มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2559 (ครั้งที่ 8)
เมื่อวันพุธที่ 10 สิงหาคม 2559 เวลา 14.00 น.
ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
2. รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
3. รายงานความคืบหน้าการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร (Building Energy Code)
4. รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2558
5. แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)
6. การขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายทวารัฐ สูตะบุตร) กรรมการและเลขานุการ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ตามที่กระทรวงพลังงานได้เสนอและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามแผนในระยะที่ 1 ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้สอดคล้องกับแนวทางที่เสนอกับคณะรัฐมนตรีไว้โดยบูรณาการและต่อยอดจากการเตรียมการเกี่ยวกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (พ.ศ. 2559-2560) มุ่งเน้นการนำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า ระยะที่ 2 การขยายผลการดำเนินงานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะและเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล (พ.ศ. 2561-2563) และระยะที่ 3 การขยายผลไปสู่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล (พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป)
2. ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย (คณะทำงานฯ) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทั้งด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าของประเทศ ข้อจำกัดทางข้อกฎหมายต่างๆ การพิจารณานโยบายส่งเสริมเร่งด่วนที่เป็นไปได้ และขับเคลื่อนโครงการนำร่องต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมหารือจำนวน 4 ครั้ง โดยมีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยในปี 2559 จะมีการศึกษาเรื่องต่างๆ ดังนี้ (1) การศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนา สถานีอัดประจุไฟฟ้า (2) การศึกษา การจัดการ Load Pattern และมาตรฐานคุณภาพไฟฟ้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และ (3) การศึกษา วิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งได้มีการประสาน ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่มรถโดยสารสาธารณะและการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยตามแผนในระยะที่ 1
3. ความคืบหน้าในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ (1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำโครงการนำร่องสาธิตการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารถยนต์มินิบัสไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 1 สถานี เพื่อรับส่งผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ กฟผ. โครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทกริดเพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และโครงการศึกษาพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูงรองรับการติดฉลากเบอร์ 5 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า (2) การไฟฟ้านครหลวง จัดทำโครงการสนับสนุนการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 สถานี ของ ขสมก. เพื่อรองรับโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (3) ขสมก. จัดทำโครงการจัดหารถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า จำนวน 200 คัน (4) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าและจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเส้นทางสุวรรณภูมิ – พัทยา (5) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดทำโครงการนำร่องรถโดยสารรับส่งพนักงาน ปตท. สำนักงานใหญ่ – BTS สถานีหมอชิต (6) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดทำโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนการลงทุนสำหรับการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน จำนวน 100 สถานี
4. ความคืบหน้าเกี่ยวกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยของหน่วยงานต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) กรมธุรกิจพลังงาน จะตรวจสอบมาตรฐานการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้ข้อกฎหมายปัจจุบัน (2) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จัดทำมาตรฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้า การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า และการออกใบอนุญาตในการจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับภาคขนส่ง (3) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานของเต้ารับ-เต้าเสียบของรถโดยสารไฟฟ้าและรถยนต์นั่ง (4) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการส่งเสริมการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า เช่น การยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าสำเร็จรูปแบบมีเงื่อนไข โดยบริษัทที่สนใจลงทุนผลิตจะต้องยื่นแผนการดำเนินงานเป็น Package เป็นต้น (5) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าของ ขมสก. และสำหรับรถยนต์นั่ง (6) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยการลงทุนแบบ Package จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้า CBU ในปริมาณที่จำกัดและแบบมีเงื่อนไข และยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนหลัก (7) กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะปรับปรุงประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ โดยเพิ่มยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและพิจารณาปรับลดขนาดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกรับฟังความเห็นร่างประกาศดังกล่าวแล้วและอยู่ระหว่างการออกประกาศ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ขอให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต) สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ เดือน มิถุนายน 2559 มีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้ว 7,234 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 9,223 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ณ ปี 2579 (เป้าหมาย 16,778 เมกะวัตต์ ไม่รวมพลังน้ำขนาดใหญ่) แบ่งเป็น (1) โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (COD) แล้ว 6,992 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 6,380 เมกะวัตต์ (2) โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วและอยู่ระหว่างรอ COD จำนวน 157 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 2,113 เมกะวัตต์ และ (3) โครงการที่มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จำนวน 85 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 730 เมกะวัตต์
2. การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 จำนวน 200 เมกะวัตต์ ต่อมา กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในกำหนดเวลา โดยให้ผู้ประกอบกิจการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทอาคารธุรกิจ/โรงงาน ปี 2556 สามารถดำเนินการต่อได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 และผู้ประกอบกิจการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ปี 2556 และ ปี 2558 สามารถดำเนินการต่อได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และหากไม่สามารถ COD ได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุดลง ทั้งนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมีหนังสือแจ้งคู่สัญญาทราบล่วงหน้าก่อน SCOD 30 วัน หากไม่สามารถ COD ได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้ สถานภาพการรับซื้อไฟฟ้าโครงการ Solar PV Rooftop ณวั นที่ 30 มิถุนายน 2559 มีผู้ผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว จำนวน 6,166 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 130 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นประเภทบ้านอยู่อาศัย 6,002 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 48 เมกะวัตต์ และประเภทอาคารธุรกิจ/โรงงาน 164 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 82 เมกะวัตต์
3. การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับผู้ที่ ยื่นขอขายไฟฟ้าไว้ในระบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) เดิม ซึ่ง กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ได้พิจารณาโครงการฯ ที่ไม่สามารถ COD ภายในสิ้นเดือน ธันวาคม 2558 โดยหาก COD ภายในเมษายน 2559 ให้รับอัตรา FiT คงเดิมที่ 5.66 บาทต่อหน่วย แต่หาก COD หลังวันที่ 30 เมษายน 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ให้รับอัตรา FiT ลดลงมาอยู่ในอัตราที่ 5.377 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ สถานะโครงการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 มีโครงการที่ COD แล้ว จำนวน 165 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 971 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่ได้รับการยกเลิก PPA เนื่องจากไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ PPA จำนวน 6 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์
4. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. 2559 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) มีความคืบหน้าดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เป้าหมาย 10 เมกะวัตต์ มีผู้ได้รับคัดเลือก จำนวน 1 โครงการ กำลังผลิตติดตั้ง 2 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมลงนาม PPA โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และ (2) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) อยู่ระหว่างดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าประเภทชีวมวล จำนวน 36 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2559
5. การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2558 กกพ. ได้ออกประกาศฯ รับซื้อไฟฟ้าเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 และได้ประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติรวม 167 ราย ต่อมา กกพ. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจับสลากเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ และได้จับสลากเพื่อคัดเลือกโครงการ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 และประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการคัดเลือกที่มีสิทธิเข้าทำสัญญากับการไฟฟ้า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 67 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 281 เมกะวัตต์ โดยเจ้าของโครงการหรือผู้สนับสนุนโครงการ จะต้องลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือและมีกำหนดที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559
6. ความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน สรุปได้ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 กกพ. ได้อออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562 โดยกำหนดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในระหว่างวันที่ 22 – 28 กันยายน 2559 และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกวันที่ 28 ตุลาคม 2559 โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 (2) การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนอยู่ระหว่างนำร่างประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff ไปรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีกำหนดประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายในเดือนสิงหาคม 2559 ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในระหว่างวันที่ 7 – 21 ตุลาคม 2559 ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ขอให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (นายธรรมยศ ศรีช่วย) สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. กระทรวงพลังงาน ได้ออกกฎกระทรวงในการกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเหตุผลความจำเป็นในการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากอาคารเก่าที่ติดตั้งใช้งานอยู่แล้ว ไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่ต้น ทำให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการปรับปรุงอาคารเก่าที่ใช้งานอยู่มีความยุ่งยาก และบางกรณีไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพอาคารด้านพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) เป็นการออกกฏกระทรวงเพื่อกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานกับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงการใช้งานอาคารที่มีผลเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในอาคาร ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดให้บังคับกับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ (1) สำนักงาน (2) โรงแรม (3) โรงพยาบาล (4) ศูนย์การค้า (5) โรงมหรสพ (6) สถานบริการ (7) อาคารชุมนุมคน (8) อาคารชุด และ (9) สถานศึกษา ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารามเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์ประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำในระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
2. เนื่องจากการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) ไม่ได้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตแบบ มาตรา 20 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) ซึ่งได้ระบุให้คณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณาหากเห็นชอบที่จะนำไปบังคับใช้ ให้ถือเสมือนเป็นกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และให้ผู้บรรดามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลให้การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนั้น ภายหลังที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ส่งกฎกระทรวงฯ ให้คณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และคณะกรรมการควบคุมอาคาร พิจารณาไม่เห็นชอบที่จะนำไปบังคับใช้ในประเด็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายทั้งสองที่ไม่สอดคล้องกัน การบังคับใช้อาจสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการ และบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนค่อนข้างรุนแรง (ทั้งจำทั้งปรับ) แต่ให้ไปดำเนินการในลักษณะส่งเสริมแบบสมัครใจก่อน เมื่อสังคมมีความพร้อมจะพิจารณาอีกครั้ง
3. คณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ช่วยผลักดันให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี ผ่านคณะกรรมการประสานงานรวม 3 ฝ่าย เพื่อเร่งนำไปสู่การบังคับใช้ โดยมอบหมายให้ พพ. และกรมโยธาธิการและผังเมือง ไปหารือและกำหนดแนวทางเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นชอบหลักการ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ดังนี้ (1) เห็นควรให้มีการบังคับใช้กับอาคารที่มีความพร้อมก่อน และทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภท ภายใน 5 ปี โดยมีกรอบการดำเนินงาน ดังนี้ ปีที่ 1-2 บังคับกับอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสูง ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ปีที่ 3-4 บังคับกับอาคารทั้ง 9 ประเภท ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป และปีที่ 5 บังคับกับอาคารทั้ง 9 ประเภท ขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป (2) เห็นควรแก้ไขกฎกระทรวง โดยให้ไปกำหนดข้อมูลทางเทคนิค เกณฑ์ค่าประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ไว้ในประกาศกระทรวงฯ แทน เพื่อความสะดวกในการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง พพ. จัดทำร่างแก้ไขกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะกรรมการควบคุมอาคาร และเข้าชี้แจงคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณารายละเอียดและความเหมาะสม ทั้งนี้ มีการประชุมคณะอนุกรรมการไปแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งผลการประชุมล่าสุด มีมติเห็นชอบการแก้ไขรายละเอียดของร่างกฎกระทรวง และอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรายละเอียดร่างประกาศกระทรวง เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอให้คณะกรรมการควบคุมอาคารให้ความเห็นชอบต่อไป
4. แผนงานที่จะดำเนินการต่อไป ดังนี้ (1) พพ. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งพิจารณารายละเอียดและแก้ไขร่างประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และดำเนินขั้นตอนยกร่างแก้ไขกฏหมาย คาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในปี 2560 (2) เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตแบบก่อสร้าง โดยการฝึกอบรมให้ความรู้แนวทางปฎิบัติการพิจารณาอนุญาตแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ให้แก่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ทั่วประเทศ จำนวน 500 คน ในปีงบประมาณ 2560 (3) เตรียมความพร้อมผู้ตรวจรับรองแบบอาคาร โดยการฝึกอบรมและขึ้นทะเบียนผู้ตรวจรับรองแบบอาคารโดยใช้กลไกวิชาชีพเพื่อรองรับการบังคับใช้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้อย่างเพียงพอ และ (4) เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความเข้าใจ รับรู้และเห็นความสำคัญของการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานที่จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการและสร้างผลกำไรทางธุรกิจ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2558
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ตามระเบียบ กพช. ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 กำหนดให้ สนพ. จัดทำงบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุน ณ วันสิ้นปีงบประมาณส่งคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อทราบ และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทราบภายในสามสิบวันทำการนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2558 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานกองทุนฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 และให้นำเสนอ กพช. เพื่อทราบต่อไป
2. สาระสำคัญของผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2558 สรุปได้ดังนี้ (1) คณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาการจัดสรรเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2558 ตามวัตถุประสงค์และแผนการใช้จ่ายเงินที่เน้นเรื่องการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา การฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และการให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อเป็นการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายยุทธศาสตร์และภารกิจของหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,029,224 บาท ประกอบด้วยทุนการศึกษา และฝึกอบรม 12,665,280 บาท การเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา 2,723,944 บาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 640,000 บาท (2) คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการจัดสรรเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2558 รวมทั้งสิ้น 12,832,380 บาท ประกอบด้วยทุนการศึกษาและทุนฝึกอบรมภาษาอังกฤษ ในวงเงิน 11,135,280 บาท สำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศ 2 ทุน ปริญญาโทต่างประเทศ 1 ทุน และปริญญาโทในประเทศ 8 ทุน ทุนสำหรับการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรมและสัมมนา จำนวน 3 หลักสูตร ในวงเงิน 1,057,100 บาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 640,000 บาท สำหรับเป็นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย และค่าวัสดุสำนักงาน
3. ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงาน ดังนี้ (1) การศึกษาด้านวิชาการ ทำให้ผู้เข้าศึกษาสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ร่วมงานและนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้ ทำให้การปฏิบัติงานในการให้บริการและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (2) การพัฒนาด้านภาษาต่างประเทศ ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างๆ ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ได้อย่างถูกต้องตามหลักไวยกรณ์และเหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ โดยสามารถนำแนวทางและความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อองค์กร และยังทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้วัฒนธรรม มาตรฐานความเป็นอยู่ วิถีชีวิตต่างๆ มาตรการและแนวนโยบายต่างๆ ของประเทศที่ไปศึกษา และประเทศของเพื่อนต่างชาติ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน (3) การเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา บุคลากรและหน่วยงานสามารถนำความรู้ ความเข้าใจทางวิชาการและทางด้านเทคนิค และประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และเป็นประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ทั้งในระดับชุมชน ระดับหน่วยงาน และระดับประเทศ
4. รายงานสถานะเงินกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ดังนี้ (1) รายงานแสดงฐานะการเงิน ปี 2558 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม จำนวน 440,568,889.96 บาท ลดลงจากปี 2557 ที่มีจำนวน 449,500,999.42 บาท เป็นเงิน 8,932,109.46 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.99 และมีหนี้สินรวม จำนวน 619,517 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีจำนวน 86,845.20 บาท เป็นเงิน 532,671.80 บาท คิดเป็นร้อยละ 613.36 (2) รายงานแสดงผลการดำเนินงาน ปี 2558 มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 13,963,845.74 บาท ลดลงจากปี 2557 ที่มีจำนวน 19,311,592.27 บาท เป็นเงิน 5,347,746.53 บาท คิดเป็นร้อยละ 27.69 โดยรายได้หลักของกองทุนฯ มาจากดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งในปี 2558 กองทุนฯ มีรายได้ลดลงจากปี 2557 จำนวน 5,347,746.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.69 และมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 23,428,625.00 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีจำนวน 16,561,794.16 บาท เป็นเงิน 6,886,830.84 บาท คิดเป็นร้อยละ 41.46 เนื่องจากรายจ่ายทุนการศึกษาและฝึกอบรมเพิ่มขึ้น 3,748,062.76 บาท และรายจ่ายการเดินทางเพื่อการศึกษา ดูงาน ประชุม อบรมและสัมมนาเพิ่มขึ้น 3,137,838.83 บาท (3) ผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ในปี 2558 มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ จำนวน 9,464,781.26 บาท แต่ในภาพรวมกองทุนฯ ยังมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวน 87,147,810.94 บาท และมีภาระผูกพันรายจ่ายทุนการศึกษา และรายจ่ายการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรมและสัมมนา จำนวน 11,067,274.14 บาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และมอบให้กระทรวงพลังงานไปจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมตามข้อสั่งการต่อไป
เรื่องที่ 5 แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ภาครัฐ ได้มีการประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (SEZ1) ใน 6 พื้นที่จังหวัดชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระทรวงพลังงานจึงได้มีนโยบายพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวรวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาค สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางพลังงานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
2. กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้กำหนดให้ระดับความสำเร็จของการจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าฯ) เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพลังงานประจำปีงบบัญชี 2558 ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (คณะทำงานฯ) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ประกอบด้วย สนพ. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เพื่อร่วมกันจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าฯ รองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายของภาครัฐ และ สนพ. ได้เสนอแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารกระทรวงพลังงานแล้ว ต่อคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฯ) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ) รับทราบแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 และ 27 กรกฎาคม 2559 ตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้าของประเทศในอนาคตต่อไป
3. กระทรวงพลังงาน โดย สนพ. ร่วมกับ กฟผ. และ กฟภ. ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานฯ ได้ร่วมกันวิเคราะห์และวางแผนเพื่อจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (SEZ1) (แผนงานฯ) ใน 6 พื้นที่จังหวัดชายแดน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอและทันต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว สรุปรายละเอียดแผนการดำเนินงานได้ดังนี้ (1) แผนระบบส่งของ กฟผ. วงเงินรวม 19,415 ล้านบาท (TS.12) เพื่อปรับปรุงสถานีไฟฟ้าต้นทางแรงสูง 230 กิโลโวลต์ และแผนงานก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ และ 500 กิโลโวลต์ เป็นต้น โดย กฟผ. มีแผนงานที่ได้รับการอนุมัติแล้วตามแผน TS.12 จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา วงเงินรวม 15,200 ล้านบาท และร่างแผนฯ ที่ยังไม่อนุมัติ (จังหวัดตาก และจังหวัดมุกดาหาร) วงเงินรวม 4,215 ล้านบาท (2) แผนระบบจำหน่ายของ กฟภ. เพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 115/22-33 กิโลโวลต์ และก่อสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ 22-33 กิโลโวลต์ และ 220/380 กิโลโวลต์ โดยอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีทั้ง 6 พื้นที่ วงเงินรวม 3,140 ล้านบาท ทั้งนี้ ในกรณีที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แผนงานฯ ของ กฟผ. และ กฟภ. ดังกล่าวจะสามารถรองรับได้ในบางส่วน และหากไม่เพียงพอ กฟผ. และ กฟภ. พร้อมที่จะจัดทำแผนขยายหรือปรับปรุงระบบส่งให้รองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต (3) แผนงานพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 (SEZ1) เพื่อให้สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 พื้นที่ดังกล่าว และความสามารถของระบบส่งไฟฟ้า (Grid Capacity) ของ กฟผ. ในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พบว่า จะต้องมีการลงทุนปรับปรุงและก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ร่วมกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงเสนอแนวคิดในการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบหลักการแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (SEZ1) ใน 6 พื้นที่จังหวัดชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
2. เห็นชอบในหลักการแนวทางการลงทุนปรับปรุงและก่อสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้พิจารณาแผนและรายละเอียดในการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
เรื่องที่ 6 การขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เพื่อขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างสองประเทศเป็น 7,000 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2550 ซึ่งจากบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว ตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจจนถึงปี 2558 ให้ได้ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ และให้สามารถขยายความร่วมมือเพิ่มเติมต่อไปภายในหรือหลังปีดังกล่าวได้อีกประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมดประมาณ 7,000 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้แก่ราชอาณาจักรไทย
2. คณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือ (Joint Commission: JC) ไทย-ลาว ในการประชุมครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 25 - 27 ตุลาคม 2558 ณ จังหวัดเชียงราย ได้หารือในด้านความร่วมมือด้านไฟฟ้าและพลังงาน โดยที่ประชุมรับทราบว่าฝ่ายไทยยินดีที่จะร่วมมือกับ สปป. ลาว ในการพิจารณาการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป. ลาว เพิ่มขึ้นจากกรอบบันทึกความเข้าใจ 7,000 เมกะวัตต์ โดยคำนึงถึงความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ความต้องการไฟฟ้า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง และข้อจำกัดด้านระบบส่ง โดยขอให้กระทรวงพลังงานและบ่อแร่แห่ง สปป. ลาว มีหนังสือแจ้งกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ
3. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการฯ) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป. ลาว เป็น 9,000 เมกะวัตต์ โดยฝ่ายเลขานุการฯ จะได้นำหลักการดังกล่าวไปประสานกับคณะกรรมการประสานการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของฝ่าย สปป. ลาว (Coordinating Committee for Development of Electric Power: CDEP) หากสามารถบรรลุข้อสรุปได้จะดำเนินการสู่กระบวนการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าและการลงนามต่อไป
4. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ได้มีการหารือข้อราชการระหว่าง พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประเทศไทย) กับ H.E. Viraphon Viravong (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าจาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์
5. คณะกรรมการประสานการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของฝ่าย สปป. ลาว ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ถึงประธานคณะอนุกรรมการฯ ของฝ่ายไทย ขอให้พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้ากับ สปป. ลาว ซึ่งฝ่าย สปป. ลาว ได้เสนอให้มีการเพิ่มปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าจากเดิม 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งเสนอให้มีการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างทั้งสองประเทศเป็นแบบ Grid-to-Grid
6. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 คณะอนุกรรมฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปเจรจากับฝ่าย สปป. ลาว และเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ผู้แทนฝ่ายไทย นำโดยผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พร้อมเจ้าหน้าที่จาก สนพ. และ กฟผ. ได้มีการประชุมหารือในรายละเอียดร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว (MOU) ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป. ลาว จนสามารถบรรลุข้อสรุปร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกัน
7. สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจ สรุปได้ดังนี้ (1) ขยายกรอบความร่วมมือเพิ่มจากบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ฉบับปัจจุบัน ที่ลงนามเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2550 จาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะระบุระยะเวลาของกรอบความร่วมมือฉบับนี้ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศจะสนับสนุนการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ก่อนยกระดับสู่การเป็น Regional Power Grid และจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันศึกษาในรายละเอียดทางด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ในการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ (Grid-to-Grid) (2) นอกจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ เห็นควรร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้าพลังความร้อน พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบส่ง และระบบจำหน่ายใน สปป.ลาว ด้วย (3) เป็นที่ทราบว่าความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าของทั้งสองประเทศมีพื้นฐานความสำเร็จในการดำเนินงานจากโครงการความร่วมมือทางด้านเทคนิค ดังนั้น ทั้งสองประเทศจะมีความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านเทคนิค การแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษาร่วมกัน การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นในด้านพลังงานไฟฟ้า
8. เนื่องจาก รัฐบาล สปป. ลาว จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2559 สปป. ลาว จึงเสนอที่จะให้มีการลงนามในฉบับ MOU นี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์
2. เห็นชอบในหลักการร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ สปป. ลาว เรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว และเพื่อให้สามารถลงนามได้ในช่วงเวลาการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2559 ตามข้อเสนอจาก สปป. ลาว เห็นชอบให้สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ทันที โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมายตรวจสอบ หากไม่มีประเด็นการแก้ไขที่เป็นสาระสำคัญให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีและ กพช. อีก
ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านให้รอบคอบ รวมทั้งพิจารณาแผนการพัฒนาเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านด้วย และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงพลังงานไปดำเนินการเจรจาความร่วมมือด้านน้ำกับ สปป. ลาว ต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ) มาตรา 9(8) ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดย กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 และวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ได้เห็นชอบนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าไว้ ดังนี้ (1) ช่วงระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ให้จ่ายเงินเป็นรายปีตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี สำหรับปีใดที่มีการก่อสร้างไม่ครบปีให้คำนวณตามสัดส่วนของเดือนในปีนั้น ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/ปี (2) ช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้าให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยจำแนกตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอัตรา ดังนี้ ก๊าซธรรมชาติ 1.0 สตางค์/หน่วย น้ำมันเตา ดีเซล 1.5 สตางค์/หน่วย ถ่านหิน ลิกไนต์ 2.0 สตางค์/หน่วย พลังงานหมุนเวียน ประเภท ลม และแสงอาทิตย์ 1.0 สตางค์/หน่วย พลังงานหมุนเวียน ประเภทพลังงานน้ำ 2.0 สตางค์/หน่วย พลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน และอื่นๆ 1.0 สตางค์/หน่วย โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศ กกพ. เรื่องการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553 (ประกาศ กกพ.ฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2553 ส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตั้งแต่การผลิตพลังงานไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2554 เป็นต้นไป
2. ในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 กกพ. เสนอให้ กพช. กำหนดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุน สำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานเหลือทิ้ง เช่น ไอน้ำหรือลมร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและการเกษตร และจากพลังงานหมุนเวียนประเภทความร้อนใต้พิภพ และอื่นๆ ในอัตรา 1 สตางค์/หน่วย ซึ่ง กพช. มีความเห็นว่าการนำพลังงานเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นในการผลิตไฟฟ้าเป็นสิ่งควรให้การสนับสนุนในลักษณะให้แรงจูงใจ (incentive) และควรมีการทบทวนความเหมาะสมการกำหนดอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดย กพช. มีมติให้ทบทวนนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าใหม่ โดยให้คำนึงถึงนโยบายรัฐบาลในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้เงินของกองทุนฯ ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนรอบโรงไฟฟ้า
3. กกพ. ได้ดำเนินการทบทวนนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า และมีความเห็นว่าการผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้ง คือ การนำพลังงานความร้อนที่ปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศหลังจากผ่านกระบวนการผลิตแล้วกลับมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น กระบวนการผลิตปูนซิเมนต์ จะมีลมร้อนเหลือทิ้งที่อุณหภูมิประมาณ 350 องศาเซลเซียส ลมร้อนดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตไอน้ำที่หม้อน้ำ (Waste Heat Boiler) เพื่อนำไอน้ำที่ได้ไปใช้ในการขับกังหันไอน้ำ (Turbine) เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งหากเปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้งกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เห็นได้ว่าทั้งสองประเภทเป็นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ลมร้อนทิ้ง ซึ่งเป็นการประกอบกิจการพลังงาน ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ และต้องได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. จึงต้องอยู่ในข่ายที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบอื่นด้วย โดย กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่า อัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน ตามที่เสนอให้ กพช. พิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 เป็นอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นอัตราเดียวกับที่เก็บจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทลมและแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ กกพ. มีความเห็นว่าปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม ซึ่งในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 มีมติเห็นชอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 - 2562 ในปริมาณ 50 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีเพียงขยะชุมชนยังไม่มีการระบุขยะอุตสาหกรรมไว้ด้วย ดังนั้น จึงเห็นควรเพิ่มเติมให้การผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย ในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน เช่นเดียวกับอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่ได้มีการกำหนดไว้แล้ว
4. การทบทวนอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า กกพ. เห็นว่าการนำส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้ท้องถิ่นที่ตั้งของโรงไฟฟ้ามีรายได้เพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มเติมจากงบประมาณที่ได้รับจากทางราชการ ซึ่งมีจำนวนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของกองทุนในแต่ละพื้นที่ โดยสามารถที่จะนำมาต่อยอดในการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญเพิ่มขึ้นได้ และนำมาดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนต่อไปได้ ทั้งนี้ การเก็บเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่เป็นอยู่ปัจจุบันสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและทำให้ประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้ามีทัศนคติที่ดีในการที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในท้องถิ่นของตนได้ในระดับหนึ่งแล้ว และการปรับปรุงอัตราไม่ว่าจะลดอัตราหรือเพิ่มอัตราจะส่งผลต่อพื้นที่ที่ได้รับเงินกองทุนหรือส่งผลกับค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระ จึงเห็นควรคงอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนไว้ตามอัตราที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ กกพ. ได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) และสำรวจสอบถามทัศนคติของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าต่อการดำเนินงานกองทุนฯ และโรงไฟฟ้า พบว่าชุมชนเห็นด้วยว่าหากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าร่วมมือกับโรงไฟฟ้าจะสามารถพัฒนาชุมชนได้มากขึ้น และยินดีเข้าร่วมกิจกรรมของกองทุนและโรงไฟฟ้า โดยเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาชุมชน และทำให้โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชุนอย่างเป็นมิตร คนมีงานทำ และมีข้อเสนอแนะว่าโรงไฟฟ้าควรเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ร่วมกับชุมชน และเข้าหาชุมชนเพื่อลดความขัดแย้ง
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าการกำหนดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ที่ 1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือนมีความเหมาะสม เนื่องจากผู้ประกอบการมีการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในอัตรา Feed in Tariff และอัตราดังกล่าวเทียบเคียงได้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ และขยะชุมชน เป็นต้น แต่สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้ง เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ เป็นไปตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) ทำให้ลดภาระการผลิตไฟฟ้าของประเทศและลดการใช้เชื้อเพลิง ในขณะเดียวกัน การผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้งยังช่วยลดปัญหามลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรมลง ซึ่งสอดคล้องกับมติ กพช. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 ที่เห็นว่าการนำพลังงานเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นในการผลิตไฟฟ้าเป็นสิ่งควรให้การสนับสนุนในลักษณะให้แรงจูงใจ (incentive) ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นว่า ควรให้ กกพ. ทบทวนความเหมาะสมของการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้ง โดยหารือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม และหากมีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า จะต้องดำเนินการโดยไม่ขัดต่อนโยบายการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการกำหนดนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม
2. เห็นชอบอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน เช่นเดียวกับพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ
3. เห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานรับไปทบทวนความเหมาะสมของการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้ง โดยหารือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม และหากมีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า จะต้องดำเนินการโดยไม่ขัดต่อนโยบายการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้นำผลการทบทวนกลับมาเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 มีมติเห็นชอบ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ซึ่งมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนโดยภาครัฐจะลดภาระค่าใช้จ่าย ใน 2 กรณี คือ (1) หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด และ (2) กรณีใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 80 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เตรียมการรองรับมาตรการดังกล่าว โดยในส่วนของการออกใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารชุดที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือนจะแสดงรายการตามปกติที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมอยู่ด้วยและระบุว่า “รัฐบาลรับภาระ” กรณีที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วย แต่ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะแสดงรายการตามปกติที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ระบุว่า “รัฐบาลรับภาระครึ่งหนึ่ง”
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามรายละเอียดของแผนปฏิบัติการฯ โดยในส่วนของการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ให้ทำมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยซึ่งใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เป็นมาตรการถาวร และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ที่ให้การทำมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยซึ่งใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เป็นมาตรการถาวร ดำเนินการโดยใช้กลไกของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ) มาตรา 97(1) ที่กำหนดให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าทำหน้าที่ในการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสให้ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้ใช้ไฟฟ้าฟรี หมายถึงผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 ซึ่งติดมิเตอร์ขนาด 5(15) แอมแปร์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โดยกระจายภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท รวมถึงให้พิจารณาผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นลูกค้าตรงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนร่วมรับภาระด้วย ทั้งนี้ ยกเว้นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก และสูบน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนทั่วไป และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ได้เห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 เสนอให้ปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยซึ่งใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โดยปรับลดจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน
3. การใช้กลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ในการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นผลให้ภาระค่าบริการไฟฟ้า (เฉพาะค่าไฟฟ้าและค่าบริการ) ในส่วนที่ไม่เกิน 90 หรือ 50 หน่วยต่อเดือน แล้วแต่กรณี ไม่ตกเป็นภาระของผู้ให้บริการไฟฟ้าแก่ผู้มีรายได้น้อย แต่ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม กลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไม่สามารถใช้ในการชดเชยและอุดหนุนให้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าผู้ที่ด้อยโอกาสได้ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นส่วนที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต้องเป็นผู้จ่ายตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ใช่ส่วนที่ผู้ให้บริการไฟฟ้าให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสที่จะใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาชดเชยและอุดหนุนได้ เป็นผลให้ยังมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ให้บริการไฟฟ้ายังไม่ได้เรียกเก็บแต่นำเงินส่งให้แก่กรมสรรพากรแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 เป็นเงิน 1,654.91 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน
4. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 กพช. ได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีส่วนลดค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสตามนโยบายของรัฐบาล ในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาด 5(15) แอมแปร์ และให้มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประสานกับกรมสรรพากรรวมทั้งพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผ่านมา เพื่อมิให้เป็นภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป ทั้งนี้ จากการดำเนินนโยบายช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ให้บริการไฟฟ้าที่ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้ (1) ช่วงการดำเนินนโยบายในระยะแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 รัฐบาลรับภาระค่าไฟฟ้าและภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดโดยผู้ให้บริการได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการชดเชยค่าไฟฟ้า ค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวน จึงไม่มีภาระภาษีค้างอยู่แต่อย่างใด (2) ช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 จนกว่าจะแก้ไขปัญหานี้เสร็จ ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดและสะสมเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือนที่ กฟน. และ กฟภ. นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร ปัจจุบันมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ถึงพฤษภาคม 2559 จำนวน 1,654.91 ล้านบาท (กฟน. 51.15 ล้านบาท และ กฟภ. 1,603.76 ล้านบาท)
5. สืบเนื่องจากมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่ให้ความเห็นชอบการยกเว้นมูลค่าเพิ่มของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีส่วนลดค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดยให้ กกพ. ประสานกรมสรรพากรในการดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ กกพ. ได้ประสานงานกับกรมสรรพากรและได้รับแจ้งว่า (1) การขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทำได้โดยการใช้อำนาจตามมาตรา 81 (น) แห่งประมวลรัษฎากร ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (2) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการในกรณีที่ผู้ประกอบการดังกล่าวอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการจะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในด้านซื้อบางส่วนที่ไม่สามารถนำมาคำนวณหักจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในด้านขายได้ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้แนะนำเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายรัฐบาล อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ในการกำหนดให้มูลค่าของการให้บริการไฟฟ้าแก่ผู้ด้อยโอกาสเป็นค่าตอบแทนที่มีลักษณะและเงื่อนไขตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่รวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ให้บริการไฟฟ้าไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใช้ไฟฟ้าและไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร ซึ่ง กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่าการใช้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ตามแนวทางของกรมสรรพากรข้างต้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการดำเนินมาตรการนี้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่ก่อภาระให้แก่ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ให้บริการไฟฟ้าตามแนวทางของ กพช. จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยให้มีผลสำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนในเดือนตุลาคม 2559 เพื่อให้กรมสรรพากรมีเวลาในการออกประกาศกรมสรรพากรตามนัยมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อไป
6. เพื่อไม่ให้ภาษีมูลค่าเพิ่มตกเป็นภาระแก่ผู้ให้บริการ (กฟน. และ กฟภ.) กกพ. ได้พิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระดังกล่าวไว้ 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 พิจารณาให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวรวมอยู่ในอัตราค่าบริการไฟฟ้าตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในรอบต่อไปในปี 2560-2563 หรือพิจารณาให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่ส่งผ่านในสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในการปรับค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2560 ซึ่ง กกพ. เห็นว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจะทำได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่ในแง่ผลกระทบจะมีจำนวนมาก เนื่องจากจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นและผู้ได้รับผลกระทบคือผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด แนวทางที่ 2 การใช้กลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ในการชดเชยภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่ง กกพ. มีความเห็นว่า แม้มาตรา 97(1) แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ จะกำหนดให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าใช้จ่ายเงินเพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส แต่เนื่องจากมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นส่วนที่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการต้องรับภาระตามกฎหมาย กฟน. หรือ กฟภ. ไม่ใช่ผู้รับภาระในส่วนนี้ จึงไม่สามารถใช้กลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าชดเชยส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ กฟน. และ กฟภ. ได้ และแนวทางที่ 3 ขออนุมัติงบประมาณเพื่อชดเชยภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ กฟน. และ กฟภ. ซึ่ง กกพ. มีความเห็นว่าแนวทางนี้แม้รัฐบาลจะมีภาระในการจัดสรรงบประมาณให้แก่ กฟน. และ กฟภ. แต่จะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม และจะใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในช่วงกรกฎาคม 2554 ถึงกันยายน 2559 เท่านั้น ช่วงต่อจากนั้นจะไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นอีก ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอ กพช. พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีในการจัดสรรงบประมาณชดเชยภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ กฟน. และ กฟภ. ตามจำนวนที่ได้นำส่งกรมสรรพากรไปจริงในช่วงกรกฎาคม 2554 ถึงกันยายน 2559
7. ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้ (1) การกำหนดให้มูลค่าของการให้บริการ (ค่าไฟฟ้าและค่าบริการ) แก่ผู้ด้อยโอกาสเป็นค่าตอบแทนที่มีลักษณะเงื่อนไขไม่รวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด อนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากรตามแนวทางของกรมสรรพากรเสนอจะช่วยลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจากนโยบายค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยลงได้ ตามข้อเสนอของ กกพ. (2) สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้จ่ายให้กรมสรรพากรไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน กรกฎาคม 2554 – กันยายน 2559 ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นว่า มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย (ผู้ด้อยโอกาส) เป็นนโยบายของรัฐบาล การกำหนดให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวรวมอยู่ในอัตราค่าบริการไฟฟ้าในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2560 – 2562 หรือส่งผ่านค่า Ft จะเกิดผลกระทบและเพิ่มภาระค่าไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ และภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นของผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย โดยมิใช่ภาระของผู้ประกอบการไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถใช้กลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 97(1) เพื่อจ่ายชดเชยได้ ดังนั้นฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรให้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณเพื่อชดเชยภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามที่ กกพ. เสนอ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการกำหนดให้มูลค่าของการให้บริการไฟฟ้าแก่ผู้ด้อยโอกาส ไม่รวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการเก็บค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นไป เพื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการออกประกาศกรมสรรพากรในเรื่องนี้ต่อไป
2. เห็นชอบแนวทางในการให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายนำภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ตามจำนวนที่ได้นำส่งกรมสรรพากรไปจริง มาหักลดรายได้นำส่งคลังในปีต่อๆ ไป โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย หารือร่วมกันในแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ทั้งนี้ให้ถือว่าภาระภาษีดังกล่าวมิได้เป็นผลมาจากการปฏิบัติงานจึงให้นำกลับมารวมในการพิจารณาจัดสรรโบนัสให้กับพนักงานด้วยความเป็นธรรม
3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มจากมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสตามนโยบายของรัฐต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ประกาศ กพช.) เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และนำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2553 กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนอนุรักษ์ฯ) สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงานประกาศกำหนด จำนวน 6 ประเภท ดังนี้ (1) น้ำมันเบนซิน 0.2500 บาท/ลิตร (2) น้ำมันแก๊สโซฮอล 0.2500 บาท/ลิตร (3) น้ำมันก๊าด 0.0700 บาท/ลิตร (4) น้ำมันดีเซล 0.2500 บาท/ลิตร (5) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 0.2500 บาท/ลิตร และ (6) น้ำมันเตา 0.0700 บาท/ลิตร โดยให้ยกเว้นน้ำมันเบนซินที่จะนำมาผสมเอทานอลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลที่จะนำมาผสมกับไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันเพื่อผลิตเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5
2. การดำเนินงานตามประกาศ กพช. เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนี้ (1) การส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซ้ำซ้อน เนื่องจากเมื่อผู้ค้านำเข้าน้ำมันเตาได้ส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ แก่กรมศุลกากรแล้วในอัตรา 0.0700 บาท/ลิตร และเมื่อนำมาผสมสารเติมแต่งและน้ำมันดีเซลเพื่อให้มีคุณภาพดีขึ้น ผู้ค้าต้องส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ อีกครั้ง ในอัตราเดิมตามปริมาณน้ำมันทั้งหมดให้แก่กรมสรรพสามิต (2) ประกาศ กพช. กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันนำส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงานประกาศกำหนด ซึ่งในทางปฏิบัติกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมัน เนื่องจาก ธพ. ได้มีประกาศลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 เรื่องกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. 2556 (ประกาศ ธพ.) ซึ่งกำหนดให้น้ำมันดีเซลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนช้า ดังนั้น ประเภทน้ำมันดีเซลตามประกาศ กพช. จึงไม่สอดคล้องกับประเภทน้ำมันดีเซลตามประกาศ ธพ. (3) ประกาศ ธพ. ได้กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลไว้ ดังนี้ ข้อ 6 ภายใต้บังคับของข้อ 7 ลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลให้เป็นไปตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศนี้ และข้อ 7 ลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลที่ผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายดังต่อไปนี้จะไม่เป็นไปตามที่กำหนดในรายละเอียดแนบท้ายประกาศนี้ก็ได้ แต่ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในรายละเอียดแนบท้าย เพื่อขอความเห็นชอบและต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานก่อน ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ออกประกาศ กบง. เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2559 สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเป็นไปตามที่ ธพ. ประกาศกำหนด ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันดีเซลที่มีลักษณะตามข้อ 6 และข้อ7 ของประกาศ ธพ. ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ประกาศ กพช. ยังมิได้กำหนดให้น้ำมันดีเซลที่มีลักษณะตามข้อ 7 ของประกาศ ธพ. ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ทำให้การส่งเงินทั้งสองกองทุนมีความแตกต่างกัน
3. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เสนอแนวทางแก้ไข ดังนี้ (1) กรณีการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซ้ำซ้อน ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นสมควรปรับปรุงประกาศ กพช. ให้น้ำมันเตาที่มีการผลิตใหม่ให้นำส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ เฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้นำส่ง ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางการนำส่งเงินของน้ำมันเบนซินที่นำมาผสมเอทานอลและน้ำมันดีเซลที่นำมาผสมไบโอดีเซล และมอบหมายให้กรมสรรพสามิตพิจารณาแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป (2) กรณีประเภทน้ำมันดีเซลในประกาศ กพช. ไม่สอดคล้องกับประเภทน้ำมันดีเซลตามประกาศ ธพ. ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอให้ปรับปรุงประเภทน้ำมันดีเซลในประกาศ กพช. จากเดิมน้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนช้า (3) กรณีการส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ กรณีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอให้มีการนำส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ สำหรับน้ำมันดีเซลที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานก่อนด้วย เพื่อให้การนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนอนุรักษ์ฯ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางแก้ไขที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ ดังนี้
1.1 เห็นชอบการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และนำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2553 (ประกาศ กพช.) ให้น้ำมันเตาที่มีการผลิตใหม่ให้นำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้นำส่ง และมอบหมายให้กรมสรรพสามิตพิจารณาแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.2 เห็นชอบการปรับปรุงประเภทน้ำมันดีเซลในประกาศ กพช. ให้ตรงกับประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ดังนี้
1.3 เห็นชอบให้มีการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันดีเซลที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานก่อนด้วย
2. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. .... และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประกาศให้ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติลงนามต่อไป
3. มอบหมายให้กรมสรรพสามิตแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซ้ำซ้อนของน้ำมันเตา