2 "พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน เพื่อเยียวยาแก่ร้านค้าโดยเร็ว ทั้งนี้หาก สตง. มีความเห็นตามมาในภายหลังว่าไม่สามารถใช้เงินกองทุนฯ ได้ และได้ข้อยุติตามข้อโต้แย้งจากหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงควรเสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ต่อไป" น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
4. ผู้แทนอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สอบถามในที่ประชุมว่า หากคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน ตามข้อเสนอ 5.2 ความรับผิดชอบจะอยู่ที่คณะกรรมการกองทุนฯ หรือรัฐบาล เนื่องจาก สตง. ได้มีข้อทักท้วงในเรื่องการใช้เงินกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจน
5. ประธานกรรมการฯ เห็นว่า การดำเนินการใดๆ จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น และเสนอที่ประชุมพิจารณาความเป็นไปได้ตามแนวทางที่ 5.2 เนื่องจากเห็นว่า การใช้เงินกองทุนฯ เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งได้ทำการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นผู้เข้าร่วมโครงการสมควรจะได้รับการชำระเงินจากกองทุนฯ โดยจะเสนอรัฐบาลจัดหางบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ก็ต่อเมื่อ สตง. ยังมีความเห็นตามมาในภายหลังว่าไม่สามารถใช้เงินกองทุนฯ ได้ แต่ทั้งนี้หากเกิดกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหางบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ได้ จะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไปอย่างไร
6. นายพรายพล คุ้มทรัพย์ เห็นว่า จากแนวทางการปฏิบัติของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือเอกชน เจ้าของอาคาร/โรงงานในการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงาน ในลักษณะเช่นเดียวกับโครงการนี้ ซึ่งในกรณีนี้เป็นเจ้าของอาคาร/ครัวเรือน ไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในการเลือกซื้ออุปกรณ์/เครื่องใช้ประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นสินค้าเบอร์ 5 จึงเห็นว่า การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการฯ ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน ตามแนวทางในข้อเสนอที่ 5.2 และให้หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย หากหน่วยงานนั้นมีความเห็นเช่นเดียวกับ สตง. จะมีสิ่งใดมายืนยันหรือรับรองได้ว่ารัฐบาลจะพิจารณาและจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ เพราะหากไม่มีการยืนยัน คณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องรับผิดชอบในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น และเห็นด้วยกับแนวทางในข้อ 5.2 เนื่องจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น หากสามารถเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเงินได้ก่อนก็จะเป็นการบรรเทาปัญหาของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้
7. ประธานกรรมการฯ ได้เสนอว่า หากที่ประชุมเห็นว่าข้อ 5.2 เป็นแนวทางที่เหมาะสม คณะกรรมการกองทุนฯ จะมีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นอื่นอีกหรือไม่
8. ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง ได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามข้อ 5.2 และ หากจะดำเนินตามแนวทางในข้อ 5.3 "พิจารณาเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในส่วนอื่น เพื่อมาดำเนินงานตามโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย" กระทรวงพลังงานมีงบประมาณส่วนอื่นรองรับไว้หรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแล้ว ไม่ข้อใดที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถใช้เงินกองทุนฯ สำหรับการดำเนินโครงการในลักษณะนี้ได้ ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่จะนำเรื่องนี้ไปหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
9. ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์) เห็นว่าการที่ สตง. ให้ความเห็นว่าการจัดสรรเงินกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามมาตรา 25 (2) ซึ่งกำหนดไว้ "เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนแก่เอกชนสำหรับการลงทุนและดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน หรือเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน" เป็นการพิจารณาที่ไม่ครบวงจร เนื่องจากกองทุนฯ ไม่สามารถให้เงินช่วยเหลือแก่เอกชนได้ ดังนั้น กองทุนฯ จึงได้จัดสรรเงินให้ พพ. และ พพ. นำไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนแก่เอกชน ซึ่งผู้ที่ได้รับและใช้เงิน คือ เอกชน ดังนั้น พพ. ควรจะชี้แจงในประเด็นดังกล่าวด้วย
10. ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงาน และที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535 หน่วยงานที่รับจัดสรรเงินจากกองทุนฯ โดยตรง คือ พพ. และ สนพ. และทั้ง 2 หน่วยงานจะนำไปสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือจัดสรรให้หน่วยงานผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติที่กองทุนฯ ได้ดำเนินการมาโดยตลอด และไม่เคยมีข้อทักท้วงว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น การจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการเกี่ยวกับหลอดไฟฟ้า เบอร์ 5 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยนำหลอดประหยัดไฟไปเปลี่ยนให้กับประชาชน ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรง แต่ดำเนินงานผ่าน กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ดำเนินโครงการให้รัฐบาล
11. ประธานกรรมการฯ ได้เสนอที่ประชุมว่า หากคณะกรรมการกองทุนฯ มีความเชื่อว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้ว น่าจะดำเนินการตามแนวทางข้อ 5.2 ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป คงจะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบให้จ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน แล้วถูกทักท้วงในภายหลังว่าไม่สามารถจ่ายเงินได้ รัฐบาลก็จะต้องจัดสรรงบประมาณในส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ มีข้อกังวลอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่
12. เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเพิ่มเติมว่า สนพ. ได้จัดทำหนังสือชี้แจง สตง. ฉบับที่ 2 ไปแล้ว และ สตง. ยังไม่มีหนังสือแจ้งตอบกลับมา อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้แนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาของการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงขอนำมาเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาทบทวนการจัดสรรเงินกองทุนฯ ตามข้อทักท้วงของ สตง. อีกครั้ง
13. ผู้แทนอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่า หากที่ประชุมเลือกแนวทางข้อ 5.2 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าไม่สามารถเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้ เรื่องดังกล่าวจะต้องถูกนำกลับมาพิจารณาที่คณะกรรมการกองทุนฯ อีกครั้ง ดังนั้น หากพิจารณาแนวทางข้อ 5.3 "พิจารณาเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในส่วนอื่น เพื่อมาดำเนินงานตามโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย"โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ยังไม่อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินแก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และในขณะที่ร้านค้ามีความเสียหายจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะจัดหางบประมาณในส่วนอื่นมาจ่ายให้แก่ร้านค้า พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ร้านค้ายังไม่ได้รับการชำระเงิน
14. ประธานกรรมการฯ ได้สอบถามฝ่ายเลขานุการฯ ถึงข้อเรียกร้องเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากร้านค้า ซึ่งเลขานุการฯ ได้ชี้แจงว่า กลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้ยื่นหนังสือร้องเรียนที่ พพ. โดยมีข้อร้องเรียน 2 ข้อ คือ 1) หากการชี้แจงต่อ สตง. ไม่เป็นผล ขอให้กำหนดแผนและวันที่ร้านค้าจะได้รับเงินคืนจากงบประมาณอื่นของรัฐบาลและจัดส่งเอกสารชี้แจงให้ร้านค้าทราบทุกราย และ 2) ขอให้บรรเทาความเสียหายจากต้นทุนดอกเบี้ยของร้านค้า ทั้งนี้ ประธานกรรมการฯ จึงเห็นว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ร้านค้า ให้ฝ่ายเลขานุการฯ รีบนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 21 สิงหาคม 2555
15. ปลัดกระทรวงพลังงาน มีความเห็นว่า หากการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการนี้ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ แสดงว่าการจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน ดังนั้น น่าจะพิจารณาที่เจตนารมณ์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คือ การใช้เงินเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และประเทศชาติได้ประโยชน์จากการประหยัดพลังงานอย่างแท้จริง
16. ประธานกรรมการฯ มีความเห็นว่า ในแนวทางการปฏิบัติของคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินฯ ได้นำข้อกฎหมายมาพิจารณาด้วยแล้ว จึงจะจัดสรรเงินกองทุนฯ ให้หน่วยงานดำเนินโครงการได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปัญหาด้านการเบิกจ่ายเงินให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตามข้อทักท้วงของ สตง. คณะกรรมการกองทุนฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดทำหนังสือชี้แจงไปแล้ว แต่เนื่องด้วยการดำเนินโครงการนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องและได้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากและเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ ซึ่งกำลังรอรับการชำระเงินจากกองทุนฯ อยู่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามกรอบการดำเนินงานของกองทุนฯ ซึ่งเห็นว่าเป็นไปตามมาตรา 25 ใน พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็ควรที่จะจ่ายเงินได้ แต่หาก สตง. ยังยืนยันว่าไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ ก็ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และทราบถึงความเห็นและข้อเสนอในแนวทางแก้ไขของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่เห็นว่าการจัดสรรเงินกองทุนฯ ได้มีการพิจารณาและดำเนินการอย่างถูกต้องและสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล จึงเห็นควรอนุมัติการจ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน เพื่อเยียวยาแก่ร้านค้าโดยเร็ว ทั้งนี้หาก สตง. มีความเห็นตามมาในภายหลังว่าไม่สามารถใช้เงินกองทุนฯ ได้ และมีข้อยุติตามข้อโต้แย้งจากหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงจะเสนอรัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ต่อไป ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วและไม่เห็นด้วยตามความเห็นของคณะกรรมการกองทุนฯ ก็จะต้องนำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาที่คณะกรรมการกองทุนฯ อีกครั้ง แต่หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ หน่วยงานและร้านค้าสามารถทำการเบิกจ่ายเงินได้ภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2555
17. ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เสนอให้ฝ่ายเลขานุการฯ รีบจัดทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว และเพื่อความรอบคอบให้นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไปด้วย
18. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีความเห็นว่าการอนุมัติเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย มิได้ดำเนินการโดยพลการ เนื่องจากตามโครงสร้างคณะกรรมการกองทุนฯ มีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในข้อทักท้วงของ สตง. ในประเด็นการจัดสรรเงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ มีเงินที่กองทุนฯ ได้จ่ายไปแล้ว จำนวน 317 ล้านบาท รวมทั้งหากมีผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้อง จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ได้ขอสรุปผลการพิจารณาของที่ประชุม คือ ให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำหนังสือขอหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ความเห็นโดยเร็ว พร้อมทั้งนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีทราบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงความเห็นและข้อเสนอในแนวทางแก้ไขของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่เห็นว่าการจัดสรรเงินกองทุนฯ ได้มีการพิจารณาและดำเนินการอย่างถูกต้องและสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล จึงเห็นชอบตามแนวทางข้อ 5.2 และคาดว่าภายในสัปดาห์ต่อไปจะสามารถเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้
19. ผู้แทนอธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้เพิ่มเติมว่า เมื่อได้ข้อวินิจฉัยในด้านกฎหมายว่าคณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจตามมาตรา 25 ก่อนนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งจ่ายเงินกองทุนฯ ควรมีหนังสือถึง สตง. แจ้งให้ทราบถึงข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของร้านค้า หรือแนบข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพร้อมกับเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรี
20. อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มีความเห็นว่า หากฝ่ายเลขานุการฯ หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าสามารถเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เนื่องจากได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนฯ สามารถอนุมัติให้มีการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้ ซึ่งไม่ต้องกังวลในเรื่องความเสียหายที่เกิดจากต้นทุนดอกเบี้ยของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
21. นางสาวพวงเพชร สารคุณ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีหนังสือเชิญ สตง. มาให้ความเห็น พร้อมกับผู้ชี้แจง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำหนังสือแจ้ง สตง. ทราบ และเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ปฏิบัติถูกต้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
22. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สอบถามในที่ประชุมเพิ่มเติมว่า เมื่อได้มีการเบิกจ่ายเงินกองทุนในโครงการฯ ไปแล้ว จำนวน 317 ล้านบาท หน่วยงานยังจะสามารถจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจาก สตง. เห็นว่าเป็นการใช้เงินผิดประเภท เงินที่ได้เบิกจ่ายไปแล้วก็ผิดด้วย ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ต้องรวมถึงการแก้ไขจำนวนเงินที่ได้เบิกจ่ายไปแล้วด้วย ซึ่งนางสาวพวงเพชร สารคุณ ได้ชี้แจงว่า เมื่อมีข้อทักท้วงจาก สตง. จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรีบเบิกจ่ายเงิน และควรจะรอให้ได้ข้อยุติก่อนจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้
23. อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เห็นว่า การเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก็เพื่อขอให้มีการเบิกจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน แต่หากผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่สามารถเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คณะรัฐมนตรีมีมติในหลักการไว้ว่าจะจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ต่อไป
24. ผู้แทนอธิบดีกรมบัญชีกลาง เห็นว่า สิ่งที่กรรมการกังวลคือประเด็นด้านกฎหมายที่ สตง. ทักท้วง หากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามภาระผูกพันที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่ในกรณีที่กองทุนฯ จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้ความชัดเจนทางด้านกฎหมาย และมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณานั้น ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรให้ได้ข้อยุติในระดับกรรมการกองทุนฯ และควรจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก็ต่อเมื่อได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วว่าสามารถเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่มีความเสียหายเนื่องจากกองทุนฯ ต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อวินิจฉัยทางกฎหมายดังกล่าว คงต้องเร่งรัดขอความเห็นทางกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้หรือไม่ สำหรับประเด็นทักท้วงของ สตง. ในประเด็นที่ 2 และ 3 นั้น เห็นว่าเป็นประเด็นในเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งกองทุนฯ สามารถจัดการเองได้ ไม่จำเป็น ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้หากต้องการความชัดเจนอาจขอเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายในมาตรา 25 ก็สามารถเบิกจ่ายได้ตามภาระผูกพันที่มี
25. ประธานกรรมการฯ ได้สรุปความเห็นของที่ประชุมว่า ให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเรื่องนี้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อาจมีความล่าช้าเกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ จึงขอสรุปเป็นมติของที่ประชุม ดังนี้
(1) ให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำประเด็นความเห็นและข้อทักท้วงของ สตง. เสนอหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยให้นำความเห็นดังกล่าวเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวินิจฉัยว่าการอนุมัติงบประมาณกองทุนฯ โครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ของคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นไปโดยถูกต้อง และหากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง ให้ พพ. ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต่อไป
(2) ให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำประเด็นความเห็นและข้อทักท้วงของ สตง. เสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน เพื่อเยียวยาแก่ร้านค้าโดยเร็ว ทั้งนี้ หาก สตง. มีความเห็นตามมาในภายหลังว่าไม่สามารถใช้เงินกองทุนฯ ได้ และได้ข้อยุติตามข้อโต้แย้งจากหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ต่อไป
มติที่ประชุม
ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนการจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าการจัดสรรเงินกองทุนฯ ถูกต้อง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แล้ว จึงมีมติ ดังนี้
1. ให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำประเด็นความเห็นและข้อทักท้วงของ สตง. เสนอหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยให้นำความเห็นดังกล่าวเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวินิจฉัยว่าการอนุมัติงบประมาณกองทุนฯ โครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ของคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นไปโดยถูกต้อง และหากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง ให้ พพ. ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต่อไป
2. ให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำประเด็นความเห็นและข้อทักท้วงของ สตง. เสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินแก่ร้านค้าในเบื้องต้นก่อน เพื่อเยียวยาแก่ร้านค้าโดยเร็ว ทั้งนี้ หาก สตง. มีความเห็นตามมาในภายหลังว่าไม่สามารถใช้เงินกองทุนฯ ได้ และได้ข้อยุติตามข้อโต้แย้งจากหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาคืนแก่กองทุนฯ ต่อไป